TOP

ประหยัดพอเพียงในยุคโควิด เดินตามรอยพ่อหลวง รัชกาลที่ 9

ตั้งแต่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคระบาดจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้ผู้คนตกอยู่ในความทุกข์ ความเครียด ความเศร้า ไร้ทางออก ไม่มีเงิน และตกงาน จากการที่ธุรกิจมากมายต้องปิดตัวลง ส่งผลให้ผู้คนประสบปัญหาที่ยากจะหาทางออก และกระทบกับสุขภาพกายและใจ การมี “สติ” จึงสำคัญ เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่หนักหน่วง จนรัฐบาลต้องงัดหลายมาตรการเพื่อฟื้นฟู แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้ ดังนั้นในเบื้องต้นที่เราต่างต้องเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน เริ่มจากความพอเพียง ประหยัดอดออม อันเป็นแนวคิดที่ต้องนำมาปรับใช้กับสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว ดังแนวทางของ พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชจริยวัตรที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างเสมอมา ทรงเป็นต้นแบบของ “พระมหากษัตริย์นักออม” ที่น่ายกย่อง

แนวคิดวิธีการออม ตามแบบอย่างในหลวง รัชกาลที่ 9 สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที ดังพระราชดำรัสที่ว่า “การประหยัดอดออม เป็นรากฐานในการสร้างตัว สร้างฐานะบุคคล ตลอดจนความเจริญมั่นคงของสังคมและชาติบ้านเมือง” พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

 

ปลูกฝังนิสัยการออม ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์พระชนมายุเพียง 8 พรรษา ทรงได้รับการปลูกฝังเรื่องการออมจากพระมารดา “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ สมเด็จย่า สอนให้รู้จักการจัดสรรเงิน และเมื่ออยากได้สิ่งใดให้เก็บเงินซื้อด้วยพระองค์เอง

ดังนั้นพระองค์จึงทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ออมไว้ ในการซื้อสิ่งของที่พระองค์ปรารถนา และได้รับการสมทบจากสมเด็จย่าอีกต่างหาก พระองค์มีวินัยมากๆ ในการออมเงิน จนสามารถซื้อสิ่งของได้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ไม่ว่าจะเป็น จักรยานคันแรก กล้องถ่ายรูปตัวแรก Coconet Midget รวมถึงการที่พระองค์ยังได้ทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย และเมื่อทรงได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม แม้ว่าจะได้ค่าขนมทุกสัปดาห์อยู่แล้วก็ตาม นี่เป็นตัวอย่างดีๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกครอบครัว ด้วยการฝึกนิสัยรักการออมอย่างสม่ำเสมอให้กับบุตรหลานตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรอบคอบ และรับผิดชอบทางด้านการเงิน

-🙏-

 

สร้างหลักประกันทางการเงิน 

การที่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการออมจากสมเด็จย่า ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์อย่างสม่ำเสมอ ได้เริ่มขยับสเต็ปการออมโดยสร้างหลักประกันความมั่นคงทางการเงิน ด้วยการออมเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารออมสินเป็นประจำทุกปี ซึ่งการออมเงินในธนาคารถือเป็นการออมที่นิยมปฏิบัติ แม้สมัยนี้จะมีทางเลือกการออมหลายประเภท หลายรูปแบบ ก็ควรเลือกที่ได้รับผลตอบแทนสูงและปลอดภัย

อันเชิญพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518

“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุน แต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด”

-🙏-

 

ต้นแบบของการมัธยัสถ์

จะเห็นได้จากของใช้ส่วนพระองค์ ที่ทรงใช้ทุกอย่างแบบรู้คุณค่าและคุ้มค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฉลองพระองค์ชุดเดิมมาเป็นเวลาหลายปี หากมีการชำรุดเล็กน้อยก็จะโปรดให้ซ่อมแซม หรือแม้แต่ฉลองพระบาทที่ทรงใช้งานจนกว่าจะชำรุด ภายในผุกร่อนหลุดลอกแล้วก็ตาม ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปคงจะทิ้งไปแล้ว แต่พระองค์กลับให้เจ้าหน้าที่นำไปซ่อมแซมเพื่อใช้งานต่อได้อีก

หรือแม้แต่ดินสอทรงงานที่ทรงใช้จนกุดสั้นต้องต่อด้าม แทนการใช้ปากกา เหตุเพราะราคาถูกและผลิตได้เองในประเทศ เมื่อเขียนผิดยังคงสามารถลบออกได้ง่าย หรือแม้แต่ยาสีพระทนต์ ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบนราบ ใช้ยาจนหยดสุดท้ายจริงๆ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่พระองค์ท่านปฏิบัติแฝงนัยยะสำคัญ การช่วยกันประหยัดทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นภาพกว้าง ก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน จากแนวคิดอันเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเอง ส่วนรวม จนไปถึงประเทศชาติ และนั่นจะทำให้โลกดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

-🙏-

 

ไม่ฟุ่มเฟือยกับเครื่องตกแต่งพระองค์

ตลอดมาเราได้เห็นเป็นประจักษ์ ว่าพระองค์ไม่เห็นความจำเป็นในการใช้สิ่งของฟุ่มเฟือย ของแพง หรือแบรนด์เนมใดๆ เลย และไม่ทรงโปรดการสวมใส่เครื่องประดับตกแต่งอื่นๆ นอกจากนาฬิกาเครื่องบอกเวลาเท่านั้น ซึ่งเป็นนาฬิการะดับธรรมดาเรียบๆ ที่ไม่ได้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ซับซ้อน หรือดีไซน์หรูหราใช้วัสดุราคาแพงแต่ประการใด ทรงเลือกนาฬิกา Seiko รุ่น Kinetic Sports 200 เมตร รหัส SKJ045P1 ตัวเรือนเป็นไทเทเนียม ให้เป็นนาฬิกาข้อพระหัตถ์คู่ใจ พระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด ถึงการใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

คำสอนของพ่อหลวงที่ให้เราพอเพียงนี้ เพื่อให้เรากำจัดความอยากส่วนเกินออกไป นำเงินที่เหลือเก็บไปต่อยอดให้งอกเงยเพื่ออนาคตของเราจะดีกว่า

-🙏-

 

เสวยอาหารธรรมดาแบบสามัญ

พ่อหลวง ทรงเสวยพระกระยาหารธรรมดาแบบสามัญ เช่นเดียวกับประชาชนของพระองค์บริโภคกันทุกวัน ไม่ได้เป็นเมนูหรูหราวิเศษเลิศเลออย่างที่ทุกคนคาดคิด พระกระยาหารโปรดของพระองค์จะเน้นผักหลากหลาย อันได้แก่ผัดผักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผัดคะน้า ผัดถั่วงอก หรือผัดถั่วลันเตา พระองค์เป็นต้นแบบให้พวกเราทั้งเรื่องของการอยู่ง่าย ความพอดี พอเพียง พออิ่ม แต่ต้องได้คุณประโยชน์จากสารอาหารครบถ้วน

อัญเชิญพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

“คำว่าพอเพียงความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง”

-🙏-

 

บัญชีครัวเรือน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดของพ่อหลวง ที่ทรงริเริ่มที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ด้วยการทำบัญชีครัวเรือน เป็นการบันทึกรายรับ-รายจ่าย ที่เกิดขึ้นในครัวเรือน จะเป็นการช่วยให้เห็นภาพรวมว่า ครอบครัวมีรายได้-รายจ่ายอย่างไร หรือมีเงินคงเหลือมากน้อยแค่ไหน เป็นการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน และได้มีการประมาณการของการใช้จ่ายในแต่ละวันได้โดยไม่ประมาท ถือเป็นการตั้งรับอย่างชาญฉลาด

ดังพระราชดำรัส เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502

“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

-🙏-

 

มีกินมีใช้ ไม่หรูหราก็ได้ 

เมื่อเราไม่ติดความหรูหรา ก็จะไม่ยึดติดความฟุ่มเฟือย และการใช้เงินที่เกินตัวเกินกำลัง แต่การประหยัดอดออมนั้น ก็ต้องอยู่ในความพอประมาณ ไม่เบียดเบียนตัวเองจนเกินไป และไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไร้เหตุผล เรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง ไม่มากไปไม่น้อยไป หากสุดโต่งอาจเกิดผลเสียได้

ดังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540

“พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ”

-🙏-

 

นำเงินออมมาลงทุน

เพื่อประโยชน์สุขปวงประชา

เรียกว่าเป็นการออมที่ให้เกิดประโยชน์งอกงาม พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงนำเงินที่ออมมาลงทุนเกิดเป็นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงประชา ด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์เวลานั้น 32,866 บาท อันเกิดจากการที่เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ และมีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังของประเทศในด้านเกษตรกรรม

พระองค์ได้ใช้พื้นที่เขตพระราชฐานที่ประทับ ดำเนินงานเพื่อศึกษา ทดลอง และวิจัย หาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติตามได้ดี ทรงพระราชทานพันธ์ุปลา พันธ์ุพืช พันธ์ุข้าว และโคนม จนโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรไทย และไม่เสียดุลการค้าจากต่างประเทศอีกด้วย พระองค์ทรงเป็นพ่อหลวงแห่งแผ่นดิน ที่พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือราษฎร ทรงเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างแท้จริง เป็นต้นแบบสูงสุดของการให้ เช่นเดียวกันกับในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ทำเอาผู้คนมากมายลำบากยากเข็ญไปทั่ว คนที่มีกำลังมากกว่าทั้งด้านการเงินและสติปัญญา ต่างก็เอื้อเฟือแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันตามรอยพ่อ

-🙏-

 

ไม่มีหนี้ ชีวิตเป็นสุข

แน่นอนว่าอานิสงค์ของการประหยัดและออมเงินนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเพียงแค่ตัวเราเพียงอย่างเดียว และทำให้เราไม่ประมาทตกอยู่ในสภาวะกดดันในวันหนึ่ง หากแต่เรายังมีครอบครัวที่ต้องดูแล การออมจึงเป็นหลักประกันของครอบครัวได้อีกด้วย ให้มีเงินเหลือเก็บในยามฉุกเฉินมากขึ้น และยังสามารถนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยได้อีก สำคัญชีวิตไม่ติดลบจากการเป็นหนี้สิน จากการสร้างหนี้เพื่อการใช้จ่ายที่เกินตัว พ่อหลวงได้ให้มรดกทางปัญญากับพวกเราทุกคน ควรน้อมเกล้านำเอาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลจริง อันจะนำความสุขและความเจริญมาสู่ชีวิตของเราได้ แถมยังสร้างความสุขง่ายๆ อย่างพอเพียงอีกด้วย

ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2521

“…การประหยัด เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ ขอให้คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการประหยัดนี้ให้มาก

การประหยัดนี้ ควบคู่ไปกับหลักการพออยู่ พอกิน พอใช้ จึงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตนตามเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้…”

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด