TOP

ทางเท้ามาตรฐานใหม่ให้คนกรุงเทพฯ ‘เดินได้ เดินดี เดินสะดวก’

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาทางเท้าในกรุงเทพฯ ให้เดินได้ เดินดี และน่าเดิน เป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตร ขณะนี้สามารถดำเนินการไปแล้วกว่า 70% โดยภายในเดือนสิงหาคม 2568 กรุงเทพฯ จะมีทางเท้ามาตรฐานใหม่จำนวน 87 เส้นทาง รวมระยะทาง 774 กิโลเมตร และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2569 จะพัฒนาได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตร

 

เร่งพัฒนาทางเท้ามาตรฐานใหม่

เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ

กทม. ให้ความสำคัญในการพัฒนาทางเท้า เนื่องจากคนกรุงเทพฯ กว่า 58.2% ใช้วิธีเดินเท้าเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ และเดินเฉลี่ยเป็นระยะทาง 800 เมตรต่อ 10 นาที (31.2% ใช้ยานพาหนะส่วนตัว) และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะเดินทางเท้ามากขึ้น กทม. จึงมีแผนพัฒนาทางเท้าเชื่อมโยงรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมี 11 เส้นทาง 297 สถานี ระยะทางรวม 466.1 กิโลเมตร ตามแนวคิด First & Last Mile เพื่อให้สามารถเดินจากที่พักไปยังรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ (ล้อ ราง เรือ) ได้สะดวกและปลอดภัย โดยทางเท้าที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น ถนนสีลม ถนนราชดำริ ฯลฯ นอกจากนี้ มีอีกหลายเส้นทางที่ดำเนินการใกล้เสร็จสมบูรณ์ เช่น ถนนอิสรภาพ ถนนวิทยุ ถนนลาดพร้าว ฯลฯ โดยการปรับปรุงทางเท้า กทม. ใช้มาตรฐานทางเท้าใหม่ที่มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย มีความเป็น Universal Design เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางเท้าทุกคน

นอกจากนี้ กทม. ยังได้ออกแบบฝาท่อใหม่ให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่าน อาทิ ย่านเยาวราช ย่านพรานนก ย่านวิทยุ ฯลฯ มีการใช้พื้นผิวพิมพ์ลายเพื่อกันลื่น เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมไปกับการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้า และยกเลิกพื้นที่ทำการค้า

 

มาตรฐานใหม่ทางเท้ากรุงเทพฯ

สำหรับมาตรฐานใหม่ของทางเท้า ได้แก่ ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าเป็นแบบรางตื้น ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้า – ออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ โดยให้สูงเพียง 10 เซนติเมตร (จากเดิม 18.50 เซนติเมตร) เปลี่ยนพื้นทางเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ปรับทางเข้า – ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้าเพื่อให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่องสะดวกสบาย ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1 : 12 ตามมาตรฐานสากล เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้าเป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งเป็นแนวนอน (เพิ่มอัตราการไหลของน้ำ) วางแนวทางจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้าไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า มีอิฐนำทางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา และปรับปรุงคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น

ในส่วนของการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุด กทม. มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) ลงพื้นที่ซ่อมแซมให้เร็วที่สุดและให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากจุดไหนสามารถทำเป็นทางเท้ามาตรฐานใหม่ได้ จะมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งผ่าน Traffy Fondue ทำให้ กทม. สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ eBook กทม.สาร

👇

https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_296 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด