
‘ศิลป่า เขาใหญ่’ ชวนสัมผัสงานศิลปะรูปแบบใหม่จากศิลปินระดับโลก ท่ามกลางผืนป่าของเขาใหญ่
ภาพความสมบูรณ์ของป่าผืนใหญ่พื้นที่สีเขียวบนที่ราบสูงทางด้านใต้เชื่อมต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และมีแนวทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงามทางด้านเหนือของตำบลโป่งตาลอง จังหวัดนครราชสีมา กลับกลายเป็นเขาหัวโล้นไร้ร่มเงาไม้ใหญ่ปกคลุม นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ศิลป่า เขาใหญ่ (Khao Yai Art Forest) แลนด์มาร์กศิลปะสุดสร้างสรรค์คลอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 530 ไร่ ท่ามกลางธรรมชาติผืนใหญ่ของเมืองไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ของ คุณมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้ง ที่นำแรงบันดาลใจผสานความหลงใหลในธรรมชาติ มาพร้อม 4 หัวใจหลัก นั่นคือ ศิลปะ อาหาร นวัตกรรม และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน หลอมรวมเป็นสถาบันศิลปะรูปแบบใหม่ที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องศิลป่า ตั้งเป้าฟื้นฟูธรรมชาติโดยใช้งานศิลปะเข้ามาเยียวยาป่าเขาและจิตใจของเรา เพื่อเชื่อมโยงทุกคนให้กลับไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ
และชวนสัมผัสงานศิลปะหลากหลายรูปแบบจากศิลปินระดับโลกและศิลปินชาวไทย ทั้ง ภูมิศิลป์ (Land Art) ที่สร้างสรรค์งานจากการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน หิน น้ำ ไม้ ก้อนกรวด ต้นไม้ใบหญ้ารอบ ๆ บริเวณ หรือแม้แต่ธรรมชาติที่เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานศิลปะและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา รวมถึงรูปแบบของศิลปะร่วมสมัยระดับโลก อย่างผลงาน Maman แมงมุมยักษ์อันโด่งดังเดินทางจัดแสดงยังประเทศไทยครั้งแรก และบางผลงานอันน่าทึ่งเกิดจากการผสานเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมกลั่นละอองน้ำจากอากาศ สร้างประติมากรรมหมอก ทำให้เราได้มุมมองของงานศิลปะที่กว้างขวางขึ้น โดยไม่ยึดติดกับศิลปะกระแสหลักแต่เพียงเท่านั้น
เริ่มกันตั้งแต่ทางเข้าได้สร้างสรรค์ อุโมงค์ดินสีแดง ในขณะที่เดินผ่านราวกับได้ปลดปล่อยความทุกข์ วางความวุ่นวาย ความเร่งรีบจากการใช้ชีวิต เมื่อถึงปลายอุโมงค์พบแสงสว่าง สูดลมหายใจแบบลึกสุดปอดรับอากาศบริสุทธิ์ ผ่อนคลายรับพลังธรรมชาติ ใช้โสตประสาทสัมผัสทั้ง 5 เปิดประสบการณ์จากการฟัง การเห็น การสัมผัสจากธรรมชาติ ใช้ชีวิตให้ช้าลง เดินสัมผัสบรรยากาศรอบตัวอย่างไร้กังวล และโอบกอดความรู้สึกต่าง ๆ ไปพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากสังคมเมือง พร้อมเข้าถึงแรงบันดาลใจที่สอดแทรกแนวคิดของศิลปินผ่านงานศิลปะกลมกลืนเข้ากับธรรมชาติอันแสนเรียบง่ายในภูมิทัศน์ที่เฉพาะเจาะจงอย่างมีความหมายและนัยยะต่อการสื่อสาร ที่จะทำให้ทุกคนได้มุมมองใหม่กลับไปต่อยอดชีวิตอย่างมีความสุขขึ้นได้ และเข้าถึงความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
ศิลป่า เขาใหญ่ นอกจากนำแนวคิดของการเยียวยาจิตใจ ให้ทุกคนได้ค้นหาตัวเองจากการเชื่อมโยงเรากับธรรมชาติผ่านศิลปะทั้งในรูปแบบการจัดแสดงผลงานขนาดใหญ่ของทั้งศิลปินไทยและศิลปินระดับโลกรวม 7 ผลงานไฮไลต์ และกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
ARTWORKS
MAMAN (2542)
ศิลปิน: หลุยส์ บูร์ชัวส์
ผลงานไฮไลต์ Maman สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกันผู้ล่วงลับ หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois) เป็นประติมากรรมแมงมุมบรอนซ์ขนาดยักษ์ที่มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งอบอุ่นระหว่างศิลปินกับแม่ของเธอ ตั้งตระหง่านท่ามกลางพื้นที่ราบกลางแจ้งของทุ่งนาข้าว เป็นผลงานชิ้นสำคัญเป็นดั่งประตูบานแรกที่ให้การต้อนรับทุกคนทีมาเยือน ในรูปแบบศิลปะร่วมสมัย (contemporary mural) และสามารถมองเห็น Maman ได้แต่ไกลโดดเด่นกลมกลืนไปกับธรรมชาติโดยรอบ ผลงานศิลปะชื้นนี้ถูกสะสมโดยสถาบันศิลปะชั้นนำในต่างประเทศ และถูกนำไปจัดแสดงทั่วโลก รวมถึงถูกยืมไปจัดในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่มากมาย นับเป็นครั้งแรกที่ Maman เดินทางมาจัดแสดงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางธรรมชาติของ ศิลป่า เขาใหญ่ ซึ่งจะจัดแสดงไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2568
______||______
ARTWORKS
KHAO YAI FOG FOREST
Fog Landscape #48435 (2567)
ศิลปิน: ฟูจิโกะ นากายะ
ผลงานประติมากรรม Fog Landscape โดยศิลปิน ฟูจิโกะ นากายะ (Fujiko Nakaya) ชาวญี่ปุ่นวัย 90 ปี ที่มีชื่อเสียงมากและกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ผลงานของเธอไม่ใช่แค่การวาดภาพหรือประติมากรรมเท่านั้น แต่สามารถสร้างสรรค์น้ำหรือหมอกให้เป็นงานประติมากรรมได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้เราได้สัมผัสพลังงานอันซ่อนเร้นอยู่ภายในระบบนิเวศ ความพิเศษอยู่ตรงที่สามารถสกัดน้ำจากในอากาศโดยแบรนด์ Aqauria ซึ่งเป็นแบรนด์แรกที่คิดค้นเครื่องผลิตน้ำจากอากาศและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยละอองน้ำที่สกัดแล้วถูกปล่อยออกมาจากหัวพ่นเป็นกลุ่มหมอกอย่างสมจริง โดยการวิจัยพบว่าในอากาศมีน้ำมากกว่า 200 เท่า ที่มนุษย์ไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด และในอนาคตโลกกำลังจะเผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำ จึงเกิดเป็น solution ที่จะนำมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ พร้อมกับการออกแบบภูมิทัศน์ให้โอบอุ้มสายหมอกโดยทีมสถาปนิกชาวญี่ปุ่น อัตสึชิ คิตางาวาระ (Atsushi Kitagawara Architects) จากชิบูยา เกิดเป็นทะเลหมอกบนเนินเขาสีเขียวกว้างใหญ่มอบความรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายอย่างมาก เรียกว่าเป็นอีกไฮไลต์ที่ทุกคนตั้งตารอคอย นับเป็นผลงานทางนวัตกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
______||______
ARTWORKS
GOD (2567)
ศิลปิน: ฟรานเชสโก อารีนา
GOD เป็นประติมากรรมแบบมินิมอล ผลงานของศิลปิน ฟรานเชสโก อารีนา (Francesco Arena) ชาวอิตาลีที่มีแพชชั่นกับหิน ความสัมพันธ์ของหินที่มีเชดเป็นธรรมชาติมาประกอบร่างจากการคัดเลือกหินสองก้อนส่งตรงจากจังหวัดกาญจนบุรี มีความพิเศษที่ด้านบนกับด้านล่างตัดให้หินมีหน้าตัดที่แปลกตา ใช้การติดตั้งแบบศูนย์ถ่วงตรงกลางตั้งบนฐานที่ทำจากไม้โอ๊ก แรงบันดาลใจของผลงาน GOD เกิดจากการที่ธรรมชาติอยู่เหนือสิ่งที่มนุษย์สร้างได้ และนำเอามุมมองทางศาสนาเข้ามาผสานกับธรรมชาติ หินสองก้อนนี้ด้านบนแกะสลักเป็นตัวอักษร O ส่วนด้านล่างแกะสลักเป็นตัวอักษร G&D ชิ้นส่วนทั้งสองถูกติดตั้งในเวลาที่ต่างกัน ฐานด้านล่างติดตั้งในเวลากลางวัน ส่วนชิ้นบนถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกันในช่วงเที่ยงคืน ผลงานชิ้นนี้ศิลปินตั้งใจสื่อถึง ‘พระเจ้า’ ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นการสื่อถึงพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่ใช่พระเจ้าตามความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นพระเจ้าในรูปแบบพลังงานที่คอยปกปักรักษาและคุ้มครองผืนดินแห่งนี้ อารีนามักใช้วัสดุที่เป็นรูปธรรมเพื่อเชื่อมโยงกับโลกทางกายภาพ นับว่าเป็นประติมากรรมหินขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความลึกซึ้งทางความคิด
______||______
ARTWORKS
PILGRIMAGE TO ETERNITY (2567)
ศิลปิน: อุบัติสัตย์
อุบัติสัตย์ ศิลปินไทยที่เชื่อมโยงระหว่างขนบดั้งเดิม ความร่วมสมัย ความเชื่อ และธรรมชาติ เข้าไว้ด้วยกัน ผลงานนี้มีรากฐานมาจากศิลปะการสร้างเจดีย์ ศาสตร์ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อุบัติสัตย์นำศิลปะแขนงนี้มาตีความใหม่ผ่านแนวคิดร่วมสมัย ที่สัมพันธ์กับวัฎจักรของทุกสิ่งที่หมุนเวียนแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา อย่างผลงานศิลปะนี้ในช่วงหน้าฝนมอสก็จะขึ้นเกาะชื้นผลงานเขียวชุ่มฉ่ำกลมกลืนไปกับผืนดิน พอหน้าร้อนก็จะเปลี่ยนสีสัน แปรเปลี่ยนสภาพภายนอกไปเรื่อย ๆ สะท้อนความเชื่อของศิลปินในแนวพุทธปรัชญา ที่เผยให้เห็นถึงแก่นแท้ทางจิตวิญญาณ ความไม่เที่ยง และพลังของธรรมชาติ โดยไม่สูญเสียสาระสำคัญและความหมายดั้งเดิม ที่เราจะได้เห็นงานศิลปะจากเจดีย์ดินเผานี้ในรูปร่างที่แตกต่างกัน จำนวน 10 ชิ้นงาน จัดวางกระจายไปตามบริเวณเนินเขากลมกลืนไปกับผืนดินที่แทรกตัวท่ามกลางแนวป่า
______||______
ARTWORKS
MADRID CIRCLE (2531)
ศิลปิน: ริชาร์ด ลอง
ผลงาน Madrid Circle ของศิลปิน ริชาร์ต ลอง (Richard Long) สะท้อนความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งของศิลปะหลอมรวมเรื่องการเจริญสติด้วยการเดิน เข้ากับธรรมชาติ ในศิลปะแบบมินิมอลรูปแบบเซอร์เคิล โดยเฉพาะที่ ศิลป่า เขาใหญ่ ศิลปินได้นำเอาแผ่นหินมาวางเรียงกันเป็นวงกลมบนเนินเขาสูง สร้างสรรค์ผลงานอันเรียบง่ายแต่ทรงพลังผ่านความเชื่อมโยงกับภูมิทัศน์ธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา เชิญชวนให้เราได้เดินอย่างช้า ๆ รอบหินทรงวงกลม ซึ่งศิลปินตีความการเดินไม่ใช่แค่การเคลื่อนที่ แต่การเดินอย่างมีศิลปะก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งด้วย ซึ่ง ริชาร์ต ลอง ถือเป็นผู้บุกเบิกศิลปะแบบแลนด์อาร์ตอีกคนหนึ่ง
______||______
ARTWORKS
TWO PLANETS SERIES (2551)
ศิลปิน: อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
ผลงานศิลปะ Two Planets โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เป็นผลงานที่สะท้อนถึงความลุ่มลึก และกระตุ้นให้ชวนขบคิดผ่านมิติใหม่ ซึ่งศิลปินได้นำโลกสองใบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมาบรรจบกัน ระหว่างชาวบ้านในชนบทของไทย และผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงในโลกตะวันตก ผ่านการฉายภาพเขียนจำลองจิตรกรรมตะวันตกชิ้นเอก ท่ามกลางบรรยากาศชนบท ที่ได้บันทึกปฏิกริยารวมถึงการตีความของชาวบ้าน กระบวนการแลกเปลี่ยนนี้ก่อให้เกิดบทสนทนาระหว่างสองขั้ววัฒนธรรม การฉายภาพเขียนจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก ท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติของ ศิลป่า เขาใหญ่ ได้เปลี่ยนผืนป่าให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการการร่วมสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม
______||______
ARTWORKS
K-BAR (2567)
ศิลปิน: เอล์มกรีน & แดร็กเซต
K-BAR ผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ โดยศิลปินดูโอ เอล์มกรีน & แดร็กเซต (Elmgreen & Dragset) เกิดจากการตีความศิลปะในเชิงภูมิสถาปัตยกรรมผ่านมุมมองของศิลปิน สะท้อนแนวคิดของความแปลกแยก โดยนำองค์ประกอบของความหรูหราในเมืองบาแทรกแซงในสภาพแวดล้อมธรรมขาติอันห่างไกล ถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับ ‘มาร์ติน คิปเพนแบร์เกอร์’ ศิลปินชาวเยอรมันผู้หลงใหลในแอลกอฮอล์ขึ้นชื่อว่าเป็นนักดื่มตัวพ่อ บาร์ลับกลางป่าแห่งนี้มีลักษณะเป็นพาวิลเลียนขนาดย่อมที่รองรับแขกได้เพียงครั้งละ 6 ที่นั่ง และจะเปิดเพียงเสาร์ที่สองของทุกเดือนเท่านั้น โดยค็อกเทลซิกเนเจอร์แก้วเดียวของบาร์คือ Dry Martin ที่ศิลปินร่วมสร้างสรรค์กับบาร์เทนเดอร์ไทย เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ ธรรมชาติ และความคิดเชิงวิพากษ์ ใครอยากลองจิบเครื่องดื่มนี้ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น
______||______
อาหารยั่งยืน
ศิลป่า เขาใหญ่ นอกจากจะมีเป้าหมายในการเป็นแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนวงการศิลปะไทยให้เติบโตไปในระดับสากล ยังมีความตั้งใจในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย และอีกหนึ่งในความโดดเด่นของที่นี่ นั่นคือ ศิลปะทางด้านอาหารแบบ Forest Food Collective ที่นำวัฒนธรรมอาหารของภูมิภาคและวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติที่ได้รับแรงบันดาลใจจากป่า ทั้งจากพืชพรรณและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นผลผลิตของป่าเขาใหญ่ นำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารต่าง ๆ โดยมี เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เจ้าของร้าน Samuay&Sons จังหวัดอุดรธานี เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ร่วมกับ มูลนิธิเชฟแคร์ส (CHEF CARES) ทีคุณมาริษาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
อาหารที่เป็นเสมือนงานศิลป์ส่งมอบกระบวนความคิดอันลึกซึ้ง ทั้งการคัดสรรวัตถุมากประโยชน์ครบองค์ประกอบทางโภชนาการ ส่งต่อความรัก ความห่วงใยใส่ใจในสุขภาพ และบอกเล่าเรื่องราวของแหล่งที่มาที่มีความสัมพันธ์กับป่า ผนวกกับมุมมองของเชฟผู้รังสรรค์อาหาร และความเชื่อในจิตวิญญาณของอาหารอย่างแท้จริงให้ผู้ที่ได้ลิ้มลองรสชาติ ได้เข้าถึงธรรมชาติในหลากมิติ
หัวใจหลักของอาหารในสไตล์ของเชฟหนุ่ม คือการคัดสรรค์วัตถุดิบคุณภาพจากเกษตรกรในพื้นที่ตามฤดกาลให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการใช้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่เป็นทั้งสมุนไพร และผลไม้ป่าในพื้นที่ของศิลป่า เขาใหญ่ นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งได้มีการเก็บรวบรวมและศึกษาข้อมูลพันธ์ุไม้ในพื้นที่จาก PLA (Landscape Designer) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและคุณค่าของโภชนาการอีกด้วย
อาหารของศิลป่า เขาใหญ่ เป็นการนำเสนออาหารจากธรรมชาติ โดยไม่ยึดติดกับ Cuisine ใด ๆ แต่เลือกใช้ภูมิปัญญาต่าง ๆ เพื่อเล่าเรื่องผ่านจานอาหารที่พูดถึงป่าและฤดูกาลรอบเขาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเสิร์ฟอาหารเป็น Full Corse โดยจะมีการปรับเปลี่ยนเมนูไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบประจำฤดูกาล และในอนาคตจะมีการเปิดร้านอาหารในโครงการ และ Workshop เกี่ยวกับอาหารมากขึ้น รวมถึงยังสามารถรังสรรค์บรรยากาศดินเนอร์มื้อพิเศษท่ามกลางวิวเนินเขาเขียว ชมซันเซตท้องฟ้าหลากสีสันสวยงาม
ชุมชนยั่งยืน
ศิลป่า เขาใหญ่ มีส่วนช่วยสนับสนุนชุมชนยั่งยืนด้วยการจัดจ้างงานสมาชิกหมู่บ้านสระน้ำใส ให้มีส่วนในหน้าที่ทีมพืชสวน ปลูกผัก ปลูกข้าว ปลูกมะม่วง ดูแลพืชพันธ์ุ เพราะบริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรอยู่มาก และต่างช่วยกันดูแลฟื้นฟูธรรมชาติด้วยการปลูกป่าเก็บคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 600 ต้น ปลูกเสริมต้นไม้พืชพันธ์ุท้องถิ่น เพื่อให้ป่าอุดมสมบูรณ์ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของนักเรียนโรงเรียนสระน้ำใส ร่วมกับพนักงานศิลป่า เขาใหญ่ ในโครงการดูแลป่าไม้ในพื้นที่ เพื่อลดโอกาสบุกรุกป่าและการเกิดไฟป่า พร้อมทั้งทำกิจกรรมสานสัมพันธ์กับชุมชน และสนับสนุนกองทุนเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่อไป
สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ในส่วนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ได้มีการสร้างระบบคัดกรองและแยกขยะ เพื่อลดการใช้พลาสติกในพื้นที่ และมีการปลูกต้นไม้ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการปรึกษาร่วมกับ PLA ในการนำข้อมูลพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมาประกอบ เพื่อลดโอกาสการเกิด invasive species อีกทั้งยังมีแผนจัดสร้าง Solar mountain เพื่อนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในพื้นที่อีกด้วย
📌 เวลาเปิดทำการ ศิลป่า เขาใหญ่ (Khao Yai Art Forest)
• วันพฤหัสบดี – วันศุกร์: 12.30 – 18.00 น.
• วันเสาร์ – วันอาทิตย์: 10.00 – 18.00 น.
📌 รอบเวลาของ Fog Forest Experience
วันพฤหัสฯ – ศุกร์ : เวลา 16.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ : เวลา 11.30 น. และ 16.30 น.
📌 จำหน่ายบัตรเข้าชมที่ www.khaoyaiart.com