TOP

ประกาศราชกิจจานุเบกษา “โควิด-19″ โรคติดต่ออันตราย” มีผลบังคับใช้ 1 มีนาคมนี้!

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563” โดยประกาศให้ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือ “โรคโควิด 19” เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ประกาศดังกล่าว ซึ่งลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ วันออกประกาศ 29 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดไป นั่นตือ วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

มีใจความสำคัญดังนี้ โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญ ของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (14) ของข้อ 1 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559

“(14) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”

ประกาศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

 

ประกาศดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ ณ วันที่ 30 มกราคม 2563 ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขของไทยยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสชนิดนี้ และนายอนุทินได้ลงนามไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

โทษสูงสุด

เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว จะดำเนินการตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

  • โดยจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเป็นการฝ่าฝืนในส่วนของ มาตรา 40 (2) ซึ่งกำหนดในกรณีที่มีการประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในประเทศ โดยจัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้ จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้
  • นอกจากนี้ มาตรา 34 (1) มีอำนาจนำผู้ที่เป็น / มีเหตุสงสัยว่าเป็นโควิด-19 / ผู้สัมผัส มารับการตรวจ การชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต โทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
  • มาตรา 35 กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน สั่งปิดสถานที่ต่างๆ / สั่งห้ามไปในสถานที่ชุมชน สถานศึกษา สถานที่ใด / สั่งหยุดงานชั่วคราว โทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 39 (5) ห้ามเจ้าของ / ผู้ควบคุมพาหนะนำผู้เดินทาง ไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเข้าประเทศ โทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
  • นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายถึงประกาศฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า หลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรายงานและแจ้ง เมื่อสงสัยหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตราย
  • ในกรณีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาด หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนของการซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันตนเองด้วย
  • “ถ้ากฎหมายมีผลแล้ว การไม่แจ้งจะมีโทษปรับ เป็นมูลค่า 20,000 บาท”

 

3 คำตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

นายแพทย์โสภณ อธิบายว่า มีคำสำคัญ 3 คำตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คือ

1.แยกกัก ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วจะต้องนำเข้าแยกกักในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ

2.กักกัน เป็นคนที่ยังไม่ป่วยแต่มีโอกาสได้รับเชื้อ จึงจำเป็นต้องให้คนดังกล่าว กักกันอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นที่บ้านของคนผู้นั้นเองก็ได้ เป็นเวลาครบ 14 วัน ซึ่งจากการดำเนินการเช่นนี้ในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่ผ่านมา มีเพียง 2 % ที่เป็นเสี่ยงสูงแพร่เชื้อ และอีก 98 % เป็นคนปกติ แต่ที่ต้องมีความดำเนินการเพื่อความปลอดภัย

3.คุมไว้สังเกตอาการ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสที่ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย แต่จะต้องคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยให้อยู่ที่บ้าน แต่จะต้องมีการติดตามอาการทุกวัน วัดไข้ และเมื่อป่วยให้ไปพบแพทย์ เช่น กรณีปู่ย่าหลาน คนในไฟลท์บิน คนที่จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือคนที่นั่ง2 แถวหน้า-หลังของผู้ป่วย ส่วนคนร่วมไฟลท์คนอื่น ถือเป็นเสี่ยงต่ำ แต่ต้องคุมไว้สังเกตอาการ

 

พบผู้ป่วยเพิ่มอีก ราย

ขณะที่ช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขได้แถลงพบผู้ป่วยโควิค-19 ในไทยเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็นพนักงานขายผู้ชาย อยู่ใกล้ชิดคนต่างชาติ ตรวจเชื้อโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ทำให้จนถึงขณะนี้ยอดรวมผู้ป่วยสะสมเป็น 42 ราย

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด