TOP

ร่วมด้วยช่วยกันพิทักษ์โลก รักษ์พลังงาน สร้าง “กรุงเทพฯ” ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในวันที่พวกเราพูดว่าโลกกำลังประสบ ‘ภาวะโลกร้อน’ นั้น ไม่มีใครรู้ว่าโลกร้อนแค่ไหนจึงจะปลอดภัย แต่ที่รับรู้ตอนนี้คือ ภาวะโลกร้อนกำลังก่อเกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศบนโลก ความจริงที่เห็นอย่างชัดเจนว่า ธารน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มขึ้น ปะการังกำลังตายเพราะน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น คลื่นความร้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงระบบนิเวศที่กำลังเปลี่ยนแปลง ป่ากำลังจะหมด บรรดาสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ กำลังจะสูญพันธุ์ ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมามหาศาล และนี่…เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นที่พวกเรากำลังประสบกับสภาพภูมิอากาศโลกที่อันตรายแล้ว ถือเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุด ที่มวลมนุษยชาติเผชิญในศตวรรษที่ 21 นี้ ถึงเวลาต้องร่วมกันลงมือเพื่อหลีกเลี่ยงโลกร้อน ที่ไม่เป็นเพียงแค่ปัญหาระดับประเทศเท่านั้น แต่ต้องร่วมกันในระดับมหภาคจากทุกประเทศทั่วโลก

กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงได้เตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 ขึ้น โดยการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ภายใต้โครงการความร่วมมือทางด้านเทคนิคเพื่อการจัดทำแผนแม่บท เพื่อนำเสนอมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โลกร้อนส่งผลกระทบน้ำทะเลหนุนสูง

จากผลงานวิจัยในวารสารเกี่ยวกับผลกระทบน้ำท่วมจากสภาวะโลกร้อนที่คาดว่าในปี 2050 ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจกระทบกับประชากรของประเทศไทยร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 – 7 ล้านคน ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบแล้วในบางพื้นที่ อาทิ บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งทาง กทม. ได้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบดังกล่าวนี้ ด้วยการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล การตรวจสอบค่าระดับความเสี่ยงจากน้ำท่วมของพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ตลอดจนรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนแม่บท กทม. ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี พ.ศ. 2556-2566 เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก อาทิ กิจกรรมปิดไฟเพื่อลดภาวะโลกร้อน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง การลด ละ เลิก ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนโครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชาเป็นการแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง หลังจากปักไม้ไผ่เพื่อเป็นแนวป้องกันคลื่นชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ปัจจุบันมีตะกอนดินสะสมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50 – 60 ซม.

 

จับมือองค์การระหว่างประเทศลดภาวะโลกร้อน

หนึ่งในแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพฯ นั้น ทาง กทม. มีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ให้การสนับสนุนทางวิชาการแก่กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์จัดทำแผนแม่บท กทม. ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 ที่พร้อมสำหรับนำไปปฏิบัติจริง 5 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้มีการพัฒนาตามแนวระบบขนส่งมวลชน จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่สำหรับสถานีขนส่ง ส่งเสริมการขนส่งทางเรือ และจักรยาน
2. ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานทางเลือก ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้ฉลากสีเขียว
3. ด้านการจัดการขยะและบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการคัดแยกขยะในบ้านเรือน และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่
4. ด้านการวางผังเมืองสีเขียว
5. ด้านแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ทำข้อตกลงความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างสำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม. และสำนักสิ่งแวดล้อมของจังหวัดฟูกูโอกะ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมใจลดใช้พลังงานตาม โครงการ Best Service 2563 ที่ผ่านมา กทม. มีเจตนารมณ์ในการลดใช้พลังงานเพื่อรักษ์โลก พร้อมร่วมใจดำเนินการตามโครงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ซึ่งได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่าย ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า) ภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ให้ได้ร้อยละ 7.5 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ปรากฏว่าผลการดำเนินงานโครงการนี้ ในช่วงเริ่มต้นสำเร็จเกินเป้า สามารถลดยอดการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องได้กว่าร้อยละ 11 ต่อเดือน โดยความสำเร็จนี้เกิดจากการร่วมกันรณรงค์ปลุกจิตสำนึก ด้านการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง เปิด-ปิดไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องปรับอากาศ ตามเวลาที่กำหนด ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ปิดไฟ และเครื่องปรับอากาศ เมื่อไม่ใช้งาน ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ รวมถึงกำหนดมาตรการการใช้คอมพิวเตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสารอย่างเหมาะสมด้วย

 

เดินหน้าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การบริหารราชการ และแหล่งธุรกิจ จึงเป็นเมืองที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ผลิตขยะมากขึ้นจนขยะล้นเมือง คูคลองกลายสภาพเป็นแหล่งรองรับขยะ และน้ำเสียจากชุมชนและโรงงาน รวมถึงวิกฤตปัญหาจราจร การเผาในที่โล่ง และการปิ้งย่าง การก่อสร้างและประกอบอุตสาหกรรมที่สร้างควันพิษอากาศเสีย นอกจากนี้ พื้นที่ในเมืองยังมีประชากรหนาแน่นแออัด ที่ดินส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย และประกอบอาชีพ ทำให้พื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

กทม. ได้เร่งสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘มหานครสีเขียว (Green City)’ ตั้งเป้าก้าวขึ้นสู่การเป็น ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ในปี พ.ศ. 2575 ในฐานะเป็นเมืองชั้นนำด้านเศรษฐกิจ ภาคบริการ ความปลอดภัย ความสวยงาม สะดวกสบายน่าอยู่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) นั้น ช่วงเวลาระหว่างนี้อยู่ในช่วงแรกของการพัฒนา (พ.ศ. 2556-2565) เป็นการสร้างความปลอดภัยจากมลพิษ อาชญากรรม ยาเสพติด และแหล่งอบายมุขต่างๆ ตลอดจนอุบัติเหตุและภัยพิบัติ มีสุขภาวะที่ดี เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสีเขียว (Green City)

 

‘มหานครสีเขียว’ จัดการขยะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นโยบายมหานครสีเขียว ต้องเพิ่มระบบจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่จัดเก็บ ขนถ่ายไป จนถึงเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และสะอาด และต่อยอดนโยบายที่ทาง กทม. มีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ด้วยแนวคิดเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) โดยนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และทำให้เหลือขยะน้อยที่สุดกระทั่งกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดและควบคุมปริมาณมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอยตั้งแต่แหล่งกำเนิด จนถึงการกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ

**********

ที่มา: กรุงเทพมหานคร | BKK NEWS Issue 268

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด