TOP

สถานการณ์โควิด-19 เล่าเรื่องราววิถีปกติแนวใหม่อย่างสร้างสรรค์ ผ่านตัวเลขที่สื่อความหมายจากรอบโลก

แม้ในประวัติศาสตร์ มนุษย์เราจะผ่านวิกฤตโรคระบาดมาแล้วหลายครั้ง แต่คงไม่มีครั้งไหนที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สังคม และโลก ได้มากเท่ากับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ แต่ในวิกฤตก็มักมีโอกาสใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้การปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ แม้มันจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แต่นั่นก็จะกลายเป็นวิถีปกติแนวใหม่นับจากนี้ไป AROUND รวบรวมบางเรื่องราวของสถานการณ์รอบโลก ที่เปลี่ยนในช่วงระหว่างสถานการณ์โควิด-19 อันสัมพันธ์กับตัวเลขที่สื่อความหมาย

8

ฟุตคือความกว้างของแต่ละช่องทางเดินภายใน Parc de la Distance สวนสาธารณะที่ได้ไอเดียการออกแบบแปลนจาก Social Distancing ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ใหม่ หรือ New Normal สำหรับคนในสังคมปัจจุบัน โดยเป็นผลงานของภูมิสถาปนิก และนักออกแบบภายในสัญชาติออสเตรีย Studio Precht ซึ่งดีไซน์ออกมาในลักษณะใกล้เคียงกับเขาวงกต ให้คนที่เข้ามาสามารถเดินอยู่ภายในเลนของตัวเองได้อย่างอิสระ ตั้งแต่ทางเข้าจนถึงทางออก ล้อมรอบด้วยกำแพงต้นไม้สูงเกือบ 3 ฟุต แต่ละช่องทางเดิน มีระยะทางยาวเกือบ 2,000 ฟุต หรือราวๆ เกือบ 1 กิโลเมตร รวมระยะเวลาในการเดินประมาณ 20 นาที

 

6061

คือซีรีส์ของอลูมิเนียม ที่นำมาใช้สร้างสรรค์ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Katalis EV.500 สร้างสรรค์โดย Katalis สตูดิโอออกแบบและสร้างแบรนด์ จากกรุงจาการ์ต้า ซึ่งใช้เวลาจากการกักตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้เกิดประโยชน์โดยการออกแบบและพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดีไซน์เท่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องบินขับไล่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คันนี้ แผงหน้าปัดถูกออกแบบให้ดูย้อนยุค ผสมผสานกลิ่นอายของเครื่องบินรบญี่ปุ่น ปราศจากมลภาวะที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

11

คือจำนวน ห้อง Little Nap โรงแรมสุดหรู ให้ผู้ที่สนใจได้ใช้เวลากักตัว เพราะตั้งหลบซ่อนอยู่กลางป่า ในเขตซีหู (Xihu) ไม่ไกลจากแม่น้ำเฉียนถัง (Qiantang) ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ออกแบบโดย Say Architects ให้ทุกห้องมองเห็นวิวที่สวยงามของป่าเขียวครึ้ม ในมุมที่ต่างกันออกไป ซึ่งได้ทำการรีโนเวทตึกอิฐมอญเก่าให้กลายเป็นโรงแรมขนาด 2 ชั้นครึ่ง พร้อมคงความคลาสสิกด้วยการเผยให้เห็นอิฐสีแดงของเดิม ควบคู่ไปกับหลังคาแบบอาคารจีนโบราณ เล่นกับความโค้งมนด้วยซุ้มประตูโค้งบริเวณหน้าต่างกับส่วนของล๊อบบี้ เน้นใช้โทนโมโนโครมสีขาวและน้ำตาลเข้มเป็นหลัก ผสมผสานกลิ่นอาย Mid-century Modern เข้ากับความเป็นตะวันออกได้อย่างลงตัว

 

2001

คือปี ค.ศ. ที่ พิพิธภัณฑ์จิบลิ เปิดประตูให้ผู้ชมเข้าเป็นครั้งแรก ตั้งอยู่ที่เมืองมิตากะ ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ อาจารย์ฮายาโอะ มิยาซากิ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ เป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์นี้ด้วยตัวเอง สำหรับราคาในการเข้าชมจะเริ่มต้นที่ 100 – 1,000 เยน แต่ปัจจุบันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจึงปรับรูปแบบการให้บริการ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปชมในรูปแบบออนไลน์ได้แล้ว

 

104.7 

ล้าน คือจำนวนยอดดาวน์โหลด TikTok ทั่วโลกทั้งบน App Store และ Google Play Store ในเดือนมกราคม ซึ่งทำการสำรวจโดย Sensor Tower มีต้นกำเนิดจากความบันเทิงของคลิปเต้นประกอบเพลง ลิปซิงค์ ไปจนถึงการดูเอท และอื่นๆ มีความยาวเริ่มต้นที่ 15 วินาที และจากสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาด ที่ทำให้ผู้คนต่างต้องรักษาระยะห่าง และกักตัวอยู่กับบ้าน จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความบันเทิงออนไลน์ กลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมใหม่ และสำหรับประเทศไทย แอปพลิเคชันนี้ใช้เวลาเพียง 1 ปี สามารถพัฒนาตลาดและสร้างฐานผู้ใช้ในไทย จนติด 1 ใน 3 ประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

4

คือจำนวนครั้งในการขึ้นแบบเพื่อสร้างสรรค์ชุด May Queen จากภาพยนตร์ระทึกขวัญ เกี่ยวกับลัทธินอกศาสนาในสวีเดนอย่าง Midsommar ซึ่งเข้าฉายเมื่อปีที่แล้ว โดยชุดดอกไม้ในฉากสุดท้ายของหนังที่ Florence Pugh เป็นผู้สวมใส่นี้ เป็นฝีมือการออกแบบของ Andrea Flesch ทำจากดอกไม้ปลอมติดกาวกว่าหมื่นชิ้น ใช้เวลาทำนานกว่า 2 เดือน และล่าสุด A24 สตูดิโอผู้สร้าง จัดจำหน่ายภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์แนวอินดี้จากอเมริกา ได้เปิดประมูลชุดเสื้อผ้าจากผลงานของบริษัท โดยมีชุดดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในนั้น เพื่อนำรายได้จากการประมูลไปบริจาคให้แก่มูลนิธิจัดหาอาหารที่มีชื่อว่า FDNY Foundation, Food Bank for New York City

 

****************

เรื่องโดย : จักรีรัตน์ อัสดรวุฒิไกร

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด