TOP

ดนตรีในสวน ความสุขของคนกรุงเทพฯ ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

กิจกรรม “ดนตรีในสวน” โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร ถือเป็นกิจกรรมดนตรีในสวนหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ที่กลับมาสร้างบรรยากาศแห่งความสุขและความครึกครื้นในทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ให้กับคนกรุงเทพฯ เพื่อให้ทุกคนได้พักผ่อนหย่อนใจและเพลิดเพลินกับเสียงดนตรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

ดนตรีในสวน” เริ่มครั้งแรกที่ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี เขตปทุมวัน ในช่วงปี 2536 ในสมัย ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และจัดมาอย่างต่อเนื่องในทุกสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กระทั่งช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ทำให้มีการงดกิจกรรมนี้ไป และเมื่อปี 2565 หลังจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนใหม่อย่างเป็นทางการ กิจกรรม “ดนตรีในสวน” ที่ใช้ดนตรีเป็นสื่อสร้างความสุขในวันหยุด ให้คนเมืองก็กลับมาอีกครั้ง ในทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ โดยยังครองใจคนกรุงเทพฯ ได้เช่นเดิม

 

ดนตรีในสวน หนึ่งใน 216 นโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สำหรับงาน “ดนตรีในสวน” ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในเรื่องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ใช้บริการสวนสาธารณะ ได้รับประโยชน์หลายด้าน ทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย ตลอดจนการได้แสดงออกทางด้านศิลปวัฒนธรรม นันทนาการ เพื่อให้ทุกคนมีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงศิลปินมีพื้นที่แสดงออก โดยเมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2565 ถือเป็นการจัดงาน “ดนตรีในสวน” ครั้งแรกภายใต้การบริหารงานของผู้ว่าฯ ชัชชาติ และยังคงจัดมาอย่างต่อเนื่องในปี 2566 นี้

 

เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึง

สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ นอกจากเป็นสถานที่ที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปใช้งานเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว นโยบายของ กทม. ยังต้องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและเปิดโอกาสให้กับงานสร้างสรรค์ทั้งในด้านของงานศิลปะและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จึงมีนโยบายเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงผลงานและความสามารถ อาทิ เปิดพื้นที่ให้เหล่า นักแสดงโชว์ Busking หรือการแสดงเปิดหมวก เพื่อสร้างความบันเทิง ตลอดจนการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดขึ้นโดยรอบงาน

“สำหรับนักดนตรีทุกคนต่างต้องการพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ จึงถือเป็นโอกาสดีที่นักดนตรีอย่างพวกเราได้มีพื้นที่มีโอกาสแสดงความสามารถบนพื้นที่สาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้น กทม. กำลังจะเปิดโอกาสให้นักดนตรีได้ไปเล่นทั้งในสวนสาธารณะและตามแนวรถไฟฟ้าด้วย บรรยากาศดนตรีในสวนทำให้เราพบกับคนฟังที่เขาตั้งใจมา และเปิดใจรับฟังดนตรีหลากหลายแนว พร้อมร่วมสนุกไปกับพวกเรา” เสียงบอกเล่าจากวง Grand Brother วงดนตรีหน้าใหม่ที่ได้เข้าร่วมเทศกาลดนตรีในสวน ณ สวนสันติชัยปราการ 

 

ได้เสียงตอบรับ “ดี” จากคนกรุงเทพฯ

บรรยากาศของกิจกรรม “ดนตรีในสวน” ทุกครั้งสร้างความครึกครื้นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงประชาชนในพื้นที่รอบสวนสาธารณะ เช่น เทสซ่า (Tessa) นักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมันบอกไว้ในเฟซบุ๊กเพจ “กรุงเทพมหานคร” ว่า เธอได้มีโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศงานเทศกาลดนตรีในสวนที่สวนสันติชัยปราการ ตัวเธอเซอร์ไพรส์มากกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างดนตรีในสวน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เทสซ่าสนุกกับการเดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้สำหรับชาวบางลำพูอย่างคุณต้าเล่าถึงความประทับใจกิจกรรมดนตรีในสวน ในเฟซบุ๊กเพจ “กรุงเทพมหานคร” ไว้เช่นกันว่า เธอเกิดและเติบโตที่บางลำพู อยากให้พื้นที่ในชุมชนบ้านของเธอเป็นสถานที่เรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ดังนั้น การจัดกิจกรรมดนตรีในสวนที่มีพื้นที่ให้จัดงานศิลปะและกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ มากมาย จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง และเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ส่งเสริมให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทำให้คนที่มาเที่ยวในพื้นที่ได้อุดหนุนร้านค้าชุมชนหรือร้านอาหารต่าง ๆ ในชุมชนนั่นเอง

 

ดนตรีในสวน

เวทีของทุกคนที่มีความสามารถทางดนตรี

ปี 2566 นี้ กทม. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนที่ไม่ใช่เป็นการแสดงของ กทม. หรือเฉพาะองค์กรและสถาบันที่ กทม. ขอความร่วมมือเท่านั้น แต่จะเป็นเวทีสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีความสามารถทางด้านดนตรีเข้าร่วมการแสดง โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้พิจารณา ซึ่งผู้เข้าร่วมแสดงจะได้รับประสบการณ์การทำงานกับมืออาชีพ อันเป็นบันไดขั้นแรกที่เปิดโอกาสให้ก้าวสู่การประสบความสำเร็จในอนาคตได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของผู้ร่วมกิจกรรมทั้งในส่วนของผู้แสดงดนตรีและผู้ชมกิจกรรม “ดนตรีในสวน” ยังมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายและส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เด็ก เยาวชน ประชาชน และนักดนตรี จะได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีโอกาสค้นพบศักยภาพของตนเอง ซึ่งสามารถต่อยอดด้านอาชีพและทำให้เกิด Soft Power ด้านการแสดง อีกทั้งเป็นความบันเทิงที่สร้างความสุขให้แก่ประชาชนที่รับชมอย่างทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะของ กทม. ได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

________________________________________

 

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร) 

ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 285

คลิกอ่านฉบับเต็มของ Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 285 ได้ ที่นี่

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด