TOP

Libra เงินดิจิตอล ทางเลือกใหม่บนโซเชี่ยลแบ้งก์กิ้ง เสริมศักยภาพทางการเงินให้คนทั่วโลก

‘เพื่อลดความยุ่งยากของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแบบเดิมๆ ช่วยเสริมศักยภาพทางการเงินรูปแบบใหม่ ให้คนทั่วโลกได้เข้าถึงง่ายขึ้น’ เวปต์ไซด์ Libra White Paper (https://libra.org) ได้เปิดเผยบทความและความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลล่าสุด ในชื่อ Libra เมื่อไม่นานมานี้ ที่กำลังเตรียมเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลน้องใหม่ ในปี 2020

 

เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ริเริ่มแนวคิด “สกุลเงินดิจิตอล ลิบรา”

ความคิดนี้ริเริ่มมาจาก Mark Zuckerberg (มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก) เจ้าของ Social Media ชั้นนำอย่าง Facebook พบปัญหาว่าปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลก 1.7 พันล้านคน เป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีบัญชีผู้ใช้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินในระบบแบบยุคเดิม ในขณะที่ผู้คนเหล่านั้นกลับเข้าถึงสมาร์ทโฟนมากกว่าเสียอีก และแรงจูงใจในการใช้สมาร์ทโฟนส่วนหนึ่ง ก็มาจากการใช้แอปพลิเคชันยอดฮิตอย่าง Facebook ด้วยเช่นกัน มาร์คได้มองเห็นโอกาสช่องทางในการช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบบดั้งเดิม จากทั้งธนาคารและสถาบันการเงิน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงได้ด้วยตัวเอง และอีกเป้าหมายเพื่อการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ที่ต้องการลดการใช้เงินสด เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ชีวิตและไลฟ์สไตล์คนยุคนี้กำลังจะถูกเปลี่ยน

Libra สกุลเงินดิจิทัลล่าสุด บนโซเชี่ยลแบงก์กิ้ง 

Libra (ลิบรา) มีพันธกิจการทำให้สกุลเงินและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินทั่วโลกง่ายขึ้น โดยมี “สมาคมลิบรา” หรือ Libra Association เข้ามาร่วมลงขันจาก 29 บริษัทยักษ์ใหญ่ในเวลานี้ จดทะเบียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องกฎหมายทางการเงินเสรีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ดังนั้นระบบการเงินในอนาคตไม่ได้อยู่กับสถาบันการเงิน หรือ ซีอีโอของธนาคารใดธนาคารหนึ่ง การโอนถ่ายเงินระหว่างประเทศจะทำได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ระยะทางข้ามทวีปไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรค ค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือความจำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารไร้ความหมาย เพราะสามารถยืนยันตัวตนบน “เฟสบุ๊ก” ได้ ในอีกไม่ช้าสมุดบัญชีธนาคารที่ใช้ยืนยันตัวตน ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบไป

 

Libra เงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ทำให้การทำธุรกรรมง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสบนสมาร์ทโฟน ง่ายดายเหมือนคลิกส่งสติกเกอร์หาเพื่อนบนไลน์ หรือ Facebook ดังที่ Wechat โซเซียลมีเดียยอดนิยมของประเทศจีน ได้ทำและล้ำหน้าไปก่อนแล้ว ความยุ่งยากที่เคยเจอ อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต หรือ บัตรเอทีเอ็ม ที่ต้องถือถุงเงินเดินทางไปเปิดบัญชีธนาคารที่สาขา หรือ ต้องเดินไปกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม เปลี่ยนไปในรูปแบบเงินดิจิทัลเพียงยืนยันตัวตนบนแพลตฟอร์มของ Libra ก็สามารถสั่งจ่ายซื้อของได้เลย โดยปราศจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน

 

การทำงานของ Libra

ในเริ่มแรก ทีมจาก Facebook จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนองค์กร โดยร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ผ่านบริษัทลูกที่ชื่อว่า “Calibra” แต่หลังจากนั้น Facebook และบริษัทลูกจะลดตัวลงมาเป็นสมาชิกขององค์กร โดยไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าสมาชิกคนอื่น การให้บริการจะเริ่มจากการโอนเงิน Libra ในสมาร์ตโฟน ผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp และ Messenger ไม่ต่างจากที่เราส่งรูปภาพหรือข้อความในนั้น และต่อมาปีหน้าก็จะมีแอปพลิเคชันแยกต่างหากชื่อ “Calibra” แอปพลิเคชัน Calibra จะกลายไปเป็นกระเป๋าเงินของคนทั้งโลก โดยมีการแยกข้อมูลด้านการเงิน และบัญชีผู้ใช้โซเชียลออกจากกัน นั่นหมายความว่าถ้าเกิดเหตุการณ์บัญชีโซเชียลเราถูกขโมย หรือ ถูกแบน ไม่ได้แปลว่ากระเป๋าเงินของเราจะหายไปด้วย และที่สำคัญคือ Calibra จะถูกกำกับดูแลไม่ต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ อะไรก็ตามที่อยู่ใน Calibra จะไม่ได้ถูกแชร์ไปที่ Facebook ในตอนแรก Calibra จะสามารถส่งเงิน Libra ให้แก่กันโดยมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมากจนถึงฟรี และในที่สุด Libra จะถูกใช้ในการซื้อสินค้าบริการในชีวิตประจำวัน เช่น สามารถใช้ซื้อกาแฟ, จ่ายบิล, จ่ายเงินค่าโดยสาร โดยที่เราไม่จำเป็นต้องถือเงินสด หรือแม้แต่บัตรโดยสารใดๆ และที่น่าสนใจก็คือ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” กล่าวว่า “จะมีหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุมการทุจริต ถึงขนาดที่ว่า ถ้าเราถูกขโมยเงินใน Calibra ระบบจะมีการ refund หรือคืนเงินให้ด้วย”

 

29 องค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้าร่วมถือหุ้น

สำหรับความปลอดภัยทางไซเบอร์ Libra ใช้ระบบ Block chain เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง สามารถการันตีได้ว่า ไม่มีทางโดนแฮกค์อย่างแน่นอน ที่สำคัญ Libra ไม่ใช่บริษัทของใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจว่า Facebook เป็นเจ้าของ แต่มีอีก 29 องค์กร เข้ามาร่วมลงขันถือหุ้น ล้วนเป็นบริษัทมหาอำนาจทางเทคโนโลยี หรือ Digital Company และในอนาคตคาดว่าจะมี 100 สมาชิกเข้าร่วมภายในครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 2020 เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการใช้งาน ทำให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกในการโอนจ่ายเงิน โดยที่ไม่เสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศกังวลถึงความเสี่ยงที่จีดีพีจะไหลไปอยู่ในสกุลเงิน LIbra แทน ซึ่งในแต่ละบริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้เข้าร่วมถือหุ้น ต่างมีเครือข่ายผู้ใช้บริการนับร้อยล้านคน และใช้ระบบโหวตเหมือนในสภา ดังนั้นไม่มีใครผูกขาด Libra ได้  สิ่งที่ทางรัฐบาล หรือ สถาบันการเงินปัจจุบันกลัว คือ ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ที่มีเม็ดเงินมหาศาลจะหายไป รวมถึงภาษีทางอ้อมที่รัฐบาลจะได้รับก็ย่อมสูญไปด้วย จึงเกิดแรงต้านขึ้น และ LINE ไลน์ มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน ดังนั้นในอนาคตไลน์เพย์อาจกลายเป็นธนาคารรูปแบบใหม่ในอนาคต และถ้าไลน์ กับ Libra จับมือกัน แทนที่จะส่งสติกเกอร์หากันกลายมาส่งเงินแทน ดังนั้นคนที่แม้จะอยู่ห่างกันแค่ 100 เมตร หรือ จะไกลข้ามทวีปก็จะไม่มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ดังนั้นทางรอดของรัฐบาล, แบงก์ชาติ หรือ สถาบันการเงินยุคเดิม คือ ต้องเข้าไปร่วมในสภา Libra หรือไม่ก็สร้างเงินดิจิทัลของตัวเอง

 

การเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้จะมีแรงต้านจากผู้สูญเสียผลประโยชน์ เพราะ Libra คือทางเลือกใหม่ทางการเงิน ที่มีการพัฒนาไปสู่สังคมคนยุคใหม่ ดังนั้น Libra คือโซเชี่ยลแบงก์กิ้งทางมือถือ การให้บริการจะแซงหน้าธนาคารแบบยุคเก่า เด็กยุคใหม่จะไม่รอเขียนเช็ค หรือไปสาขาธนาคาร ทุกอย่างจะพูดคุยผ่านทาง “เฟสบุ๊ก” ที่สำคัญระบบเดิมของธนาคารไม่อาจรองรับการโอนเงิน หรือ ลูกค้าที่มีจำนวนมหาศาลได้ในเวลาเดียวกัน ดังตัวอย่างเทคโนโลยีที่ก้าวไกล และแนวคิดที่ก้าวกระโดด Alipay สามารถโอนเงินให้คนจีน 1.3 พันล้านคนได้ภายในวันเดียว จากกลยุทธการตลาด “อังเป่า อิเล็กทรอนิกซส์” ผ่านแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน

ในโลกอนาคตอันใกล้ Alipay Wechat และ Libra จะกลายเป็นโซเชี่ยลแบงก์กิ้งที่ใหญ่ที่สุด และธนาคารยุคเก่ากำลังจะค่อยๆ ล่มสลายหายไป (หรือไม่!)

 

สถานการณ์ประเทศไทย

Libra สกุลเงินเปลี่ยนโลกสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล คาดว่า “กรุงเทพฯ” ในอนาคตมีโอกาสที่จะกลายเป็นเมืองที่มีผู้ใช้สกุลเงิน ลิบรา (Libra) สูงที่สุดของโลก เนื่องด้วยเพราะเป็นเมืองที่มีเครือข่ายและจำนวนผู้ใช้ Facebook มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่จำนวน 25 ล้านคน ในขณะที่ภาพรวม “ประเทศไทยมีผู้ใช้ Facebook สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก หรือกว่า 52 ล้านคน” 

 

ที่มา:

-https://libra.org
-https://www.facebook.com
-สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด