TOP

เฝ้าระวัง! สารพัดโรคร้ายแรง ที่มาเยือนในหน้าฝน

เพราะช่วงนี้เป็นฤดูฝนทำให้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวฝนก็ตกหนัก เดี๋ยวแดดก็ร้อน สลับกันไปแบบนี้ตลอดฤดูกาล ดังนั้น นอกจากโรคระบาดไวรัส COVID-19 ที่ต้องรับมือกันอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้แล้ว ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ยังมีโรคอื่นๆ ที่หมุนเวียนมาพร้อมกับฤดูฝนในทุกปี เนื่องจากเชื้อโรคที่แพร่กระจายนั้น สามารถติดต่อกันได้ง่ายเวลาที่มีความชื้นในอากาศสูง มาดูกันว่า ทุกๆ ฤดูฝนคนไทยต้องเจอกับโรคอะไรบ้าง เพื่อเฝ้าระวังตั้งการ์ดป้องกันโรคเหล่านี้ โดยปลัดกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ มาบอกเล่าด้วยตัวเองในวันนี้

จริงๆ แล้วโรคที่มากับฤดูฝนมีมากทีเดียว จะมีอยู่หลายกลุ่มโรคด้วยกัน โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ กลุ่มที่สองเป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ กลุ่มที่สามเป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะ กลุ่มที่สี่เป็นโรคติดเชื้อทางบาดแผล และอีกกลุ่มคือ โรคเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูฝน

 

สารพัดโรคร้ายที่มาเยือนในฤดูฝน

สำหรับกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจที่เราเจอบ่อยๆ คือโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคปอดอักเสบด้วย ถือเป็นสองโรคยอดนิยมในฤดูฝนเลย พอฝนมาก็ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยกัน ส่วนโรคที่ยุงเป็นพาหะก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่สำคัญ โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกกันทุกปี เพราะยุงมันมากับฝนอยู่แล้ว ดังนั้น หากไม่มีการป้องกัน ไม่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก็จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคไข้เลือดออกระบาดได้ นอกจากนี้ โรคที่มากับน้ำท่วมก็ต้องระวังเช่นกัน เราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆ เวลาน้ำท่วมแล้วเป็นโรคที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรคฉี่หนู นั่นเพราะเวลาน้ำท่วมมักจะมีพวกสัตว์วิ่งอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะหนู แล้วก็ปล่อยฉี่ลงในน้ำ เวลาคนไปเดินลุยน้ำหากเป็นแผลอยู่ เชื้อโรคก็อาจเข้าทางบาดแผลทำให้เป็นโรคฉี่หนูได้

ส่วนในกลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากการไม่ระมัดระวังในการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำ ไปทำร้ายสุขภาพตัวเองได้ เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องไม่ละเลยเรื่องความสะอาด และหลักอนามัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกินร้อนช้อนส่วนตัว การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ยังคงช่วยได้มากในสถานการณ์ที่ไม่ใช่แค่โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังรวมถึงการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ ในฤดูฝนได้เป็นอย่างดีอย่าง ไข้หวัดใหญ่ มักติดต่อกันทางไอ จาม ฉะนั้นการใส่หน้ากากอนามัยจึงป้องกันได้ ส่วนการล้างมือบ่อยๆ ป้องกันได้มากมายหลายโรค เพราะมือของเราไปจับสิ่งต่างๆ ย่อมติดเชื้อโรคได้ง่ายหากมือไม่สะอาดแล้วมาขยี้ตา ก็ทำให้เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบได้

 

ป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่เป็น “โรคไข้หวัดใหญ่” ได้ง่าย

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดได้ทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่กลุ่มเสี่ยงคือเด็กทารก หรือเด็กอายุน้อยๆ เนื่องจากความชื้นของอากาศในฤดูฝน ทำให้เวลาที่เด็กๆ ไปเจอละอองฝนก็เป็นไข้หวัดได้ สิ่งเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลเด็กด้วย ส่วนความเสี่ยงของผู้สูงอายุก็มีมากเช่นกัน เนื่องจากสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่ภูมิต้านทานลดน้อยลง จึงเป็นอีกกลุ่มที่ต้องระมัดระวังมากๆ แต่ทั้งเด็กและผู้สูงอายุนอกจากเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว อาการอาจหนักถึงขั้นเป็นปอดอักเสบได้ อีกโรคหนึ่งที่ควรต้องระมัดระวังในเด็กคือ โรคมือเท้าปาก โดยสาเหตุเกิดจากการที่เด็กๆ มักหยิบโน่นนี่ไม่ระมัดระวัง หยิบอะไรได้ก็เอาเข้าปาก ฉะนั้นเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจึงมากับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งโรคมือเท้าปากมีลักษณะอาการคือ มีตุ่มใสๆ บริเวณฝ่ามือและที่เท้า บางทีขึ้นไปอยู่ในปากบริเวณลิ้นด้วย

 

กลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนถือเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทางหนึ่ง โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้ป่วยพิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยโรคอ้วน รวมถึงผู้ป่วยที่พักฟื้นในสถานพยาบาลต่างๆ ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ซึ่งสำนักอนามัยเปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้ว ที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม.

 

อาการ “ไข้หวัดใหญ่” แตกต่างจาก “โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19” อย่างไร

“ต้องยอมรับว่า ทั้งสองโรคนี้มีอาการใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างที่สามารถสังเกตได้คือ ทั้งสองโรคมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหลได้เหมือนกัน แต่โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะมีอาการอื่นร่วมด้วยคือ หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เพราะเชื้อไวรัส COVID-19 จะเข้าไปทำลายปอด ทำให้หายใจลำบาก ส่วนความรุนแรงนั้น ไข้หวัดใหญ่มักจะไม่มีโรคแทรกซ้อนอะไร แต่ว่าโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อาการแทรกซ้อนคือ ปอดอักเสบ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละคนด้วย บางคนแข็งแรงก็ทำให้อาการแสดงออกมาช้า จึงต้องระมัดระวังกันให้มากๆ แต่หากมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แนะนำว่า…พบแพทย์ดีที่สุดค่ะ”

 

ดูแลสุขภาพอย่างไร…ให้ปลอดภัยจากโรคร้ายที่มาเยือนในหน้าฝน

เรื่องแรกคือ อยากแนะนำให้ทุกคนเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ดูแลสุขภาพ กินอาหารให้ครบห้าหมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้ ที่สำคัญคือ ระวังการสวมใส่เสื้อผ้าเปียกชื้น หากโดนฝนเปียกก็ให้รีบเปลี่ยน เพราะความชื้นทำให้ร่างกายเป็นไข้หวัดได้ ส่วนการรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ก็ต้องดูแลให้สะอาด กินอาหารปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ น้ำก็ต้องระวังเช่นกันค่ะ ดื่มน้ำที่สะอาด น้ำต้มก็ได้ อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องภาชนะที่ใช้ นอกจากกินร้อนช้อนส่วนตัวแล้ว ต้องระวังเรื่องความสะอาดด้วย

กทม. รณรงค์บ่อยๆ เรื่องการล้างมือ เพราะจะทำให้เชื้อโรคหายไปจากมือเรา สร้างสุขอนามัยในบ้าน ถังขยะต่างๆ ควรมีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค อย่างไรก็ตาม กทม. พยายามดูแลในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มากที่สุด ในส่วนของการเจ็บไข้ได้ป่วย กทม. มีความพร้อมในเรื่องของบุคลากร ใน เรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะดูแลประชาชน

ถ้าท่านใดมีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือต้องการให้ กทม. ช่วยเหลือโทรได้ที่ ‘สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร 1646

 

**************************

เรื่องโดย : อโนชา ทองชัย

ที่มา : BKK NEWS (กทม.สาร) issue 272

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด