TOP

ความงดงามของศิลปะแลคเกอร์ญี่ปุ่น แรงบันดาลใจสู่จิวเวลรี่ดีไซน์สุดวิจิตร และของแต่งบ้านงานฝีมือสุดปราณีต ที่ “โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์”

“ศิลปะแลคเกอร์” หรือ ศิลปะเครื่องเขิน เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในแถบประเทศเอเชียมานานนับพันปี และมีชื่อเสียงด้านความวิจิตร งดงาม ไปทั่วโลก โดยเฉพาะศิลปะแลคเกอร์ของประเทศญี่ปุ่น จากความอัศจรรย์ในศิลปะแลคเกอร์ถ่ายทอดสู่ชิ้นงานศิลปะในรูปแบบของจิวเวลรี่ และของแต่งบ้านคอลเลกชัน Eastern Curiosities – Lacquer Collection (อีสเทิร์น คิวริออสซิตี้ – แลคเกอร์ คอลเลกชั่น) จาก โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ (Lotus Arts de Vivre) แบรนด์จิวเวลรี่และของแต่งบ้าน โดยแบ่งเป็นของสะสมของ รอล์ฟ วอน บูเรน ผู้ก่อตั้ง โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ แต่ละชิ้นมีอายุประมาณ 70 – 250 ปี และชิ้นงานที่ดีไซน์ขึ้นมาใหม่แต่ใช้วิธีลงแลคเกอร์แบบดั้งเดิม หากใครสนใจมาเสพความงามของศิลปะแลคเกอร์สามารถเข้าชมและครอบครองได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 สิงหาคม 2563 ณ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ บูทีค ชั้น 1 โรงแรม อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. 

รอล์ฟ วอน บูเรน ผู้ก่อตั้ง โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ กล่าวว่า “จากไลฟ์สไตล์การทำงานทำให้ผมได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ของชาวญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ และมีการตกแต่งให้สวยงามเรียกว่าศิลปะแลคเกอร์ ในอดีตศิลปะแขนงนี้ นิยมนำมาตกแต่งของใช้ในครัวเรือนสำหรับขุนนางชั้นศาล และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในชนชั้นปกครอง เรียกว่า เป็นงานศิลปะที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ผมมีความหลงใหลในศิลปะแขนงนี้อย่างมาก เพราะเป็นภูมิปัญญาของชาวเอเชียที่สรรหาวิธีที่จะทำให้เครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากไม้ ไม้ไผ่ กระดาษ ให้มีความคงทน ทนน้ำ ทนความร้อน และทำความสะอาดง่าย ด้วยการนำยางของต้นรัก หรือ ต้นอูรุชิ (Urushi Tree) มาทาบนวัสดุเป็นชั้นๆ ทำหน้าที่เป็นฟิล์มเคลือบผิวไม้เพื่อความคงทน และในขณะเดียวกันก็ต้องสวยงามด้วย อีกหนึ่งความพิเศษของงานแลคเกอร์คือ ความเงา และสีที่จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามการใช้งานของผู้ครอบครอง ยิ่งใช้ยิ่งมีความเงางามเพราะตัวแลคเกอร์ที่เคลือบอยู่จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ อากาศ และสารสัมผัสต่างๆ ที่เกิดจากการใช้งาน เครื่องแลคเกอร์ จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนของผู้ครอบครองด้วยเช่นกัน” 

 

โดยคุณรอล์ฟเริ่มแสวงหาสะสมศิลปวัตถุการลงแลคเกอร์มานานกว่า 10 ปี แต่ละชิ้นมีอายุประมาณ 70-250 ปี และเก็บรักษาไว้อย่างดี โดยศิลปะแขนงนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนเมื่อหลายพันปี ก่อนจะเผยแพร่สู่ประเทศญี่ปุ่น และขยายสู่ประเทศไทยในแถบภาคเหนือ กลายเป็นศิลปะแลคเกอร์แบบล้านนา หรือที่รู้จักในนามเครื่องเขินล้านนา ทั้งนี้แม้มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน แต่ศิลปะแลคเกอร์ของญี่ปุ่นและของไทย กลับมีเทคนิคและเอกลัษณ์ที่ต่างกันอย่างชัดเจน

 

Japanese Lacquer

(เจแปนนิส แลคเกอร์) ศิลปะการลงแลคเกอร์แบบญี่ปุ่น มีหลากหลายวิธี อาทิ 

 

Maki-e Lacquer (มากิ-เอะ แลคเกอร์) การสร้างลวดลายด้วยผงทอง เป็นเทคนิคที่โดดเด่นและได้รับการกล่าวขานมากว่า 1,200 ปี โดยการใช้พู่กันวาดภาพลงบนพื้นผิวภาชนะที่ถูกเคลือบแลคเกอร์สีดำ จากนั้นโรยผงทองลงไปในขณะที่แลคเกอร์ยังไม่แห้ง ผงทองจะเกาะติดอยู่บนภาพที่วาด ก่อเกิดเป็นลวดลายต่างๆ ตามที่ศิลปินได้ออกแบบไว้ 

Nashiji Lacquer (นาชิจิ แลคเกอร์) เป็นเทคนิคที่ใช้ผงทองในการสร้างลาย แต่จะโรยผงทองเป็นพื้นหลังทั้งหมด 

Raden Lacquer (เรเด็น แลคเกอร์) เทคนิคการสร้างลวดลายด้วยเปลือกหอย โดยนำเปลือกหอย เช่น หอยมุก หอยเป๋าฮื้อ มาฝนจนเหลือแต่เปลือกด้านในที่มีสีรุ้ง ความหนาไม่เกิน 0.1 มิลลิเมตร จากนั้นนำมา
ตัดตามแบบและนำมาประดับลงบนชิ้นงาน ก่อนจะลงแลคเกอร์ทับ 

Kamakura Bori Lacquer (คามากุระ โบริ แลคเกอร์) การแกะสลักไม้ ลงลักสีแดงและสีดำ โดยถูกผลิตขึ้นเพื่อชนชั้นปกครองของระบบศักดินาญี่ปุ่น และแสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นทางศาสนา การเมือง 

Wajima Lacquer (วาจิมะ แลคเกอร์) มีประวัติยาวนานที่สืบทอดมาจากยุค Muromachi (มูโรมาจิ) พ.ศ. 1879 – พ.ศ. 2116 และได้รับการพัฒนาในช่วงปลายสมัยเอโดะและสมัยเมจิตอนต้น วาจิมะ แลคเกอร์ เป็นเทคนิคศิลปะการทำเครื่องเขินที่ขึ้นชื่อด้านความสง่างาม หรูหรา และความประณีต ของจังหวัดอิชิคะวะ (Ishikawa) เนื่องจากมีความซับซ้อนในกระบวนการทำถึง 124 ขั้นตอน จากช่างฝีมือผู้ชำนาญเฉพาะทาง
โดยนำชิ้นงานมาทาด้วยแลคเกอร์ จากนั้นจึงแกะสลักเป็นลวดลายที่ต้องการแล้วจึงนำผงทอง-ผงเงิน มาฝังลงไปก่อนจะนำไปอบ 

Chinese Cinnabar Lacquer (ไชนีส ซีนาบาร์ แลคเกอร์) เป็นงานศิลปวัตถุการลงแลคเกอร์สีแดงชาด เป็นศิลปะที่ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ใช้เป็นของขวัญทางการทูต โดยจะนำยางของต้นรัก ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ กันน้ำ ทนความร้อน และมีความยืดหยุ่น ซึ่งช่างฝีมือจะนำต้นรักมาทาลงไปในวัสดุที่ต่างๆ โดยต้องทาแลคเกอร์ หรือ น้ำยางของต้นรักเป็นชั้นๆ ถึง 100 ชั้น เพื่อให้มีความหนาพอที่จะแกะสลักเป็นลวยลายต่างๆ ซึ่งการทาแลคเกอร์แต่ละชั้นนั้นต้องรอให้แลคเกอร์แห้งสนิทใช้เวลา 2-3 วัน และทำการขัดเงาก่อนที่จะทาแลคเกอร์ซ้ำ ดังนั้นกว่าจะได้ความหนาตามต้องการต้องอาศัยเวลานานอย่างน้อย 5-7 เดือน 

-||-

 

Eastern Curiosities – Lacquer Collection

โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ จึงได้นำเทคนิคของ 3 ประเทศ มาถ่ายทอดในคอลเลกชั่น Eastern Curiosities – Lacquer Collection โดยมีให้เลือกสรรทั้งจิวเวลรี่ อาทิ  กำไล แหวน สร้อยคอ และเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน เช่น ตู้สไตล์ญี่ปุ่น เก้าอี้ แจกัน ถาด ตลับใส่จิวเวลรี่

 

Japanese Lacquer Bangle with Pink Tourmaline Frog

กำไลเคลือบญี่ปุ่น โดดเด่นด้วยลวดลายใบบัว เพิ่มความเก๋ด้วยรูปกบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของน้ำและความอุดมสมบูรณ์ ประดับ ทัวร์มาลีน สีชมพู 1.15 กะรัต และดวงตาของกบประดับด้วยเพชร 0.11 กระรัต เจียระไนทรงโรส-คัท 

 

Japanese Maki-e Lacquer Ring with Diamond and Emerald

แหวนไม้ญี่ปุ่น โดยใช้เทคนิค มากิ-เอะ แลคเกอร์ การสร้างลวดลายด้วยการโรยผงทอง ผสานกับเทคนิคเรเด็น แลคเกอร์ การสร้างลวดลายโดยการประดับด้วยมุก (เปลือกหอยมุก) โดดเด่นด้วยลายหางนกยูง สัญลักษณ์แห่งความสุขและความสง่างาม ประดับด้วยเพชร 0.01 กะรัต และมรกต 0.07 กะรัต

 

Teak Wood Loop Necklace with Japanese Lacquer Centerpiece

สร้อยคอไม้สักพร้อมจี้สไตล์ญี่ปุ่น ดีไซน์เก๋ด้วยลวดลายใบเมเปิ้ลหลากสี ตกแต่งด้วยเพชร 1.64 กะรัต ทัวร์มาลีน สีชมพู 1.61 กะรัต ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกใบเมเปิ้ลว่า Momiji หมายถึง ใบไม้เปลี่ยนสี ดึงดูดสายตาด้วยเปลือกหอยมุกแกะสลักเป็นรูปงูสามตัวพันเกี่ยวกันเป็นเกลียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและสติปัญญา

 

Cinnabar Lacquer Earrings with Dangling Pearls and Black Agate

ต่างหูสีแดงชาด ศิลปะแลคเกอร์สไตล์จีน (ไชนีส ซีนาบาร์ แลคเกอร์) สวยเด่นด้วยลวดลายแกะสลักลายน้ำเต้า ซึ่งชาวจีนเชื่อว่า น้ำเต้าเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี เพิ่มความหรูหราด้วยการประดับเพชร น้ำหนักรวม 4.02 กะรัต โดดเด่นด้วยโคมระย้าไข่มุกน้ำจืดประดับ แบล็คอาเกต (Black Agate) เป็นหินที่นำโชคด้านชัยชนะ

 

Cinnabar Lacquer Earrings with Diamond

ต่างหูสีแดงชาด ศิลปะแลคเกอร์สไตล์จีน (ไชนีส ซีนาบาร์ แลคเกอร์) สวยเด่นด้วยลวดลายแกะสลักลายใบน้ำเต้า ประดับด้วยเพชรเจียระไนทรง โรส-คัท น้ำหนักรวม 1.88 กะรัต

Antique Japanese Fan Necklace

สร้อยคอดีไซน์เก๋ รูปทรงพัดโบราณญี่ปุ่น ตกแต่งด้วยศิลปะ แลคเกอร์สไตล์จีน (ไชนีส ซีนาบาร์ แลคเกอร์) ประดับมุก และเพชร 11.310 กะรัต ตรงกลางประดับด้วยมรกต 1.060 กะรัต

 

 

สำหรับชิ้นงานศิลปะแลคเกอร์ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นของสะสมของรอล์ฟ วอน บูเรน นั้นมีหลากหลายชิ้นแต่ละชิ้นมีอายุยาวนานแต่ยังคงความสวยงดงามจนน่าครอบครอง อาทิ

 

Japanese Lacquer Tray with Floating Fan Motifs

ถาดแลคเกอร์ญี่ปุ่นจากยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 – 1912) งดงามด้วยลวดลายดอกไม้แห่งความหวัง “Tampopo” หรือ Dandelion (แดนดิไลออน) ที่กำลังปลิวไปตามสายลม สื่อความหมายถึงความสุขสดชื่นในวันที่อากาศดี ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคลงแลคเกอร์แบบ มากิ-เอะ โดยถาดลักษณ์นี้เป็นที่นิยมมอบเป็นของขวัญให้ขุนนาง และนำไปใช้ในครัวเรือนชนชั้นสูงของญี่ปุ่น 

Japanese Lacquer (Kamakura-Bori) Tray Set

ชุดถาดเคลือบแลคเกอร์ญี่ปุ่น ด้วยเทคนิคคามาคุระ-บอริ ผลิตขึ้นในสมัยเมจิ 2411-2555 เด่นด้วยงานการแกะสลักไม้อย่างประณีต ก่อนจะลงลักสีแดงและสีดำ เดิมทีเทคนิคนี้เป็นการเลียนแบบเทคนิคจากประเทศจีน และได้กลายเป็นงานศิลปะลงแลคเกอร์อันเป็นเอกลักษ์ของ เมืองคามาคุระ ประเทศญี่ปุ่น 

 

Japanese Lacquer Tray with Birds Nest and Birds Motif

ถาดแลคเกอร์ญี่ปุ่นสร้างขึ้นในยุคเมจิ (1868-1912) โดยใช้เทคนิคแบบ Wajima Lacquer (วาจิมะ แลคเกอร์) เทคนิคศิลปะการทำเครื่องเขินที่ขึ้นชื่อ ของจังหวัดอิชิคะวะ (Ishikawa) โดยลวดลายที่ปรากฎ บนถาดแสดงให้เห็นถึงงานศิลปะชั้นสูง สามารถถ่ายทอดอิริยาบถของนกพิราบที่กำลังโผบินออกจากรัง เพื่อออกหาอาหาร ส่วนนกอีกตัวทำหน้าที่เฝ้ารัง 

 

Japanese Lacquer Vase

แจกันเคลือบญี่ปุ่นอายุประมาณ 90 ปี สร้างขึ้นในราวปี ค.ศ. 1930 ด้วยการผสานเทคนิคการลงแลคเกอร์แบบ Nashiji Lacquer (นาชิจิ แลคเกอร์) ใช้ผงทองในการสร้างลาย แต่จะโรยผงทองเป็นพื้นหลังทั้งหมด และ Maki-e Lacquer (มากิ-เอะ แลคเกอร์) การสร้างลวดลายด้วยผงทอง โดดเด่นด้วยลายนกกระเรียนกำลังบินข้ามทะเล ซึ่งนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีและการมีอายุที่ยืนยาว 

 

Japanese Folding Chairs (Kyokuroku) Early 20th Century

เก้าอี้พับญี่ปุ่น ดีไซน์เก๋ สวยงามด้วยศิลปะการลงแลคเกอร์สีแดงประดับด้วยทองลวดลายดอกโบตั๋น สัญลักษณ์ของความรัก พนักเก้าอี้ประดับทองแกะสลักลายมังกร จากต้นศตวรรษที่ 20 โดยนักบวชชาวจีนได้นำสู่ประเทศญี่ปุ่นและถูกเผยแพร่จนเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ซึ่งเก้าอี้พับดีไซน์นี้สามารถพบได้ในวัดชินโต (Shinto Temples) ไว้สำหรับให้พระสงฆ์ใช้งาน

 

Japanese Lacquer Cabinet with Galuchat

ตู้ญี่ปุ่นโบราณทำขึ้นในสมัยเมจิ – ไทโช (1890 – 1920) โดดเด่นด้วยลวดลายสวนซากุระ ซึ่งใช้เทคนิคการลงแลคเกอร์แบบ มากิ-เอะ บานพับทำจากโลหะผสมทองแดงและทองคำ โดย Lotus Arts de Vivre ได้นำตู้ญี่ปุ่นโบราณชิ้นนี้มาประดับพื้นผิวด้านบนด้วยหนัง กระเบน และตกแต่งขาตู้ด้วยเงิน เพื่อเพิ่มความหรูหรา

ผู้สนใจสามารถเข้าชมจิวเวลรี่และของแต่งบ้านคอลเลกชั่น Eastern Curiosities – Lacquer Collection  ได้ที่ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์  บูทีค, โรงแรม อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

เวลา 10.00 – 20.00 น.

โทร. 0 2250 0732 หรือ www.lotusartsdevivre.com, Instagram @lotusartsdevivre 

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด