TOP

กทม. สั่งปิด 26 สถานที่เสี่ยง เริ่ม 22 มี.ค. -12 เม.ย. 63 เว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารเฉพาะหิ้วกลับบ้าน

21 มีนาคม 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ มีใจความว่า “อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ได้ฟังข้อมูลแนวโน้มตัวเลขผู้ที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต จากการวิเคราะห์ของคณะอาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศหลายๆ แห่ง ชี้ให้เห็นว่าหากยังไม่มีมาตรการเข้มข้นมาสกัดการแพร่ระบาดของโรคในเร็ววันนี้ จะมีตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากมายจนไม่สามารถรับมือได้ ขณะนี้หากท่านนั่งใกล้ชิดกับผู้อื่นก็อาจได้รับเชื้อและแพร่ไปยังคนที่ท่านรัก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อดังกล่าว

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 กรุงเทพมหานคร จึงได้ออกคำสั่งปิด 8 สถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ยังมีอีกหลายสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออย่างมาก คือ ร้านอาหาร สถานที่ทำงาน ซึ่งมีผู้คนรวมตัวกันจำนวนมาก และมีการพูดคุยกันในระยะที่ใกล้ชิด และเป็นระยะเวลานาน จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมมือกันป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 และการควบคุมโรคดำเนินไปด้วยความมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกสถานที่เว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค รวมถึงร้านจำหน่ายอาหารต่างๆ เปิดจำหน่ายอาหารแบบซื้อกลับไปบ้านเท่านั้น สำหรับห้างสรรพสินค้าและตลาดให้เปิดได้เฉพาะในส่วนของการจำหน่ายอาหารและสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันเท่านั้น

ทั้งนี้ ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก และกักตุนสินค้ากัน ยังสามารถซื้อของใช้ที่จำเป็นได้อย่างพอเพียง นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศปิดสถานที่อื่นๆ ที่เป็นแหล่งรวมตัวของคนจำนวนมาก ที่มาอยู่รวมตัวกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้อำนวยการเขตคอยควบคุม กำกับ ดูแล ทุกสถานที่ให้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้นและจริงจัง หากสถานที่ใดไม่ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ให้รายงานมาโดยตรงเพื่อที่จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อประจำกรุงเทพมหานคร พิจารณาปิดสถานที่นั้นๆ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติทันที

ส่วน รถไฟฟ้า BTS, BRT และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ รวมถึงล้อ ราง เรือ ขอความร่วมมือให้ลดจำนวนผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้ใช้บริการ เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งประชาชนอาจต้องใช้เวลารอรถนานขึ้นแต่เพื่อความปลอดภัย และหวังว่าผู้ประกอบการขนส่งมวลชนอื่นๆ จะตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการแพร่เชื้อ และดำเนินการในแนวทางเดียวกันนี้เช่นเดียวกัน โดยคำสั่งและมาตรการทั้งหมดเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ 22 มี.ค. 63 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า “ส่วนสถานที่ทำงานที่สามารถให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ หรือหยุดงานเป็นการชั่วคราว รวมถึงขอให้งดจัดกิจกรรมต่างๆ ที่มีผู้คนมารวมตัวกันจำนวนมาก งดร่วมกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ตลอดจนงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ดังนั้น ขอให้ทุกคนเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือ และไม่ไปยังสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครทุกฝ่าย ได้ทำงานอย่างเต็มที่และเต็มกำลังในการคัดกรอง รักษาผู้ป่วย และทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะทุกวัน การใช้อำนาจหน้าที่ในการปิดสถานที่ต่างๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่อยากให้ทุกคนคำนึงถึงคุณภาพของการมีชีวิตเหนือสิ่งอื่นใด การอยู่บ้านเป็นการช่วยชาติป้องกันการคุกคามของโควิด – 19 เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

ประกาศปิด 26 สถานที่เสี่ยงชั่วคราว ป้องกันโควิด – 19

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามความมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 5/63 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 จึงให้ยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 7 มีนาคม 2563 และ ให้ปิดสถานที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 ดังต่อไปนี้

1. ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น และ ร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)

2. ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

3. พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ

4. ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต)

5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม

6. สถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

7. สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

8. สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม

9. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

10. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

11. สระว่ายน้ำ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

12. สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่

13. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ

15. สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา

16. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม

17. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)

18. สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

19. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

20. สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร

21. โรงมหรสพ (โรงภาพยนต์ โรงละคร โรงมหรสพ)

22. สถานที่ออกกำลังกาย

23. สถานบริการ และสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

24. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

25. สนามกีฬา

26. สนามม้า

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรค (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2563

ลงชื่อ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ที่มา : กรุงเทพมหานคร

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด