TOP

Pride Month เดือนแห่งการรำลึกถึง ‘มาร์ช่า พี จอห์นสัน’ ควีนผู้เป็นตำนานสร้างแรงบันดาลใจให้ชาว LGBTQ+

ย้อนรำลึกครบรอบ 52 ปี เหตุจลาจลสโตนวอลล์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ยกให้เดือนมิถุนายน เป็นเดือน Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศอันเต็มไปด้วยสีสัน หรือเรียกสั้นๆ เพื่อนๆ กลุ่มนี้ว่า LGBTQ+ ที่รวมถึง Lesbian (เลสเบี้ยน) ผู้หญิงที่รักผู้หญิง, Gay (เกย์) ผู้ชายที่รักผู้ชาย, Bisexual (ไบเซ็กชวล) ความรักของชายหรือหญิงกับเพศเดียวกัน หรือแม้แต่เพศตรงข้าม, Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) กลุ่มที่เปลี่ยนเพศของตัวเอง ไปเป็นเพศตรงข้าม หรือแม้แต่ Queer (เควียร์) ที่ไม่จำกัดเพศใดๆ โดยไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ เมื่อเดือนมิถุนายนมาถึง กลุ่ม LGBTQ+ หรือชาวหลากหลายทางเพศจากทั่วโลก ต่างมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ทั้งการเดินขบวนพาเหรดและการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจ

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียของบุคคลผู้นำและอีกหลายชีวิต ที่ทำให้เสียงของชาว LGBTQ+ ดังขึ้นกว่าเดิมในวันนี้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของ Pride Month นั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่โลกไม่ลืม!! วันที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรม เพื่อสิทธิความเสมอภาคและเสรีภาพ อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก อะราวด์พาย้อนเวลากลับไปก่อนการกำเนิด Pride Month ราวช่วงทศวรรษที่ 1960s-1970s ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เวลานั้นกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ตำรวจได้มีการออกกฎหมาย ห้ามไม่ให้ประชาชนแต่งกายผิดกับเพศสภาพ รวมถึงห้ามมีการเปิดให้บริการบาร์เกย์ ชาวเกย์ในนิวยอร์กต้องปกปิดตัวตนจากสังคม เพราะกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน มีข้อห้ามมากมายที่ส่งผลให้ชาวหลากหลายทางเพศถูกกดดัน ตำรวจมักบุกบาร์เกย์เพื่อจับกุมทำร้ายร่างกาย แม้พวกเขาหรือเธอจะไม่ได้ขัดขืนหรือหนีการจับกุมก็ตาม และถูกใช้ถ้อยคำหยาบคายลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะชาวผิวดำมักโดนเหยียด และถูกมองว่าเป็นชนชั้นล่างของสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะถ้าคนผิวดำที่เป็นชายข้ามเพศ หรือที่เรียกว่าทรานส์ด้วยแล้ว ดูเหมือนจะยิ่งผิดที่ผิดทางมากขึ้น จากสังคมอันโหดร้ายในเวลานั้น

มาร์ชา พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) นักเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง องค์กรสตาร์ (Street Transvestite Action Revolutionaries-STAR) ร่วมกับเพื่อนของเธอ ซิลเวีย ริเวร่า (Sylvia Rivera) เพื่อช่วยเหลือชาว LGBTQ+ นับว่าเป็นองค์กรแรกที่จัดตั้งขึ้นโดยชายข้ามเพศผิวดำ อันสะท้อนใจลึกๆ ถึงหัวใจของแดรกควีนผู้นี้ ก่อนที่เธอจะได้รับการยกย่องให้เป็นควีนตัวแม่ของเหล่าชาว LGBTQ+ หลังทิ้งบ้านเกิดเพื่อตามหาความฝันในนิวยอร์ก มหานครอันศิวิไลซ์ แต่กลับต้องพบความจริงที่สวนทาง

มาร์ชาชายหนุ่มข้ามเพศผิวดำที่มีหัวใจหญิงเหล็ก แม้จะมีชีวิตยากลำบากจากการถูกเหยียดหยามทางสังคม เธอกลับพบความสุขเล็กๆ ที่ได้แต่งตัวด้วยอาภรณ์ชุดเดรสสีสันฉูดฉาด สวมใส่รองเท้าส้นสูง และสวมมงกุฎดอกไม้เครื่องหัวแน่นๆ ที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเธอ และมักไปสังสรรค์ปลดปล่อยตัวตนกับเพื่อนๆ หลากหลายทางเพศ ณ บาร์เกย์ชื่อดังย่านกรีนิชวิลเลจ สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) ในนิวยอร์กสมัยนั้น

แม้ว่ามาร์ชาจะเดินหน้าเพื่อเป็นกระบอกเสียง เรียกร้องสิทธิของชาวหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องหลายปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในปี ค.ศ. 1992 การเสียชีวิตที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำ ถูกเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) นำไปสร้างเป็นสารคดีชื่อ ชีวิตและความตายของ มาร์ชา พี. จอห์นสัน (The Death and Life of Marsha P. Johnson) เพื่อตั้งคำถามกับคดีเมื่อปี ค.ศ. 1992 อันน่ากังขา เรื่องราวและชื่อเสียงจากการต่อสู้เพื่อชาว LGBTQ+ ของมาร์ชา ได้กลายเป็นตำนานที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง องค์กรมาร์ชา พี. จอห์นสัน เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเพศทางเลือกต่อไป จากนั้นในปี ค.ศ. 2020 แอนดรูวด์ คูโอโม (Andrew Cuomo) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสวนสาธารณะย่านบรูคลิน จากสวนอีสต์ริเวอร์สเตทปาร์ค (East River State Park) ให้เป็นชื่อ “สวนมาร์ชา พี. จอห์นสัน” เพื่อเป็นเกียรติแด่มาร์ชา และจากการเปิดเผยของเว็บไซต์ theguardian ได้มีการเตรียมการสร้างอนุสาวรีย์ของ มาร์ช่า พี. จอห์นสัน (Marsha P. Johnson) และ ซิลเวีย ริเวร่า (Sylvia Rivera) ซึ่งถือได้ว่าเป็นอนุสาวรีย์แรกของโลก ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักเรียกร้องสิทธิรุ่นบุกเบิก กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศอีกด้วย

มาร์ช่า พี จอห์นสัน ยังเป็นส่วนหนึ่งของ 100 Women of the Year หนึ่งในรายชื่อของผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ผ่านมา ของนิตยสาร TIME จากบุคคลแห่งปี ในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ยกย่องผู้หญิง เฟ้นคัดเลือกผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญด้านต่างๆ ทั้งการเคลื่อนไหวในสังคมหรือวัฒนธรรม ที่ได้รับการเสนอชื่อกว่า 600 คนทั่วโลก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของขบวนที่เรียกว่า ไพรด์ พาเหรด (LGBTQ+ Pride Parade) เป็นประจำทุกปี เมื่อถึงเดือน Pride Month จากขบวนพาเหรดที่เริ่มต้นมาจากการประท้วง และเรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในอดีต ได้พัฒนามาเป็นขบวนพาเหรดที่เต็มไปด้วยสีสัน และความคิดสร้างสรรค์อันทรงพลัง ‘ธงสีรุ้ง’ ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง ความแตกต่าง ความเท่าเทียม ความฝัน ความหวัง และการเดินทางค้นหา รวมถึงการต่อสู้ที่ยังไม่จบสิ้น ธงหลากสีนี้ แฝงความหมายอันลึกซึ้งในแต่ละสีสัน สื่อสะท้อนถึงธงผืนเดียวกัน หลอมรวมมนุษย์ที่หลากหลายให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ภายใต้เฉดสีทั้ง 6 สายรุ้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติบนท้องฟ้า และสร้างมิติสีสันอันงดงาม อินสไปร์มาอยู่บนผืนผ้าเป็นสื่อเชิงสัญลักษณ์ถึงวิถีทางเพศ รวมถึงเพศสภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ไม่ควรถูกจำกัดความเป็นมนุษย์ว่าแตกต่าง

สีแดง สื่อถึงพลังของการต่อสู้ หรือ ชีวิต

สีส้ม สื่อถึงการเยียวยา

สีเหลือง สื่อถึงแสงอาทิตย์แห่งความหวัง

สีเขียว สื่อถึงธรรมชาติอันงดงาม

สีน้ำเงิน สื่อถึงศิลปะ ความผสานกลมกลืน

สีม่วง สื่อถึงจิตวิญญาณของ LGBTQ+

ธงสีรุ้ง…โบกสะบัดครั้งแรกในขบวนพาเหรด Gay Freedom Pride Parade ที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อปี ค.ศ. 1978 รังสรรค์โดย กิลเบิร์ต เบเคอร์ (Gilbert Baker) ต้นแบบของงานเกย์ไพรด์ในปัจจุบัน ที่ธงมี 8 สี ก่อนจะลดเหลือเพียง 6 สีในปัจจุบัน นักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อชาว LGBTQ+ ผู้ออกแบบธงสีรุ้ง ยังได้เย็บธงสีรุ้งความยาวถึงหนึ่งไมล์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจ ต่อความกล้าหาญของเหล่า LGBTQ+ ต้นแบบรุ่นบุกเบิก ที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยใจอันเปี่ยมไปด้วยพลัง การประท้วงที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนจากเหตุการณ์ Stonewall Riot เพียงเพื่อให้โลกยอมรับมอบความเท่าเทียมทางสังคม และที่ยืนในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกับทุกคน อย่างที่พวกเราไม่มีวันลืม!
——————————————-

ที่มา :

https://www.nytimes.com/2019/05/29/arts/transgender-monument-stonewall.html

https://www.nytimes.com/interactive/2018/obituaries/overlooked-marsha-p-johnson.html

https://edition.cnn.com/2019/06/26/us/marsha-p-johnson-biography/index.html

https://time.com/5793632/marsha-p-johnson-100-women-of-the-year/

https://parks.ny.gov/parks/155/details.aspx

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด