TOP

เตือนภัยฝุ่นตัวร้าย PM 2.5 มาแล้ว!

เพียงแค่กรุงเทพฯ เจอมวลอากาศเย็นระลอกแรกที่แผ่ลงมาปกคลุม ดูเหมือนว่าได้เกิดปัญหาฝุ่นสะสมในทันที ด้วยสภาพบรรยากาศที่ถูกกดทับ และฝุ่นไม่สามารถกระจายตัวได้ ทำให้ค่าฝุ่นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศแจ้งเตือนภัย ‘ฝุ่นพิษ PM 2.5’ ผ่านสื่อต่างๆ มาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในเมื่อปีนี้ฝุ่นพิษตัวร้าย PM 2.5 ยังคงมาเยือนเหมือนมาตามนัดทุกๆ ปี ประชาชนต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร รวมถึงต้องช่วยลดปัญหาฝุ่นอย่างไรบ้าง อีกทั้ง กทม.ในฐานะต้องดูแลกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘มหานครปลอดภัย’ มีมาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำทันที และมาตรการป้องกันในระยะยาวอะไรบ้าง ไปหาคำตอบกัน

สำหรับฝุ่น PM 2.5 จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นๆ ของบ้านเราเท่านั้น เหตุผลเพราะเป็นช่วงที่อากาศปิด เนื่องจากบ้านเรามีสภาพอากาศอุ่น แล้วมวลอากาศเย็นจากต่างประเทศแผ่เข้ามา อย่างเช่นจากจีน ทำให้เกิดเป็นหมอก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งมักก่อมลพิษที่เป็นฝุ่น PM 2.5 อยู่แล้ว โดยฝุ่นพวกนี้มีขนาดเล็กมาก แล้วก็จะลอยตัวขึ้นเมื่อเจอกับหมอก เมื่อสภาพอากาศปิด (ไม่มีลมพัด) ฝุ่นจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เราจึงเห็นอากาศตอนเช้าที่เหมือนหมอก แต่ไม่ใช่หมอก ดังนั้น อากาศที่ปิดทำให้ฝุ่นลอยตัวนิ่งอยู่กับที่ค่าฝุ่น PM 2.5 จึงเกินมาตรฐานในช่วงหน้าหนาว

 

‘ควันรถยนต์’ ต้นเหตุสำคัญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ

จากข้อมูลล่าสุดของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากควันรถยนต์ถึง 72.5% ซึ่งเมื่อทราบแหล่งกำเนิดจากรถยนต์แล้ว กทม. จึงกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน และมาตรการแก้ไขระยะยาว

ทั้งนี้ ในมาตรการระยะเร่งด่วน กทม.ได้เชิญ 23 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยมีมาตรการหลัก คือ

  • เข้มงวดการตรวจวัดควันดำรถยนต์ และมีบริการตรวจเช็คควันดำเครื่องยนต์ ฟรี!
  • เข้มงวดตรวจโรงงานที่ปล่อยควันที่ปล่องระบาย
  • ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่มีการก่อสร้าง เช่น อาคารขนาดใหญ่และรถไฟฟ้า ให้งดกิจกรรมก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่นในช่วงวิกฤตที่มีปริมาณฝุ่นสูง เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย แต่ภายในพื้นที่ปิดภายในอาคารยังสามารถทำได้
  • สถานศึกษาให้งดกิจกรรมในที่โล่งแจ้งของเด็กเล็ก จัดให้มี Safe Zone ในทุกโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กฯ และหากสถานการณ์วิกฤตมีค่าฝุ่นสูงต่อเนื่องเกิน 3 วัน จะพิจารณาให้ปิดโรงเรียนตามความเหมาะสม
  • ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง
  • เข้มงวดบุคลากร กทม. ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

นอกจากนี้ กทม.ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองครบทั้ง 50 เขตแล้ว และยังติดตั้งในบริเวณสวนสาธารณะเพิ่มอีก 20 แห่ง เพื่อให้ประชาชนที่ไปใช้พื้นที่ออกกำลังกาย ได้ทราบคุณภาพอากาศภายในสวนสาธารณะ ว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ เพราะการใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ตลอดเวลาขณะออกกำลังกาย อาจทำให้ได้ออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

 

เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านมาตรการระยะยาว

ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยมาตรการระยะยาวนั้น กทม. ก็ดำเนินการเป็นรูปธรรมชัดเจนมาแล้ว ได้แก่

  • บริการขนส่งสาธารณะที่ กทม.รับผิดชอบ คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้เปิดให้บริการแล้ว 20 สถานี และสิ้นปี พ.ศ. 2563 จะเปิดเพิ่มอีก 8 สถานี โดย กทม. มีเป้าหมายขยายโครงข่ายการบริการให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ
  • ปลูกป่าเป็น Buffer Zone เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยฟอกอากาศ โดยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กทม. ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากกว่า 5 ล้านตารางเมตร และยังคงมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไป ให้ได้อย่างน้อยปีละ 550 ไร่ทุกปี
  • เร่งออกกฎกระทรวงให้รถยนต์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานควันดำวิ่งเท่านั้น
  • พัฒนาเทคโนโลยีระบบควบคุมกล้องตรวจวัดควันดำ และรณรงค์ให้ภาคการเกษตรงดการเผา กรุงเทพฯ ต้องปลอดเขม่าควัน
  • ผลักดันผู้ประกอบการผลิตน้ำมันดีเซล ลดก๊าซกำมะถัน
  • ส่งเสริมสถานจำหน่ายน้ำมัน Euro 5 และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากฝุ่น PM 2.5

 

‘ชีวิตเปื้อนฝุ่น’ ดูแลป้องกันสุขภาพอย่างไร?

เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ได้รับผลกระทบจากการคุกคามของฝุ่นพิษ PM 2.5 แตกต่างกัน โดยเด็กและผู้สูงอายุจะมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสน้อยหรือไม่ดี เมื่อสัมผัสหรือสูดดมฝุ่น PM 2.5 ก็เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ได้มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ฯลฯ ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ดังนั้น ชีวิตเปื้อนฝุ่น PM 2.5 ควรต้องตรวจสุขภาพ โดยการตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด และตรวจระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก รวมทั้งควรตรวจตั้งแต่ตอนที่ร่างกายไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เพราะหากรอให้เกิดอาการ แสดงว่าคุณรับสัมผัสฝุ่นพิษในปริมาณที่มาก เกิดการอุดกั้นที่บริเวณปอด ทำให้ยากต่อการรักษา

หลังฝุ่นพิษ PM 2.5 บรรเทาลง เร่งฟื้นฟูร่างกายด้วยการกลับมาออกกำลังกาย outdoor สูดลมหายใจให้เต็มปอด และอย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่รับสัมผัสฝุ่นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และวิธีป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงวิกฤตฝุ่นที่ยังคงอยู่นั้น เมื่อออกนอกบ้านทุกครั้งให้ใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพราะหากฝุ่น PM 2.5 เข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจของเราแล้ว การฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมก็ยิ่งยาก เรียกว่า ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ส่วนฝุ่นร้าย PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอากาศนิ่งหรือช่วงฤดูหนาว ฉะนั้นก็จะอยู่กับเราแค่ช่วงขณะหนึ่งแล้วคลี่คลาย เมื่ออากาศหมุนเวียนไปตามธรรมชาติได้ ในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 จะยังอยู่ แต่ก็ไม่ได้เกิดการสะสมทุกวัน

จึง สามารถตรวจสอบค่าฝุ่นในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ ได้ที่ “แอปพลิเคชัน AirBkk” ของ กทม. ดาวน์โหลดได้ในสมาร์ทโฟนทุกระบบ หรือคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ bangkokairquality.com โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และเฟซบุ๊ก: กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ เพื่อดูรายงานสถานการณ์อากาศของกรุงเทพฯ ได้เช่นกัน

———————————————

เรื่อง: อโนชา ทองชัย

ที่มา: BANGKOK NEWS Issue 274

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด