TOP

เปิดภาพอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ท่ามกลางกระแสโลกใหม่

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริบทของโลกแตกต่างไปจากเดิม เราจะอยู่ภายใต้บริบทของกระแสโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกระแสดิจิทัลและความยั่งยืน ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยในทุกมิติ สำหรับภาคใต้ที่กำลังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว หากสามารถคว้าโอกาสปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกใหม่ได้ เศรษฐกิจภาคใต้ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นที่มาของงานศึกษาเรื่อง “ยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ด้วยกระแสดิจิทัลและความยั่งยืน” ที่ฉายให้เห็นภาพเศรษฐกิจและการเงินที่ภาคใต้จะเผชิญในระยะถัดไป ซึ่งทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำเสนอในสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 และขอนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งในคอลัมน์เศรษฐกิจติดดินนี้

 

ภาคใต้ที่คุ้นเคย อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ที่ผ่านมา ภาคใต้มีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามและเป็นที่รู้จักระดับโลก แต่ภายใต้จุดแข็งนี้ การท่องเที่ยวภาคใต้ค่อนข้างกระจุกตัว ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่พึ่งพาจีนและมาเลเซียสูงถึง 41% และสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในฝั่งอันดามันเป็นหลัก เช่นเดียวกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาสินค้าน้อยชนิด ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปสินค้าขั้นกลาง เช่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และน้ำมันปาล์มดิบ รวมถึงสินค้ากว่า 1 ใน 3 ส่งออกไปตลาดจีนจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ “กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย” เช่นนี้ ทำให้ภาคใต้ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด 19

 

ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการเปิดประเทศที่ผ่อนคลาย ทำให้เศรษฐกิจภาคใต้เริ่มฟื้นตัว บรรยากาศการท่องเที่ยวในภาคใต้กลับมาคึกคักอีกครั้ง จากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ สะท้อนจากตัวเลขจำนวนผู้เยี่ยมเยือนภาคใต้ในไตรมาส 2 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 21% จากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวครั้งนี้อยู่ท่ามกลางบริบทของกระแสโลกใหม่ที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งโจทย์ใหญ่ของภาคใต้คือ ทำอย่างไรจึงจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าให้มั่นคงขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงมีภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพของเศรษฐกิจภาคใต้ที่ทุกท่านคุ้นเคยเปลี่ยนไปจากเดิม

กระแสดิจิทัลและความยั่งยืน

โอกาสสู่ 5 ภาพอนาคตเศรษฐกิจใหม่ภาคใต้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด 19 เป็นหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้กระแสโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และแรงกว่าที่คาด โดยเฉพาะกระแส “ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน” ที่ได้เข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยและภาคใต้ในทุกมิติ และแม้ว่าในด้านหนึ่งจะเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับตัวให้เท่าทัน แต่อีกด้านหนึ่งก็นับเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ไปสู่ 5 ภาพใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น ได้แก่

ภาพที่ 1 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้สูงถึง 21% ต่อปีในระยะข้างหน้า จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาชีพดิจิทัล (digital nomad) ที่ต้องการการบำบัดสุขภาพกายและใจ โดยภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรพร้อม และมีการขับเคลื่อนในระดับหนึ่งแล้ว เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor: AWC) ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากจุดเด่นของแต่ละจังหวัด เช่น ศูนย์รักษาพยาบาลจังหวัดภูเก็ต ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจังหวัดพังงา และน้ำพุร้อนบำบัดจังหวัดกระบี่ รวมถึงจะนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาคใต้สามารถกระจายกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น และยกระดับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงได้

ภาพที่ 2 การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จะเติบโตได้สูงเช่นกัน จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่กว่า 60% ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในเมืองหลักมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของเมืองรองที่จะใช้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ และการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ โดยปัจจุบันเริ่มเห็นหลายชุมชนในภาคใต้ปรับตัวสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น โครงการสงขลาสร้างสรรค์ (Songkhla (Oldtown) Creative District) ของอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และการเรียนรู้วิธีทำช็อกโกแลตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ภาครัฐจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในเมืองรอง เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต ถนน และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เข้าถึงชุมชน เพื่อให้เกิดการปรับตัวที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่เมืองรองอย่างยั่งยืน

ภาพที่ 3 การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) จากความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก หลายประเทศมีแนวโน้มจะนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้ามากขึ้นในอนาคต สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของภาคใต้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระแสนี้ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูปที่ผลิตเพื่อส่งออก แม้ว่าปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการไม่มากนักที่ปรับตัวตามมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล เช่น Forest Stewardship Council (FSC) แต่ในระยะต่อไปจะมีแรงกดดันจากคู่ค้าและคู่แข่งมากขึ้น ทำให้คาดว่าจะเห็นการผลิตที่ปรับตัวสู่มาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนอกจากช่วยขยายฐานลูกค้าในตลาดใหม่ ๆ และขายได้ราคาที่สูงกว่าปกติแล้ว ยังจะทำให้ภาคใต้รักษาความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว

ภาพที่ 4 อาหารแห่งอนาคต (Future Food) จะเติบโตสูงจากผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และนวัตกรรมอาหารที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชันและอาหารโปรตีนจากพืช ที่มีแนวโน้มเติบโตประมาณ 7% และ 19% ตามลำดับ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ภาคใต้มีวัตถุดิบในพื้นที่มากมายที่สามารถพัฒนาเป็นอาหารแห่งอนาคตได้ เช่น อาหารทะเล ปาล์มน้ำมัน และเห็ดแครง รวมถึงมีมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ช่วยสนับสนุนความรู้และงานวิจัย โดยปัจจุบันเริ่มเห็นตัวอย่างในพื้นที่แล้ว เช่น ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่สกัดน้ำมันปลาทูน่าเพื่อต่อยอดเป็นอาหารเสริม และชาวสวนยางที่นำเห็ดแครงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช โดยต่อไปคาดว่าจะเห็นการปรับตัวที่แพร่หลายมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารภาคใต้ให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้

ภาพที่ 5 เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เป็นการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากเกินจำเป็น สำหรับภาคใต้ในปัจจุบันมีการใช้เกษตรแม่นยำในกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่แล้ว เช่น การใช้โดรนพ่นยากำจัดโรคของต้นทุเรียน ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ค่ายากำจัดโรค และลดเวลาการทำงานของเกษตรกรได้มากในระยะต่อไป การสนับสนุนจากภาครัฐ การรวมกลุ่มของเกษตรกรและกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปรับตัวที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ยังมีข้อจำกัดด้านองค์ความรู้และเงินทุน

 

ธปท. จะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ

การจะทำให้ทั้ง 5 ภาพเศรษฐกิจเป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคการเงิน ที่ ธปท. ได้มีการออกแนวนโยบายด้านการเงิน เพื่อช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจปรับตัวท่ามกลางกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น

 

ใน “ด้านดิจิทัล” ธปท. จะเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทางการเงินแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบการเงินให้เอื้อต่อการทำธุรกิจดิจิทัลแบบครบวงจร และเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งภาคใต้มีความพร้อมรองรับการเงินดิจิทัลในระดับหนึ่ง สะท้อนจากสถิติที่เกี่ยวข้องที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น เช่น การมีสมาร์ตโฟนของประชากรในภาคใต้ที่สูงถึง 94% และธุรกิจในภาคใต้มากกว่า 50% ที่ใช้ internet banking ซึ่งหากได้ปรับมาใช้การเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น จะช่วยให้การทำธุรกรรมการค้าง่ายขึ้น ต้นทุนถูกลง และธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น จากการที่ธนาคารมีข้อมูลดิจิทัลที่ใช้ในการประเมินธุรกิจเพิ่มเติม

 

สำหรับ “ด้านความยั่งยืน” ธปท. จะจัดทำแนวนโยบายด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมมากขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

 

โดยสรุป ภาคใต้มีศักยภาพในการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกใหม่ ที่จะมาเร็วและแรงขึ้นกว่าที่คาด ซึ่งควรเร่งใช้โอกาสนี้สร้างตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (new growth drivers) โดยอาศัยการร่วมด้วยช่วยกันจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้ภาคใต้ฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งขยับออกจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ “กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย” ไปสู่เศรษฐกิจ “มูลค่าสูงและยั่งยืน”

 

ที่มา : Forest Stewardship Council (FSC) Database ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2565
หมายเหตุ : จำนวนใบรับรอง FSC Forest Management (FM) และ Cain of Custody (CoC)

———————————————————————————————

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE

ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด