TOP

แค่ปรับชีวิตก็เปลี่ยน! 5 กลยุทธ์สำคัญ สู่สุดยอดพนักงานคนเก่ง

เมื่อวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว คุณจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไปในการทำงาน ทำให้การทำงานนั้นเกิดความราบรื่นมากขึ้น และลดช่องว่างที่เกิดขึ้นจากระบบอาวุโสที่คอยขัดขวางไม่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคนต่างวัยในที่ทำงาน และนี่คือ 5 กลยุทธ์สำคัญที่ อยากให้คุณนำไปใช้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ

1. ใช้ความผิดพลาดในการทำงานเป็นบทเรียน
ด้วยลำดับอาวุโสและประสบการณ์ที่ด้อยกว่า พนักงานรุ่นใหม่มักจะไม่ถูกกระตุ้นให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญมากนัก นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามผู้ใหญ่มากกว่าที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณควรให้คนรุ่นใหม่ได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าการทำอะไรแบบเดิมที่ทำตามกันมา กับการลองผิดลองถูกแต่ได้ทำงานด้วยตัวนั้นมีคุณค่าแตกต่างกัน การให้โอกาสอันล้ำค่าในการได้เรียนรู้การรับมือกับปัญหาด้วยตัวของพวกเขาเองแบบนี้ จะทำให้พวกเขาสามารถประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของตนเองได้จากผลการปฏิบัติงานจากประสบการณ์จริง และประสบการณ์นี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต

 

2. เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนในทีม
หากแม้แต่คุณเองยังทำในสิ่งที่คุณพูดไม่ได้ แล้วใครที่ไหนจะเชื่อคำพูดของคุณ ถ้าเป็นเช่นนั้นลูกทีมหรือแม้แต่พนักงานคนอื่น ๆ จะมองว่าคุณเป็นคนที่ดีแต่พูด แต่ไม่เคยทำได้จริง และนั่นจะทำให้พวกเขาเริ่มสร้างกำแพงกั้นระหว่างตัวพวกเขาและตัวคุณ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะไม่ให้เกิดความผิดพลาดใด ๆ ขึ้นเลยในการทำงาน แต่การทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือการบอกไม่ให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คุณกลับทำผิดเสียเอง จะทำให้คนในทีมเสื่อมความศรัทธา จำไว้ว่าความน่าเชื่อถือของคุณนั้นขึ้นอยู่กับความสอดคล้องกันระหว่างการกระทำและคำพูดของตัวคุณเอง

 

3. ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อยกระดับผลการปฏิบัติงาน
ถ้าคุณรู้สึกว่าพนักงานส่วนใหญ่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง ไม่แย่แต่ก็ไม่ได้ดีมากจนน่าชมเชย ลองดูว่าพวกเขามีอุปสรรค หรือสิ่งใดที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ พิจารณาเสนอทางเลือกพิเศษที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการเติมเต็มในสิ่งที่พวกเขาต้องการ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีสมาธิกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจจะเป็นการจัดหาทรัพยากรเพื่ออำนวยความสะดวกในที่ทำงาน การยืดหยุ่นเวลาการเข้างานสำหรับพนักงานที่อยู่ไกล หรือแม้แต่การจัดหาหอพักสำหรับพนักงานหากองค์กรของคุณมีงบประมาณมากเพียงพอ

 

4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในทีมอย่างตรงไปตรงมา
ถ้าคุณอยากให้พนักงานรุ่นใหม่ยอมรับฟังคำชี้แนะของคุณ คุณก็ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาด้วยเช่นกัน เมื่อพูดถึงการให้ข้อเสนอแนะ แรก ๆ พนักงานใหม่ก็คงยังไม่รู้ว่าควรแสดงความคิดเห็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม คุณจึงต้องหมั่นสอบถามความต้องการและความคิดเห็นของพวกเขาเป็นระยะ ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงผลการปฏิบัติงานของทีมให้ดีขึ้น เมื่อพวกเขาเริ่มปรับตัวได้แล้ว ลูกทีมของคุณจะกล้าคิด กล้าให้คำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น

 

5. เห็นคุณค่าที่แท้จริงของพนักงาน
หากคุณต้องการกระตุ้นพนักงานด้วยปัจจัยภายนอก เช่น การเพิ่มเงินค่าตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง หรือการเพิ่มสวัสดิการด้านอื่น ๆ วิธีเหล่านี้อาจจะใช้ได้ผลแต่ก็ไม่เสมอไป อย่างไรก็ตามนอกเหนือไปจากวิธีจูงใจในการทำงานแบบนี้ คุณต้องแสดงให้พนักงานของคุณเห็นว่าการให้รางวัลตอบแทนของคุณนั้นมีคุณค่าเพียงใด เช่น ในกรณีที่คนในทีมของคุณต้องมาทำงานในวันหยุด หรือ ทำงานเฉพาะ ซึ่งเกินหน้าที่ความรับผิดชอบปกติของพวกเขา คุณต้องเอ่ยปากชมพนักงานให้พวกเขาได้รับรู้ว่าคุณเห็นว่าการทำงานของพวกเขามีความสำคัญ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่องค์กรได้ ที่สำคัญคุณต้องรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่การพูดลอย ๆ เพื่อให้พวกเขาดีใจเล่น

 

ขอบคุณข้อมูล JobThai

 

ชลธิช วรรณอุบล I บรรณาธิการดิจิทัล