TOP

‘เอ็นไอเอ’ เปิดตัวนวัตกรรมอาร์ต & คัลเจอร์กับ 2 โปรเจ็คใหญ่ คืนสีสันศิลปะนิยามใหม่ให้กรุงเทพฯ 

ขานรับกับการเปิดประเทศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ชู “อาร์ต และ คัลเจอร์” เบลนด์เข้ากับความล้ำสมัยของนวัตกรรม เปิดประสบการณ์ให้คนทุกเจนฯ เข้าถึงศิลปะผ่าน 2 โซลูชันเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นคือ โครงการ “อารามอารมณ์” เป็นนวัตกรรมบำบัดอารมณ์และสุขภาพจิตสำหรับคนเมืองและชุมชนด้วยดิจิทัลอาร์ต เป็นเครื่องมือใหม่ ๆ ในการบรรเทาปัญหาการขยายตัวของสังคมเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อความคิดจิตใจของผู้คน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ การเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ และ โครงการแอปพลิเคชัน Insight Wat Pho ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเข้าถึงประวัติศาสตร์ของวัดโพธิ์มากขึ้นด้วยเทคโนโลยี AR พร้อมเดินหน้าเฟ้นหาพันธมิตรจากท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย หรือภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสร้างโซลูชันสำหรับชุมชนและเมืองทั่วประเทศในปี 2566 ผ่าน 3 โจทย์หลัก ได้แก่ นวัตกรรมในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์, นวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตทุกช่วงวัย ซึ่งจะสนับสนุนผ่านทั้งรูปแบบเงินทุน เครือข่าย และแผนธุรกิจ เพื่อสร้างความสมดุล และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้รอดจากวิกฤตปัญหาต่าง ๆ พร้อมก้าวสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้นไป 

เมืองหลวงของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการผลักดันนวัตกรรมไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการสรรค์สร้างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ การส่งเสริมงานศิลปะ การท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนเปลี่ยนของโครงสร้างและพฤติกรรมของประชากร ซึ่งครั้งนี้ พาไปรู้จักกับ 2 นวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยตอบโจทย์ด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวสำหรับคนเมือง 

 

โครงการ “อารามอารมณ์”

จากผลสำรวจข้อมูลของสายด่วนสุขภาพจิต พบว่ามีจำนวนวัยรุ่นกลุ่ม Gen Z ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น และอายุเฉลี่ยลดลงจากความเครียดและความรู้สึกไม่มั่นคง ทั้งการใช้ชีวิตภายใต้ความกดดันในการเรียน การแสดงออก และเป้าหมายในชีวิต พบว่าวัยรุ่นยุคนี้ไม่มีพื้นที่ทางเลือกในการยึดเหนี่ยวจิตใจที่จะอำนวยให้พวกเขาใช้เวลาเพื่อสำรวจและเข้าใจตัวเอง จึงเป็นที่มาของปัญหาความเครียด รวมไปถึงปัญหาโรคซึมเศร้าที่อาจส่งผลให้เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่รู้ตัว

และเป็นที่มาของการออกแบบสร้างสรรค์พื้นที่ศิลปะที่นำนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ ด้านกระบวนการดูแลสุขภาวะทางจิตผสมผสานกับงานศิลป์และดิจิทัลอาร์ตเข้าด้วยกัน โดยผ่านการออกแบบและดีไซน์แต่ละส่วนด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านศิลปะ ด้านดิจิทัล รวมไปถึงด้านเสียง ที่ควบคุมแต่ละจุดภายในงาน ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสิ่งที่วัยรุ่นชอบและเปิดใจ อย่าง “นิทรรศการดิจิทัลอาร์ต”

ในการออกแบบ สื่อ แสง เสียง สัมผัส ที่ผสมเรื่องราวเพื่อเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด นอกจากนี้แล้วโครงการยังมีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากด้านสุขภาวะทางจิต เข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนรวมไปถึงผู้เข้าชมทุกวัย สามารถเข้าถึงการสื่อสารด้วยศิลปะร่วมกับการบำบัดได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็น 4 ห้องใหญ่ ๆ ด้วยภาพลักษณ์ที่ดึงดูด ดังนี้

แสง โดยแสงแต่ละสี จะสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกแต่ละแบบไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง ที่จะให้ความรู้สึกสมดุล หรือสีเขียวที่ให้ความรู้สึกสงบและสื่อถึงครอบครัว ความสัมพันธ์, เสียง มีการ Music Relaxing เพื่อให้เข้าถึงบรรยากาศภายในรวมไปถึง Audio Guide เพื่อให้ผู้คนที่เข้าร่วมรับฟังและไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในห้องที่จะทำการปลดล็อคความเข้าใจในแต่ละส่วนได้ดียิ่งขึ้น

สัมผัส ในส่วนของพื้นที่สัมผัสจะเป็นการเดินบนทางที่ออกแบบมาเพื่อให้มีการเคลื่อนไหว หรือการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ในห้อง ใช้ประสาทสัมผัสของร่างกายรับรู้ตลอดเวลา โดยมีการดีไซน์มาจากการเดินจงกรม และการเจริญสติภาวนา รวมไปถึง การสะท้อน หรือ Deep Listening booth ที่จะมีอาสาสมัครและนักบำบัดที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำ workshop เพื่อพูดคุย ปลดปล่อยอารมณ์ เพื่อให้เข้าถึงสภาวะจิตใจของผู้เข้าร่วม โดยมีการทำงานร่วมกับ Ooca แพลตฟอร์มที่ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาวะทางจิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมที่มีปัญหา สามารถเข้ารับการบำบัดได้อย่างต่อเนื่องทันที จึงเป็นที่มาของ โครงการ “อารามอารมณ์” ที่ทำการจัดแสดง ณ ริวเวอร์ซิตี้ วันนี้ – 7 สิงหาคม 2565

 

โครงการ “Insight Wat Pho”

แอปพลิเคชัน “Insight Wat Pho”ที่ใช้งานบนมือถือ ภายใต้ โครงการ “เรียน รู้ รักษ์: ณ วัดโพธิ์” หรือ “Look Learn Love: @ Wat Pho” ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โดยเลือกนำร่องที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ด้วยเทคโนโลยีผสานโลกเสมือน (AR) เข้ากับสภาพแวดล้อมจริง (Augmented Reality: AR) และการเชื่อมต่อระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geographical Positioning System: GPS) กับพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ภายในวัดโพธิ์ เป็นการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ให้มีชีวิตผ่านองค์ความรู้มากมายที่อยู่ภายในวัดโพธิ์ ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนเกิดปฏิสัมพันธ์กับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญของไทย และองค์ความรู้อันเป็นมรดกวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับสถานที่จริง ออกมาในรูปแบบแอนิเมชันและกราฟฟิก ที่ทำได้อย่างน่าสนใจมีกิมมิกในการถ่ายทอดเข้าถึง

โดยองค์ความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาแสดงในแอปพลิเคชัน ล้วนถูกคัดกรองมาจากงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น จึงมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาเรียนรู้ภายในวัดได้นานมากขึ้น และถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งดึงดูดของวัด เพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางมาประเทศไทยในช่วงเปิดประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นบริเวณรอบท่าน้ำต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ อย่างเช่น โครงการเสน่ห์บางลำภู บริเวณท่าพระอาทิตย์ จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำด้วยนวัตกรรม นอกจากจะเป็นเส้นทางใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในการเปิดเมืองรอบนี้แล้ว ยังมอบพลังสร้างสรรค์เชิงบวกให้กับสังคมและชุมชนควบคู่ไปด้วยกัน

วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ซึ่งถือเป็นโบราณสถานที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมายังเกาะรัตนโกสินทร์ ได้ทรงปฎิสังขรวัดแห่งนี้และสถาปนาให้เป็นวัดประจำรัชกาล และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยในการบูรณะครั้งนี้ ทรงโปรดให้รวบรวมสรรพวิชาโบราณของไทย นำมาจารึกไว้ที่วัดโพธิ์ด้วย ทรงเล็งเห็นว่าวิชาโบราณอันควรค่าแก่การเก็บรักษาเหล่านี้กำลังจะสูญหายไป และทรงโปรดให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงศึกษาวิชาเหล่านี้ได้ ดังนั้นวัดโพธิ์จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย’

โดยจารึกวัดโพธิ์ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำของโลกแห่งเอเชียแปซิฟิกเลยทีเดียว นอกจากนี้ภายในวัดโพธิ์ยังประกอบไปด้วยพระพุทธรูป โบสถ์ วิหาร เจดีย์ เขามอ ฤาษีดัดตน และประติมากรรมที่สวยงามจำนวนมาก รวมถึงยักษ์วัดโพธิ์ที่มีชื่อเสียงด้วย ดังนั้นวัดโพธิ์จึงได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศ

การท่องเที่ยววัดโพธิ์แนวใหม่ ผ่านเทคโนโลยี AR สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อ “Insight Wat Pho” ผ่าน Play Store มือถือระบบ Android หรือ App Store ในระบบ iOS ที่เป็นเสมือนการต่อจิกซอร์เรื่องราวน่ารู้ทำให้สัมผัสประวัติศาสตร์ได้อย่างเข้าถึง เพิ่มอรรถรสในการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ เมื่อเข้าสู่ภายในตัวแอปฯ จะเพลินชมวัดโพธิ์พบกับเรื่องราวต่าง ๆ มากมายในรูปแบบสื่อผสม ประกอบด้วย ข้อความ เสียง และ ภาพ เลือกได้ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ อาทิ ข้อมูลทั่วไป, การเดินทางมาวัดโพธิ์, ผังวัดโพธิ์ ที่สแกน QR Coad ก็จะเห็นสเกลของผังวัดโพธิ์โดยรวม ให้ง่ายต่อการ Explore, วัดโพธิ์ในอดีต 3 สมัย ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 และปัจจุบัน, เหินฟ้ามาวัดโพธิ์, ใดใดในวัดโพธิ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวถึงสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม, เลนส์ย้อนอดีต เปิดภาพแห่งความทรงจำอันทรงคุณค่าหาชมยากก่อนจะมาถึงวัดโพธิ์ในปัจจุบัน, ฉันคือยักษ์วัดโพธิ์ ที่ชวนมารู้จักยักษ์วัดโพธิ์ในตำนาน ตามหายักษ์วัดโพธิ์ 8 จุดด้วยกัน รวมถึง ร้านค้า สำหรับชอปของที่ระลึก

 โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมถึงกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา และ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อเพิ่มความสนุกสนานเพลิดเพลินในการท่องเที่ยวไปพร้อมกับการได้รับสาระความรู้ด้านประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และเกิดเป็นความชื่นชมในคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไทยในวัดโพธิ์ โดยมุ่งหวังให้โมบายแอปพลิเคชันนี้มีส่วนช่วยเพิ่มชื่อเสียงวัดโพธิ์ และนำมาซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น, กลุ่มมัคคุเทศก์ ที่สามารถใช้โมบายแอปพลิเคชันสาระความรู้ด้านประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรมในการนำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าชมวัดโพธิ์ รวมถึง กลุ่มผู้ประกอบการและธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการและธุรกิจรายใหญ่ต่าง ๆ ที่สามารถใช้โมบายแอปพลิเคชันนี้เป็นช่องในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดเครือข่ายทางสังคมและธุรกิจไปสู่พื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ต่อไปอย่างกว้างขวางในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 NIA ยังคงส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง ตามแนวคิดการร่วมแรงร่วมใจระหว่างหน่วยงานด้านการปกครอง องค์กรเอกชน องค์กรภาคสังคม และภาคประชาชน โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชนได้ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ นวัตกรรมในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีด้านสื่อและการสื่อสาร นวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาสินค้า บริการ หรือการจัดการ วัสดุหมุนเวียน และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตทุกช่วงวัย ตั้งแต่เจเนอเรชันอัลฟาจนถึงเจเนอเรชันเบบี้บลูมเมอร์ ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้วเสร็จ สามารถขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคม และธุรกิจ ไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://social.nia.or.th/ หรือ facebook.com/niathailand 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด