TOP

สร้างกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งสิ่งแวดล้อม มหานครแห่งเอเชีย

เมื่อฤดูกาลที่อากาศร้อนที่สุดของประเทศไทยเวียนมาถึง ดูเหมือนว่าอากาศที่ร้อนจัดจะกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงภาวะโลกร้อน และปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดภาพชัดเจนขึ้นอีกครั้งในรอบปี ทว่าในมุมมองของ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้นำคณะทำงานของกรุงเทพมหานคร ที่มีความมุ่งมั่นต้องการสร้าง ‘กรุงเทพฯ เมืองแห่งสิ่งแวดล้อม มหานครแห่งเอเชีย’ ให้เกิดขึ้นจริง การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจึงต้องไม่ใช่แค่ปฏิบัติการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นแผนงานระยะยาวที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีกในปีนี้

 

หากมองย้อนไปในปี พ.ศ. 2562 กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของไทยที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง นอกจากอากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้น ตามภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤตค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในอากาศเกินมาตรฐาน ซึ่ง กทม. ได้ออกมาตรการหลากหลายทั้งเชิงรับและเชิงรุก เพื่อตั้งมั่นรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ให้ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี และในปี พ.ศ. 2563 กทม. ยังคงเดินหน้าในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมต่อไป โดยครอบคลุมทั้งการจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การควบคุมมลภาวะทางอากาศและเสียง รวมไปถึงการฟื้นฟูป่าชายเลนชายทะเลบางขุนเทียน ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) และปี พ.ศ. 2563 กทม.ยังคงเดินหน้าในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม โดยครอบคลุมทั้งการจัดการขยะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ควบคุมมลภาวะทางอากาศและเสียง รวมไปถึงฟื้นฟูป่าชายเลนชายทะเลบางขุนเทียน ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

 

‘ทิ้งเป็นที่เก็บเป็นเวลา’ นโยบายสำคัญในการจัดการขยะ

“กทม.ได้พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการภายใต้โครงการ ‘ทิ้งเป็นที่เก็บเป็นเวลา’ ด้วยการกำหนดจุดทิ้งขยะบนถนนสายหลัก สายรอง ชุมชน และริมคลอง โดยติดตั้งป้ายแสดงรายละเอียดวัน เวลาทิ้งขยะ และเวลาเข้าจัดเก็บขยะ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ในการทิ้งขยะ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างวินัยในการทิ้งขยะของประชาชน ลดปัญหาขยะตกค้างจากการทิ้งขยะนอกจุดและนอกเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะผู้ร่วมตรวจงาน ร่วมรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย”

 

‘ปี 2575 กรุงเทพฯ ปลอดขยะ 100%’
เป็นจริงได้ด้วยแนวคิด Zero Waste

“เรามุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิดตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุด และกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีประกาศ Roadmap การจัดการขยะและของเสียอันตรายของประเทศ เป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศระยะสั้น (พ.ศ. 2559-2564) และแผนปฏิบัติการ ‘ประเทศไทยไร้ขยะ’ ตามแนวทาง ‘ประชารัฐ’ โดยกรุงเทพมหานครได้ส่งเสริมการลดและคัดแยกมูลฝอย ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และพัฒนาให้เป็นต้นแบบการลดและคัดแยกมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ 50 เขต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น”

 

กทม. สู้โลกร้อนด้วยการเร่งเพิ่ม
พื้นที่สีเขียวทั่วกรุง

“กทม. ได้เร่งรัดการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งในรูปแบบของสวนสาธารณะ และการเชิญชวนทุกภาคส่วนปลูกต้นไม้ในอาคารและสถานที่ต่างๆ ซึ่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร นอกจากเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้บ้านเมืองมีความสวยงามร่มเย็นแล้ว การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ ยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คืนออกซิเจนให้กับเมือง ช่วยลดฝุ่นละอองและลดการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2563-2565 กทม. จะมีสวนสาธารณะ พื้นที่และทางเท้าสีเขียวเกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด 11 แห่ง ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการไปถึงการเป็น ‘กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว’ ในโครงการ Green Bangkok 2030 ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้”

 

มาตรการเข้มควบคุมคุณภาพ
อากาศและเสียง

“กทม.ได้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศและเสียงในกรุงเทพฯ ด้วย สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศจำนวน 50 สถานี รถตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 4 คัน รถตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียงจำนวน 1 คัน ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินไปตามยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2560–2564 กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2564 ในมิติการลดปริมาณมลพิษ ได้แก่ สารเบนซีนที่มีความเข้มข้นในบรรยากาศลดลงของกรุงเทพฯไม่เกิน 3.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมิติผลลัพธ์ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ค่าความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็กในบรรยากาศ ไม่เกิน 25.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และระดับเสียงริมถนน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75”

 

ฟื้นฟูป่าชายเลนชายทะเลบางขุนเทียน

“กทม. มีพื้นที่ป่าชายเลนแห่งเดียว คือ บริเวณหมู่ที่ 9 และ 10 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ในปี พ.ศ. 2536 ระบุว่าพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียน เหลืออยู่ประมาณ 1,250 ไร่ และปี พ.ศ. 2539 เหลืออยู่ประมาณ 1,235 ไร่ จากอดีตในปี พ.ศ. 2530 ที่เคยมีถึง 11,925 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่พียง 200 ไร่ กระจายอยู่ตามชายฝั่ง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งเราเล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาที่เกิดขึ้นของพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนเป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนใน การที่จะรักษาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และคงอยู่ต่อไป ด้วยพื้นที่ป่าชายเลนมีประโยชน์เป็นอย่างมาก และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมระบบนิเวศทางบกอาหาร แหล่งวางไข่และอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ และยังเป็นแหล่งยังชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นด้วยการทำประมง นอกจากนี้คือการทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเลและพายุ ดักกรองสิ่งปฏิกูลและสารก่อมลพิษต่างๆ ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล

 

เดินหน้าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
อย่างมีประสิทธิภาพ

“การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญในลำดับต้น หากขาดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีประสิทธิภาพแล้ว จะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น เราต้องเดินหน้าโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนา การลงมือปฏิบัติภารกิจ ตลอดจนการรณรงค์ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เพื่อใช้เป็นสื่อกลางเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมและช่วยกันรักษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร ให้เป็นมหานครแห่งความร่มรื่น สวยงาม สะอาดปลอดภัย และน่าอยู่สำหรับทุกคน”

 

*******************

ที่มา: กรุงเทพมหานคร, BKK NEWS issue 268

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด