TOP

กรุงเทพฯ เมืองสิ่งแวดล้อมดี กทม. พร้อมรับมือฝุ่นละออง PM 2.5 เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว

สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ พบค่าคุณภาพอากาศหรือค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในช่วงฤดูหนาวของทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น ในปี 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ด้วยการบริหารจัดการของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก พร้อมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2566 ซึ่งเป็นแผนเผชิญเหตุ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง

 

ทำความรู้จักค่า AQI และค่า PM 2.5

มีความแตกต่างอย่างไร

ในปัจจุบันอาจมีความเข้าใจสับสนระหว่างค่า AQI กับ PM 2.5 ที่มีความแตกต่างกันโดย AQI (Air Quality Index) คือข้อมูลการวัดคุณภาพทางอากาศในภาพรวมหรือดัชนีคุณภาพอากาศ ที่ประกอบด้วยมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5), ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 1066), โอโซน (O3), คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยการวัดค่า AQI ใช้ตัวเลขจากการวัดค่า PM 2.5 มาร่วมคำนวณด้วย ค่าฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI โดย ‘กรมควบคุมมลพิษ’ เป็นแหล่งข้อมูลและกำหนดมาตรฐาน AQI ของประเทศไทย ซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีในการแบ่งระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งหาก AQI เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าสูงกว่า 100 จัดว่าเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ส่วนค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 นั้น เป็นคนละตัวกับค่า AQI โดยกรมควบคุมมลพิษกำหนดค่ามาตรฐานของประเทศไทย โดยใช้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่งหากค่า PM 2.5 สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลก ดังนั้น หากค่าเฉลี่ยของทั้งวัน (24 ชั่วโมง) ที่ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพจะต้องอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

สำหรับ กทม. มีสถานีตรวจวัดค่า PM 2.5 จำนวน 70 สถานี ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในแต่ละแอปพลิเคชันจะเลือกแสดงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กแตกต่างกัน อาทิ AirVisual จะแสดงข้อมูลโดยวัดเฉลี่ยต่อ 1 ชั่วโมง ไม่ได้ใช้การคำนวณแบบวัดค่า PM 2.5 โดยตรง ในขณะที่ แอปพลิเคชัน AirBKK ของ กทม. และการรายงานของกรมควบคุมมลพิษใช้เป็นค่าเทียบอ้างอิงกับมาตรฐานโลกที่ 24 ชั่วโมง ทำให้การรายงานค่าฝุ่นมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างค่า AQI กับ PM 2.5 ให้ชัดเจน

 

ขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหา PM 2.5

ภายใต้ 16 แนวทาง

แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ปี 2566 นั้น เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อป้องกันและลดปริมาณฝุ่นอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ได้จัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวทำการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ตลอดจนเฝ้าระวัง ติดตาม วิเคราะห์ ประเมิน รวมถึงแจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์ข้อมูลการปฏิบัติงานป้องกัน และแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5

สำหรับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของ กทม. ดำเนินการภายใต้ 16 แนวทาง ได้แก่ 1.> วิจัยหาต้นเหตุ 2.> นักสืบฝุ่น 3.> การตรวจโรงงาน 4.> การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 5.> การแจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM 2.5 6.> Open Data 7.> การตรวจสถานที่ก่อสร้างและการตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง 8.> การใช้ CCTV ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ 9.> การส่งเสริมรถราชการในสังกัด กทม. เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 10.> การตรวจรถควันดำ ได้แก่ การตรวจวัดรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง การตรวจวัดรถควันดำบนท้องถนน และการตรวจวัดรถควันดำ ณ สถานที่ต้นทาง 11.> การแจ้งปัญหาฝุ่นทาง Traffy Fondue 12.> กลุ่มพัฒนาโครงการผู้ประกอบการ 13.> กิจกรรมที่สำนักงานเขตดำเนินการ 14.> การตรวจวัดควันดำรถราชการในสังกัด กทม. 15.> การขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด และ 16.> BKK Clean Air Area อีกทั้ง กทม. ได้นำแนวทางทั้ง 16 ข้อนี้ บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อให้เกิดการบูรณาการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน

 

กำหนดมาตรการแจ้งเตือน

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในโรงเรียน

ในส่วนของโรงเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร ใช้มาตรการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ตาม โครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” โดยใช้ธงสีต่าง ๆ แสดงคุณภาพอากาศและให้นักเรียนฝึกอ่านค่าคุณภาพอากาศ โดยแบ่งธงออกเป็น 5 สี ตามค่าฝุ่นละออง PM 2.5 (หน่วย = ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ได้แก่
1. สีฟ้า หมายถึง ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 0-25 มคก./ลบม. สภาพอากาศดีมาก
2. สีเขียว หมายถึง ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 26-37 มคก./ลบม. สภาพอากาศดี ปฏิบัติกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
3. สีเหลือง หมายถึง ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 38-50 มคก./ลบม. สภาพอากาศปานกลาง กลุ่มอ่อนไหวควรสวมหน้ากากอนามัย ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง
4. สีส้ม หมายถึง ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่าง 51-90 มคก./ลบม. เริ่มมีผลต่อสุขภาพ ลดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัย
5. สีแดง หมายถึง ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ 91 มคก./ลบม. ขึ้นไป มีผลต่อสุขภาพ ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันและอยู่ในห้องที่ปลอดภัย โดยให้นักเรียนแสดงธงคุณภาพอากาศเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเตรียมตัวและป้องกันซึ่งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นละออง PM 2.5

 

กำหนด 15 มาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว

กทม. ยังได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในระยะยาวจำนวน 15 มาตรการ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องได้รับการบูรณาการความร่วมมือจากรัฐบาล และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้แก่

1. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทั่วประเทศต้องใช้เครื่องวัดควันดำระบบความทึบแสง

2. การพิจารณาการห้ามใช้รถของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

3. ใช้ CCTV ตรวจจับรถควันดำ

4. ผลักดันการใช้ระบบตั๋วร่วมในการขนส่งมวลชนทุกระบบ

5. เร่งพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุม

6. ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม

7. กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ตาม Euro 5/6

8. ผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตน้ำมันดีเซลลดสารกำมะถันให้เหลือไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

9. ส่งเสริมสถานีบริการน้ำมันจำหน่ายน้ำมันมาตรฐาน Euro 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

10. ศึกษาและทดลองประมวลผลด้วยแบบจำลองบรรยากาศเฉพาะท้องถิ่นด้านฝุ่นละอองและมลภาวะ

11. เปลี่ยนรถราชการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมันดีเซลในสังกัด กทม. เป็นรถพลังงานไฟฟ้า

12. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV-ECOSYSTEM) ในกรุงเทพฯ

13. ส่งเสริมการจัดการพื้นที่สีเขียวให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดทางผังเมือง

14. การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ

15. ภายใน 3 ปี กรุงเทพฯ ปลอดการเผาในที่โล่ง 100%

 

กำหนดมาตรการเร่งด่วน “ตรวจ ติดตาม แก้ไข”

การแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 กทม. มีการติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และใช้มาตรการเชิงรุก ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤต ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ปี 2566 อาทิ เพิ่มความเข้มงวดการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม ตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำแก่เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชนและทุกภาคส่วนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง เช่น การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ เป็นต้น

 

จัดทีม “นักสืบฝุ่น” หาสาเหตุฝุ่น PM 2.5

กทม. จัดทีม “นักสืบฝุ่น” วิจัยหาสาเหตุของฝุ่นละออง PM 2.5 บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นการขยายขีดความสามารถการพยากรณ์มลพิษทางอากาศของ กทม. ที่ดำเนินการล่วงหน้าได้ใน 3 วัน จากนั้นนำไปเชื่อมโยงข้อมูลกับ แอปพลิเคชัน BMA Traffic และป้ายแสดงผลของสำนักการจราจรและขนส่ง เพื่อขยายระบบติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด โดย กทม. มีเครือข่ายระบบการตรวจวัดคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ 557 จุด สำหรับเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนได้ครอบคลุมทั่วถึงและทันท่วงที ซึ่งระบบทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจวัดอากาศทั้งจากหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน

 

โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น

 แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน

หลังจาก กทม. เชิญชวนภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นกับ กทม. ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน โดยการแสดงความประสงค์ร่วมปลูกต้นไม้แล้วกว่า 1 ล้านต้น ซึ่ง กทม. ได้ดำเนินการปลูกไปแล้วจำนวนหนึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ปลูกต้นไม้ล้านต้นที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ พื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีสวนสาธารณะน้อย เช่น เขตหนองจอก เขตคลองสามวา พื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีสวนสาธารณะมาก เช่น เขตประเวศ เขตจตุจักร พื้นที่ขนาดเล็กที่มีสวนสาธารณะน้อย เช่น เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และพื้นที่ขนาดเล็กที่มีสวนสาธารณะมาก เช่น เขตพระนคร เขตดุสิต สำหรับโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อกรองฝุ่นและมลพิษในเมืองกรุง สร้างร่มเงา ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สร้างความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเมือง โดยเป็นอีกหนึ่งนโยบายของ กทม. ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน

 

โครงการถนนสวยทั้งปี

กทม. ดำเนินการฟื้นฟูสภาพถนนในกรุงเทพฯ เพื่อเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้เป็นเมืองสะอาด สวยงาม ด้วยนโยบาย “ถนนสวยทั้งปี” ซึ่งเป็นถนนที่มีต้นไม้และดอกไม้ประดับสวยงามตลอดปี เริ่มจากถนนพญาไท จากนั้นขยายผลไปตามย่านต่าง ๆ อาทิ ถนนสุขุมวิท ถนนคลองสาน ถนนพระรามที่ 1 ถนนพระรามที่ 4 และอีกหลายสาย เป็นอีกโครงการสำคัญในการสร้างกรุงเทพฯ เป็นมหานครสีเขียว

 

แอปฯ AirBKK

และช่องทางตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทม์

แอปพลิเคชัน AirBKK สามารถพยากรณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ล่วงหน้า 3 วัน แสดงแผนที่แสดงค่าฝุ่น PM 2.5 ทั้ง 50 เขต แนะนำความรู้เกี่ยวกับดัชนีคุณภาพอากาศ AQI พร้อมข่าวสารกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หรือตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านทาง เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com, www.pr-bangkok.com รวมถึง เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ http://airthai.pcd.go.th นอกจากนี้ ยังติดตามผ่านเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงานสังกัด กทม. ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และเพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ หากพบเห็นต้นตอของฝุ่นหรือแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถถ่ายรูปแจ้งเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย พร้อมดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AirBKK ของ กทม. เพื่อตรวจสอบระดับมลพิษในพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ แบบเรียลไทม์

 

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร)

ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) Issue 284 (01/2566)

คลิกอ่านเพิ่มเติม BANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 284 (01/2566)👉 ที่นี่

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด