ภาพกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในความทรงจำไม่วันเลือนของคุณ เป็นยังไง?

238 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือ ปัจจุบัน คือ กรุงเทพมหานคร นั่นเอง มาบรรจบครบรอบ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ภายหลังที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1) ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ได้ทรงย้ายพระนครจากฝั่งตะวันตกมาฝั่งตะวันออก และมีพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ในวันที่ 21 เมษายน ในปีเดียวกัน พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการณ์พระราชพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 การยกเสาหลักเมืองนั้นเป็นคติพราหมณ์เรียกว่า พระราชพิธี “พระราชพิธีนครฐาน” เพื่อให้เป็นที่สำหรับเทวดาผู้มีหน้าที่รักษาเมือง สิงสถิตคอยป้องกันภยันตราย และเป็นหลักชัยที่ทำให้ประชาชนเกิดความร่มเย็นเจริญรุ่งเรืองสถาพร จึงเลือกชัยภูมิที่ตั้งเสาหลักเมือง บริเวณใจกลางพระนคร เสาหลักเมืองรัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ สูง 187 นิ้ว ประกับภายนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ เสาส่วนที่อยู่บนพื้นดินสูง 108 นิ้ว ปิดทอง ปลายเสาหัวเม็ดรูปดอกบัวตูม ภายในกลวงเป็นช่องสำหรับระบุดวงชะตาพระนคร ตัวศาลเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ ด้วยเ้หตุนี้เอง จึงทำให้เสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร มีเสาหลักเมือง 2 ต้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ที่มา: กระทรวงวัฒนธรรม

เครดิตภาพปก: หัสชัย บุญเนือง