TOP

วัคซีน ‘ChulaCov19’ อีกความหวังของคนไทย พร้อมเดินหน้าทดสอบในอาสาสมัคร ต้นเดือนพฤษภาคมนี้!!

ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยทางการแพทย์ ที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ได้พัฒนา วิจัย ต่อยอด การคิดค้น ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันโรคต่างๆ ให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง ลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงและมีสุขภาพดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมเดินหน้าทดสอบในอาสาสมัครต่อไป

 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เตรียมความพร้อมทางด้านสถานที่ แพทย์ พยาบาล บุคลากรและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการทดสอบกับอาสาสมัครอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจในความปลอดภัยของการทดสอบฉีดวัคซีนครั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จและสร้างคุณประโยชน์และชื่อเสียง ให้แก่ประเทศไทยในระดับสากล

การพัฒนาวัคซีนนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการอนุมัติ ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ และให้ใช้ในประชาชนทั่วไปในบางประเทศแล้ว เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์  ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์  2564 หลายประเทศทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แล้วอย่างน้อย 100,000,000 คน จากทั้งหมด 180,000,000 คน

วัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย จากความร่วมมือสนับสนุนโดยคุณหมอนักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้คือ Prof.Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด 

  • วัคซีน ChulaCov19 สามารถป้องกันโรคโควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากมายในหนูทดลอง ผลการทดลองล่าสุด ภายหลังจากหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบสองเข็ม ห่างกันสามสัปดาห์ เมื่อหนูทดลองได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรค และยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไป อย่างน้อย 10,000,000 เท่า ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการแบบโควิด-19 ภายใน  3 -5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือดในจมูกและปอด
  • วัคซีน ChulaCov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ คือ 2-8 oC ได้อย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศ จึงสามารถทำได้อย่างสะดวก
  • วัคซีน ChulaCov19 คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดสอบในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้
  • กำลังเตรียมการพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลอง เพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคต เพราะเนื่องจากมี เชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศ และบางสายพันธุ์พบว่าเริ่มดื้อต่อวัคซีนในปัจจุบัน เทคโนโลยีวัคซีน mRNA มีจุดเด่น คือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่สอง เพื่อตอบโต้เชื้อที่ดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว 

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติยืนยันสนับสนุนการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ เพื่อสร้างรากฐานและพัฒนาขีดความสามารถ ด้านการวิจัยวัคซีนของประเทศเพื่อรับมือการระบาด วัคซีน mRNA เป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความรวดเร็ว สามารถพัฒนาเป็นวัคซีนที่ใช้ในการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทุ่มเทให้กับการวิจัยวัคซีน mRNA นี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีนเพื่อความมั่นคงของประเทศ

และภายหลังจากที่ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศเปิดรับสมัครอาสาสมัครสุขภาพดี เพื่อทดลองวัคซีน ChulaCov19 เพียงข้ามวันเท่านั้น ก็ได้จำนวนอาสาสมัครตามเป้าหมาย และปิดการรับสมัครเรียบร้อยแล้ว โดยมี 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 18-55 ปี และผู้สูงวัย อายุระหว่าง 65-75 ปี เป็นการศึกษาระยะที่ 1 ต่อเนื่องระยะที่ 2 เพื่อหาขนาดปริมาณวัคซีนที่เหมาะสม และประเมินความปลอดภัยในการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน ChulaCov19 ของกลุ่มผู้ใหญ่สุขภาพดี โดยอาสาสมัครต้องฉีดวัคซีน ChulaCov19 ทั้ง 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 จะเว้นระยะห่างจากเข็มแรกราว 21 วัน ควบคู่กับการติดตามอาการหลังฉีดวัคซีน รวมระยะเวลา 1 ปี แบ่งเป็นติดตามผ่านทางโทรศัพท์ 4 ครั้ง และติดตามผ่านการมาพบที่ศูนย์วิจัยจุฬาฯ 8 ครั้ง และกำลังทยอยติดต่อกลับอาสาสมัครที่สมัครเข้ามาทางโทรศัพท์ โดยทางศูนย์วิจัยฯ ได้เร่งดำเนินการคัดกรองข้อมูลเบื้องต้น และติดต่อกลับไปตามเบอร์โทรศัพท์ที่ได้ให้ไว้ ภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564

———————————————————–
ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.chula.ac.th

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด