TOP

รู้จักโครงการ 5 อุโมงยักษ์รอบกรุง ป้องกันชาวกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม

นอกจากอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์ สาย 2, อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน, อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ที่ดำเนินการก่อสร้างและเปิดใช้ไปแล้วนั้น กรุงเทพมหานคร ยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มเติมอีก 5 แห่ง มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ อีกทั้งยังช่วยลดระดับน้ำในคลองระบายน้ำสายสำคัญให้มีระดับต่ำได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลอง โดยปัจจุบันอุโมงค์ยักษ์อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

 

1. อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

เริ่มจากบริเวณบึงรับน้ำหนองบอน ลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้าง ถนนอุดมสุข ถนนสุขุมวิท 101/1 คลองบางอ้อ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่บริษัท ไม้อัดไทย จำกัด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง โดยคาดว่าอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน จะแล้วเสร็จปี 2564

 

2. อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากอุโมงค์แห่งนี้ คือ กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี โดยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองทวีวัฒนา ให้สามารถระบายน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี แล้วระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย แม่น้ำท่าจีน และไหลลงสู่อ่าวไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

 

3. อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ

และคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 อุโมงค์ระบายน้ำแห่งนี้ ดำเนินการก่อสร้างเพื่อขยายความยาวอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบเดิม ออกไปตามแนวคลองแสนแสบ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บางส่วนของเขตบางกะปิ เขตสะพานสูง เขตบึงกุ่ม และเขตคันนายาว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.60 เมตร ยาว 3.80 กิโลเมตร ก่อสร้างอาคารรับน้ำเข้าสู่อุโมงค์บริเวณปากซอยลาดพร้าว 130 บริเวณคลองจั่น บริเวณคลองเจ้าคุณสิงห์ และ
ก่อสร้างปล่องอุโมงค์ เพื่อเชื่อมต่อกับอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบเดิม ช่วยระบายน้ำผ่านอุโมงค์ในอัตรา 30 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีนี้ (พ.ศ. 2563) และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

 

4. อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

เริ่มจากคลองบางบัวลอดใต้คลองวัดหลักสี่ คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก ถนนวงศ์สว่าง ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้สะพานพระราม 7 โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร
ได้แก่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และจตุจักร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

 

5. อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย

อุโมงค์แห่งนี้มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์คือ กรุงเทพฯฝั่งธนบุรี รับน้ำจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ผ่านไปคลองภาษีเจริญ และระบายน้ำลงสู่โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัย ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีมีมติให้กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำแห่งนี้ ด้วยแผนงานโครงการทั้งสิ้น 7 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

อุโมงค์ระบายน้ำคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ให้หมดไปได้ ทว่าต้องพัฒนาระบบต่างๆ ควบคู่กันไปในหลายด้าน อาทิ การเร่งลำเลียงน้ำให้ระบายได้รวดเร็ว แก้ปัญหาบ้านเรือนรุกล้ำกีดขวางทางน้ำ แก้ปัญหาขยะสิ่งปฏิกูลอุดตันท่อระบายน้ำ ซึ่ง กทม. กำลังดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

 

*************************

เรื่องโดย: อโนชา ทองชัย

ที่มา: กรุงเทพมหานคร / BKK NEWS issue270

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด