TOP

ปักหมุด! ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ตามรอยเส้นทางเชื่อมศรัทธา 2 ศาสนาพราหมณ์ – พุทธ

ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Booking.com ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวไทย ติดอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับหนึ่ง ดังนั้นเพื่อเอาใจสายมูเตลู เราพาไปปักหมุดเที่ยวรอบๆ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ตามรอยเส้นทางเชื่อมศรัทธาแห่งศาสนา ณ ย่านเสาชิงช้า

 

เสาชิงช้า แลนด์มาร์กแห่งกรุงเทพฯ

เสาชิงช้า คือเสาไม้สักทองสีแดงชาดอายุกว่า 236 ปี ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อใช้ประกอบพิธี ‘โล้ชิงช้า’ หรือ ‘ตรียัมปวาย’ พิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ แม้พิธีกรรมดังกล่าวจะเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 แต่เสาชิงช้ายังคงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพฯ

 

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สถานแห่งศรัทธา

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ นั้นสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเสาชิงช้า และยังทำให้ต่อมามีประชาชนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ย้ายมาตั้งถิ่นฐานจนเกิดเป็นชุมชนพราหมณ์ในละแวกนั้น ภายในเทวสถานประกอบด้วยโบสถ์ 3 หลัง ได้แก่ สถานพระอิศวร สถานพระพิฆเนศวร และสถานพระนารายณ์ ซึ่งภายในสถานพระพิฆเนศวร ยังมีพระพิฆเนศวรเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 นับว่าเป็นองค์พระพิฆเนศวรที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

โบสถ์เทพมณเฑียรศูนย์รวมแห่งจิตใจ

หนึ่งในศูนย์รวมแห่งจิตใจของศาสนิกชนชาวฮินดูจากอินเดีย สร้างขึ้นเมื่อราว 50 ปีก่อน โดยอัญเชิญเทวปฏิมาของพระผู้เป็นเจ้า และเทพยดาจากประเทศอินเดียมาประดิษฐาน โดยมีพระวิษณุและพระแม่ลักษมีเป็นองค์ประธาน นอกจากนี้ ยังมีเทวรูปองค์เทพอื่นๆ เช่น พระพรหม พระแม่ทุรคา พระพิฆเนศวร ด้วยแรงศรัทธาผู้คนในปัจจุบัน นิยมมาขอพรเกี่ยวกับความรักกับพระวิษณุ และพระแม่ลักษมี หรือเข้าร่วมพิธีอารตี (การถวายไฟแก่ทวยเทพ) ทั้งช่วงเช้าและเย็นของทุกวัน

 

วัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสำคัญใจกลางพระนคร นอกจากจะตั้งอยู่บนทำเลอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นดั่งใจกลางของเกาะรัตนโกสินทร์แล้ว วัดสุทัศนเทพวราราม ยังเป็นแหล่งรวมความงดงามของงานศิลป์ชั้นครู ภายในวิหารหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) พระพุทธรูปองค์สำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วง และได้อัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ รัชกาลที่ 2 ยังทรงแสดงฝีพระหัตถ์ร่วมจำหลัก (แกะสลักลวดลาย) บนบานประตูกลางที่วิจิตรงดงามของพระวิหารอีกด้วย อีกทั้ง ถนนบำรุงเมือง ที่ผ่านหน้าวัดสุทัศน์ฯ ยังเป็นถนนรุ่นแรกของพระนคร ที่ใช้เทคนิคการสร้างตามแบบตะวันตก และถือเป็นย่านตลาดสังฆภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อีกทั้งเป็นย่านที่ผลิตและจำหน่ายพระพุทธรูปทองเหลือง และสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย

 

ภูเขาทอง อร่ามงามจับตา

เจดีย์สีทองงามอร่ามจับตา ที่ตั้งอยู่ภายใน วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร นี้ ใช้เวลานานกว่า 3 รัชกาลจึงแล้วเสร็จ โดยเริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 มีบันไดเวียนทางขึ้น ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนบนยอดแห่งบรมบรรพต เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย เชื่อกันว่า การได้เดินขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุบนนั้น เปรียบได้กับการเดินขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่อยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์จุฬามณี

 

ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร

ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) หรือศาลเจ้าพ่อเสือพระนคร เป็นศาลเจ้าเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่บนถนนตะนาวใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกศาลเจ้านี้ว่า ‘ตั่วเล่าเอี้ย’ เป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้ รูปเจ้าพ่อเสือ รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งคนไทยและจีนเป็นอย่างมาก ที่นี่เลื่องชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการสร้างศาลประดิษฐานรูปเสือนั้น  เพื่อให้ปกปักรักษาประชาชนให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขนั่นเอง

 

เรื่องโดย : อโนชา ทองชัย

ที่มาและภาพ : ฺBKK NEWS (กทม.สาร) issue 272

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด