TOP

“เฟซบุ๊ค” เริ่มปฏิบัติการ ซ่อนยอดไลค์

เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา จากการที่ Instagram ออกมาโพสต์ประกาศในการเพิ่มฟีเจอร์ซ่อนจำนวนไลค์ใต้โพสต์ ที่เริ่มแล้ว “ประเทศแคนาดา” เป็นแห่งแรก และเพิ่มขยายไปอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ผู้โพสต์และผู้ติดตามโพสต์ หันมาสนใจและโฟกัสที่ “รูปภาพ” และ “วิดิโอ” ที่โพสต์แชร์มากกว่าการโฟกัสที่ “จำนวนไลค์” การเปลี่ยนแปลงที่กำลังกล่าวถึงนั้น คือการที่ไม่แสดงจำนวนไลค์ใต้โพสต์ให้ผู้ติดตามเห็นอย่างที่เคยเป็น แต่เจ้าของโพสต์เป็นคนเดียวที่สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดของจำนวนไลค์ได้

และการขยายพื้นที่ของฟีเจอร์นี้ สู่การเปลี่ยนแปลงบนเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อข่าวแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อบล็อกเกอร์สาวชาวฮ่องกงผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคโนโลยี  “Jane Manchun Wong” ดูเหมือนเธอให้ความสนใจติดตามและรู้เท่าทันผู้พัฒนาโปรแกรมต่างๆ เป็นดั่งสารวัตรตรวจจับความผิดปกติ รักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีเลยทีเดียว เธอเป็นคนแรกที่รู้ว่า Facebook ซุ่มทำฟีเจอร์นัดเดท จนได้รับฉายา Slicon Valley จาก BBC มาแล้ว จนชื่อของเธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เกียรติประวัติรวมถึงผลงานของเธอในด้านนี้ ถูกระบุอยู่ในข้อมูลส่วนตัวที่ เว็บ Linked in: https://hk.linkedin.com/in/wongmjane เธอเป็นคนแรกที่ตรวจพบฟีเจอร์ Instagram ทดลองซ่อนยอดไลค์ และได้แสดงความคิดเห็นบนพื้นที่โซเชี่ยลมีเดียไว้ว่า สิ่งเดียวกันนี้ อาจเกิดขึ้นบน Facebook ในอนาคตเช่นกัน! จนทำให้ผู้ใช้อินสตาแกรมจำนวนหนึ่งที่รู้สึกไม่พอใจ เรียกร้องให้เธอหยุดการกระทำ และแน่นอนความพยายามของเธอในการจับตาถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอพบความผิดปกติเกิดขึ้นบน Facebook จริงๆ ซึ่ง Facebook กำลังทดลองฟีเจอร์ซ่อนจำนวนไลค์ บน Android นี่เป็นดั่งข้อพิสูจน์ในคำพูดของเธอที่ได้กล่าวไว้ โดยเธอพบว่ารูปแบบการแสดงผลต่อโพสต์ ของผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมแตกต่างออกไปจากเดิม ตัวเลขของจำนวนไลค์ได้หายไป การแสดงผลปรากฏแต่ Account ชื่อของผู้ติดตามโพสต์ที่มาติดตามกดไลค์ และแสดงความรู้สึกผ่าน Emoji เท่านั้น โดยเธอได้ถ่าย Screenshot โพสต์ลงบนทวีตเตอร์ และเขียนเรื่องราวลง Blog ส่วนตัว ที่ https://wongmjane.com/blog/fb-hiding-likes

เสียงสนับสนุนเมื่อ TechCrunch เว็บบล็อกชื่อดังด้านข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีที่มีผู้ติดตามทั่วโลก ได้สอบถามไปยัง Facebook เพื่อยืนยันข่าวนี้ และได้รับคำตอบยอมรับกลับมาว่า Facebook กำลังทดสอบฟีเจอร์ซ่อนยอดไลค์อยู่จริง แต่ยังไม่ได้เปิดเผยข่าวเป็นทางการ และอยู่ในช่วงปฏิบัติการ และจนถึงเวลานี้ Facebook ก็ไม่ยอมเปิดเผยผลทดลองซ่อนยอดไลค์ ของ Instagram ใน 7 ประเทศอีกด้วยว่าเป็นอย่างไร

 

และเหตุผลที่ Facebook ได้ให้แนวคิดไว้ ไอเดียการซ่อนยอดไลค์ ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกันกับ Instagram เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานรู้สึกต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา แล้วรู้สึกไม่ดีเวลาที่โพสตัวเองมีคนไลค์น้อย เมื่อเทียบกับโพสคนอื่น ให้โฟกัสที่คอนเทนส์ที่สื่อผ่านรูปภาพ หรือวิดิโอ หรือบทความ มากกว่าตัวเลขของยอดไลค์ โดยไอเดียนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานลบโพสตัวเองทิ้ง ในขณะที่รู้สึกว่าโพสต์ได้รับการกดไลค์น้อย บ่งชี้ว่า Facebook และ Instagram มีความมั่นใจในข้อดีของการซ่อนตัวเลขจำนวนไลค์มากกว่าข้อเสีย โดยผู้สร้างโพสต์อาจรู้สึกกังวลน้อยลงต่อความนิยมของเนื้อหาที่โพสต์ จากการศึกษาผลกระทบต่อการใช้สื่อสังคมออนไลน์ อาจมีผลต่อสุขภาพจิต รวมถึงนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นด้วยตัวชี้วัดเป็นครั้งแรกในปี 2012 โดยศาสตราจารย์ Ben Grosser (นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในเวลานั้น) ที่ University of Illinois ผู้สร้าง “Facebook Demetricator” ซึ่งเป็นส่วนเสริมของ Chrome เพื่อซ่อนการมองเห็นจำนวนไลค์ มันต้องใช้เวลาในการพัฒนาการวิจัย จากการสังเกตุเพื่อทำการทดลอง และผลจากการทดลองก็เป็นแบบมาๆ ไปๆ แต่เค้าเริ่มแน่ใจว่าการซ่อนจำนวนไลค์จากสาธารณะ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้จำนวนมากกว่า

 

และที่สำคัญอีกประเด็นที่ปฎิเสธไม่ได้เลยของผู้ที่ใช้ช่องทาง “เฟซบุ๊ก” และ “อินสตาแกรม” ด้วยวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์และธุรกิจต่างๆ ที่มุ่งหวังผลลัพธ์ที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะในด้านการประชาสัมพันธ์ เชิงธุรกิจการค้า หรือส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ ต่างก็มุ่งหวังจำนวนไลค์บนโพสต์หรือคอนเทนส์ เป็นเครื่องการันตีความนิยมชื่นชอบ รวมถึงแสดงการเข้าถึงเรื่องราวที่นำเสนอ จากนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าฟีเจอร์ซ่อนจำนวนไลค์ จะขยายมาถึงเมืองไทยเมื่อไหร่!! ถึงเวลานั้นคงต้องตั้งรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มสื่อสารมวลชน และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ

 

 

 

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด