TOP

ประเทศไทย…พร้อมรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 พัฒนาการวิจัยวัคซีนอยู่ในระดับแถวหน้า ได้การยอมรับจากองค์การอนามัยโลก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันความพร้อมรับมือโรคโควิด-19 ทั้งทางด้านห้องปฏิบัติการเครือข่ายการตรวจภาครัฐ และเอกชน 209 แห่งทั่วประเทศ การผลิตน้ำยาตรวจใช้เอง ซึ่งมีเพียงพอกว่า 601,870 การทดสอบ การพัฒนาวิธีการตรวจใหม่ๆ เช่น การตรวจน้ำลาย การร่วมศึกษาวิจัยวัคซีน และการทดสอบประสิทธิภาพสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และล่าสุดนักวิจัยได้ถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีน และการออกแบบยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่มีการระบาดทั่วโลกมานานกว่า 7 เดือน โดยประเทศไทยสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อทั้งตัว และรายงานต่อนานาชาติ หลังประเทศจีนเพียงแค่ 1-2 วัน และในการระบาดระยะแรกมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อได้แค่ 2 แห่ง คือ จุฬาฯ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากนั้นได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจ และขยายเครือข่ายการตรวจ ซึ่งเป็นการตรวจที่ได้มาตรฐานทั่วโลกยอมรับ คือ การตรวจด้วยวิธี RT-PCR จนได้รับการยอมรับ และได้ประกาศในเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกเป็นประเทศต้นๆ คู่กับสหรัฐฯ, ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น และสามารถขยายเครือข่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จนถึงขณะนี้มีห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 209 แห่ง

โดยจะขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่ผ่านมาห้องปฏิบัติการได้ตรวจตัวอย่างไปแล้ว 652,089 ตัวอย่าง หากนำตัวเลขจำนวนการตรวจที่ได้ผลบวก มาหารด้วยจำนวนการตรวจทั้งหมด คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% แปลว่า ตรวจตัวอย่าง 1,000 ตัวอย่าง พบ 4 คน หรือ 4 ตัวอย่างที่ผลบวก แสดงให้เห็นว่ามีการค้นหาผู้ป่วยจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาน้ำยาตรวจ โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ พัฒนาน้ำยาตรวจ สำหรับใช้ในประเทศไทยได้เอง ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ และไม่เคยประสบปัญหาน้ำยาตรวจไม่เพียงพอ โดยมีน้ำยาสำรองในสต็อกกว่า 601,870 การทดสอบ (test) และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีระบบการรายงานแบบออนไลน์ 24 ชั่วโมง ทราบผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง

 

นอกจากนั้น ในบทบาทของนักวิจัยก็มีความพร้อมรับมือกับโรคโควิด-19 อาทิ การพัฒนาวิธีการตรวจใหม่ๆ เช่น การใช้น้ำลายในการตรวจ และการตรวจน้ำลายรวมตัวอย่าง โดยร่วมกับกรมควบคุมโรคในการตรวจตัวอย่าง จำนวน 100,000 ราย ใช้เวลาในการตรวจไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ตรวจได้ครบถ้วน และช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศ การวิจัยเรื่องวัคซีน “องค์การอนามัยโลก” ประกาศจำนวนวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการผลิต มี 140 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นของประเทศไทย 4 ชนิด ส่วนใหญ่ประเทศที่ทำวัคซีน จะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งต่างประเทศยอมรับในความสามารถของประเทศไทยในการผลิตวัคซีน

 

และผลการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างสูงและดีมาก มีแผนที่จะผลิตและวิจัยในคนประมาณเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป สำหรับต่างประเทศที่มีการพัฒนาวัคซีนไปแล้ว เราก็มีความร่วมมือกับประเทศนั้น หากประสบความสำเร็จเราก็เตรียมโรงงานรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตวัคซีนให้กับคนไทย การศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทย และ การแพทย์ทางเลือก วิจัยสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และได้ทดลองประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจร ในห้องทดลองกับตัวเชื้อจริง เพราะกรมวิทย์ฯ มีคลังเชื้อจริงที่เก็บไว้สำหรับนักวิจัยจำนวนมาก พบว่า “ฟ้าทะลายโจร” สามารถทำลายเชื้อในเซลล์ปกติได้เป็นครั้งแรกของโลก และได้ส่งข้อมูลให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ เพื่อใช้การวิจัยต่อไป สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า “ประเทศไทย” มีศักยภาพและมีความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในทุกประเด็น

ผลการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเชื้อแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่ม A ร้อยละ 60 และ กลุ่ม B ร้อยละ 40 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศจีน อิตาลี และสเปน มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อดูตำแหน่งความหลากหลายทางพันธุกรรม (polymorphism) ของสายพันธุ์โควิด-19 และทำการศึกษายีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) จากผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ไวรัสกลุ่ม B มีการเปลี่ยนแปลงของยีนบริเวณ spike protein ซึ่งเป็นผิวโปรตีนของ coronavirus ที่จะจับกับตัวรับที่ชื่อว่า ACE2 receptor บนผิวเซลล์ในร่างกายมนุษย์ หรือเป็นบริเวณที่ไวรัส ใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ โดยยีนที่ตำแหน่ง 23,403 เปลี่ยนจากยีน A เป็นยีน G การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 614 เปลี่ยนจาก aspartate (D) ซึ่งพบส่วนใหญ่ในสายพันธุ์จากประเทศจีน เป็น glycine (G) เรียกว่า การกลายพันธุ์ D614G

 

การกลายพันธุ์ D614G นี้พบมากในประเทศแถบยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับที่มาของเชื้อไวรัสที่พบการกลายพันธุ์ชนิด D614G ในประเทศไทย เป็นเชื้อที่แยกได้จากผู้ป่วย ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับผู้ติดเชื้อที่มาจากแถบยุโรป เช่น อิตาลี และสเปน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิด D614G มีปริมาณไวรัสเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนเป็น G ที่ตำแหน่ง 614 นี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้างของ spike protein ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของโควิด-19 โดยเฉพาะบริเวณ spike อย่างต่อเนื่อง มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยสนับสนุนความเข้าใจกลไกของไวรัส เพื่อการพัฒนาวัคซีน และการออกแบบยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาพและที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด