TOP

ตามรอยดอกไม้ทรงโปรด เสด็จพ่อ ร. 5 จากพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน

เราไม่ค่อยได้รับรู้ว่า “เสด็จพ่อ รัชกาลที่ 5” ทรงโปรดปรานดอกไม้นานาพันธ์ุ นอกเหนือไปจาก “ดอกกุหลาบ” ที่เคยได้รับรู้กัน แต่จะมีสักกี่คนที่ได้รู้เรื่องราวอันน่าประทับใจ ในมุมที่พระองค์ทรงโปรดปรานธรรมชาติ และดอกไม้เป็นอย่างมาก

ครั้งที่ “เสด็จพ่อ รัชกาลที่ 5” หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเสด็จประพาสยุโรป เป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 ครั้งนั้นเป็นการเสด็จประพาสส่วนพระองค์ เพื่อการรักษาพระพลานามัย ตามคำแนะนำของแพทย์ประจำพระองค์ พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย-พระธิดา) และผู้ซึ่งสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในตำแหน่งราชเลขานุการิณี รวมจำนวน 43 ฉบับ ในขณะเสด็จประพาสยุโรปเป็นระยะเวลา 225 วัน ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชภารกิจแต่ละวัน นับตั้งแต่เสด็จลงเรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกจากกรุงเทพฯ ผ่านประเทศต่างๆ โดยทางเรือ และ รถไฟ ตั้งแต่ ประเทศสิงคโปร์ อิตาลี สวิตเวอร์แลนด์ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก และประเทศนอร์เวย์

 

พระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน เป็นการเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของพระองค์ ขณะเสด็จประพาสไปยังสถานที่ต่างๆ ประจำวัน ทรงถ่ายทอดอย่างละเอียดให้สามารถจินตนาการตาม ประกอบภาพถ่ายบางส่วน ที่พระองค์ทรงฉายพระรูปด้วยพระองค์เอง สะท้อนให้เห็นทัศนคติ สภาพบ้านเมือง สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะทัศนียภาพ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ธรรมชาติ ตลอดจนความเจริญทางวิทยาการของนานาอารยประเทศ และที่สำคัญ ทำให้เราได้เห็นอีกมุมความชื่นชอบในธรรมชาติ และดอกไม้อย่างที่สุด จากการที่พระองค์ทรงกล่าวถึงชื่อพันธุ์ดอกไม้ชนิดต่างๆ มากมาย ทรงบรรยายถึงโดยละเอียดในรูปพรรณสัณฐาน ขนาด สีสัน และเสน่ห์ของแต่ละชนิดของพรรณไม้และดอกไม้ ในแต่ละสถานที่ที่พระองค์ได้เสด็จไปเยือนอีกด้วย

 

AROUND ONLINE ขอนำพระราชหัตถเลขาบางช่วงบางตอน ที่พระองค์กล่าวถึงพรรณไม้ และดอกไม้ชนิดต่างๆ นอกเหนือจากกุหลาบ ที่พระองค์ทรงตกหลุมรัก ทำให้เราได้สัมผัสถึงความละเมียดละไม ความอ่อนโยน ของกษัตริย์มหาราช ผู้เป็นดวงใจของพวกเราเหล่าพสกนิกรชาวไทย ที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้ในมุมนี้มาก่อน ทรงพระปรีชาสามารถในทุกด้าน แม้แต่เรื่องพิชพรรณ ธรรมชาติ

*(หมายเหตุ : พระราชหัตเลขาบางช่วงบางตอน จากพระราชนิพนธ์ เรื่อง ไกลบ้าน นำมาเสนอ โดยมิได้แก้ไขคำหรือประโยตแต่อย่างใด)*

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 1

คืนที่ 8 วันพุฒที่ 3 เมษายน

ขณะที่ทรงเสด็จ ไปสิงคโปร์ “คิดถึงใครๆ หมดทุกคน ขอลาตั้งต้นที่จะเดินทาง มีแต่จะห่างกันไปทุกวัน แต่ที่ห่างจะห่างแต่กาย ใจคงจะผูกพันกลับไปบ้านทุกวัน วันละหลายหน ขออำนวยพรให้อยู่เปนศุขสบายด้วยกันทุกคน อนึ่งได้ซื้อต้นไม้ มีกล้วยไม้ดอกแดงเปนต้น ฝากอาภามาให้แม่ สำหรับจะได้ทำนุบำรุงปลูกให้งาม ถ้าพบที่อื่นจะส่งอิก”

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 7

คืนที่ 30 วันพฤหัศบดี ที่ 25 เมษายน

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองเนเปอล “พวกผู้ใหญ่นั่งอยู่ที่ร้าน เด็กๆ วิ่งชูไปทุกหนทุกแห่ง ใครผ่านไปร้องเรียกให้ซื้อดอกไม้ ที่เห็นมากในเวลานี้คือดอกกำมหยี่ซ้อนสีชมภู ดอกเดียวมันโตเท่าดอกแก้วพวงทั้งช่อ อิกอย่างหนึ่งดอกคล้ายลั่นทมที่พึ่งแย้ม แต่มีอะไรแต้มข้างในงามหรูขึ้นอิกอย่างหนึ่งคล้ายดอกแต้ฮวย เบญมาศมีมาก กุหลาบสีครั่ง กุหลาบเหลือง กุหลาบขาว นี่เปนดอกไม้ที่สังเกตได้ แต่ที่ไม่รู้จักผ่านไปเร็วๆ ไม่ทันสังเกตมีมาก เอากระบุงมาใส่เอาได้ แต่ฝรั่งที่นี่มันตัดดอกไม้สั้นๆ ไม่ใคร่มีก้านอย่างเราตัด แล้วผูกปลายไม้เหมือนกัน แต่ไม้ที่สำหรับผูกนั้นมันเหลาเสียเกลี้ยงอย่างเอกผูกด้วยลวด”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 9

คืนที่ 32 วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองเยนัว “ที่นี่มีดอกไม้หรูหลายอย่าง ที่วิเศษแท้นั้นคือกุหลาบ กุหลาบอย่างที่ดุ๊กเรียกว่ามอญ แต่ที่แท้ของไทยนั้น มันโตเท่ากุหลาบเย็บกันเล่น กุหลาบเย็บมันแบนเพราะกลีบสั้น นี่มันเปนกุหลาบจริงๆ กลีบใหญ่ได้ส่วน ดอกโตเท่าขนาดใหญ่ของเราสามดอกรวมกัน กลิ่นก็หอมเปนกุหลาบไทย ดอกไม้อื่นๆ มีอิกมาก เช่นตุลิปสีต่างๆ เยเรเนียมสีต่างๆ”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 9

คืนที่ 34 วันจันทร์ ที่ 29 เมษายน

“ขากลับมาแวะที่สวนปลูกต้นไม้ขาย ซึ่งเปนบ้านราษฎรแซกอยู่ในระหว่างบ้านใหญ่ๆ มีเปนอันมาก ถัดออกไปเมื่อพ้นเมือง ก็เปนสวนปลูกต้นไม้ขายตลอดไป สวนปลูกต้นไม้ขายเช่นนี้ ไม่ผิดอะไรกับสวนตาเยนกินที่คลองขุดใหม่ ใช้พูนดินเหมือนกันแต่ไม่มีร่อง เพราะที่มันเทตะแคงอยู่แล้ว แต่ต้นไม้มันช่างผิดกับบ้านเราเสียจริงๆ คือปลูกเปนต้นฤๅกอที่พอจุกระถางดินขนาดต่างๆ กะให้พอออกดอกพร้อมกันหมด ด้วยอาไศรยเลี้ยงกิ่งที่แขงลิดกิ่งที่อ่อนเสีย ตัดให้คงข้อพอเสมอกัน เมื่อแตกออกมาก็แตกพร้อมกันเท่านั้น กุหลาบต้นหนึ่งมันมีดอกพร้อมกันหมดตั้งยี่สิบสามสิบดอก ตูมบ้างแย้มบ้างบานบ้างทอยกันไป ต้นอื่นๆ ที่มีดอกเปนช่อใหญ่ๆ ดอกติดกันหมดเหมือนจัดพุ่มเครื่องนมัสการเปนแต่เตี้ย งามกว่าจัดดอกไม้หัวโล้นเช่นจัดกัน ที่เปนดอกเล็กๆ เช่นสโนดรอปก็ปลูกให้ชิดกันเปนกอ ดอกขาวแซกไปในเขียวเต็มทั้งกระถาง แต่เปนพ้นวิไสยที่จะพรรณาด้วยเรื่องชื่อหาใครถามไม่ใคร่ได้ อิตาเลียนเรียกอย่างนั้น ฝรั่งเศสเรียกอย่างนี้ อังกฤษเรียกไปอย่างอื่น นับว่าเปนดอกไม้สีที่หาที่สุดมิได้ เช่นกับแดงก็ตั้งแต่แดงแก่ แดงเจือเหลือง ม่วงสีต่างๆ ชมภู น้ำเงิน ขาว เหลือง ลาย แต่สีนั้นเปนพ้นวิไสยที่จะเห็นได้ในเมืองไทย พ่อได้พิเคราะห์ดูหนักแล้ว สีมันสดจริงๆ สดเหมือนกำมหยี่เหมือนแพร จนได้เห็น ได้ถูก ได้ดมรู้ว่าเปนดอกไม้จริงๆ ยังอยากจะเชื่อว่าทำด้วยกำมหยี่ฤๅด้วยแพรร่ำไป งามจนหลับตาลงก็เห็นเปนดอกไม้ เหตุที่มันสดใสงดงามเช่นนี้ เพราะอะไร เพราะแสงแดดที่นี่ไม่แรงสีไม่ตก ดอกไม้ของเราที่ว่างามสักเท่าใดเท่าใด เช่นกับกุหลาบสีชมภู ฤๅเหลือง ฤๅขาว มันมาปรากฎแก่ไนยตาว่าสีตก เหมือนอย่างกับเอาผ้าแพรฤๅกำมหยี่ออกทิ้งค้างไว้ในกลางแจ้งสีตกเช่นนั้น อิกอย่างหนึ่งมันสดจริงๆ กลีบชุ่มน้ำ ถ้าจะเอามาขยี้บีบจะได้น้ำในนั้นมากกว่าดอกไม้เมืองเรา ถ้าจะมีดอกไม้ที่จะเปรียบในทางสดกับดอกไม้เมืองฝรั่งได้ เห็นจะมีแต่ดอกบัวซึ่งพึ่งแย้มในเวลาต้องพระอาทิตย์ มีเครื่องป้องกันภายนอกกลีบข้างในสดได้จริง ในเรื่องปลูกไม้ดอกเมืองเรานี้น่าท้อใจเปนอันมาก ถึงจะได้กิ่งได้เม็ดไปปลูก คงจะไม่พ้นจากเซียลงแลกลีบอ่อนบอบแบบ ดอกไม้ฝรั่งเช่นกุหลาบบานออกเต็มที่แล้วทิ้งไว้ในห้องเท่าไรๆ ก็ไม่โรย เช่นสโนดรอป ถ้าเมืองเราเด็ดจากต้น ถือสักครึ่งชั่วโมงเท่านั้นก็หน้าคว่ำ นี่มันอยู่ได้ยังค่ำไม่ยักเหี่ยวแห้งอันใด อิกอย่างหนึ่งเรื่องกลิ่น ที่เรากริ้วว่าดอกไม้ฝรั่งไม่หอมนั้นก็อิกนะแหละ ที่จริงดอกไม้มันมีกลิ่นหอม แต่มันหอมสำหรับที่อากาศอ่อนๆ ไม่เผาน้ำในดอกไม้ให้เหือดแห้งไปเสีย ไปปลูกที่เมืองเรามันหายหอมหมด เพราะพอบานออกก็ถูกแดดเผาน้ำฤๅน้ำมันแห้งทันที ที่หอมอยู่ได้แต่ดอกไม้ที่มีน้ำมันมาก กลิ่นกล้า ถ้าเอามาปลูกในเมืองฝรั่ง จะกลายเปนเหม็นไปก็จะได้ ที่ซึ่งไปดูวันนี้ เขาเก็บดอกกุหลาบให้ดอกหนึ่งเลยต้องซื้อเขาสองกระถาง มันส่งเร็วแท้ๆ รถโมเตอคาร์เรามาถึงบ้าน ต้นไม้ก็มาถึงพร้อมกัน ได้ส่งให้นายมุ่ยวาดรูป จะส่งเข้ามาให้ดู อยากจะส่งต้นเต็มทีแต่มันเหลือวิไสย มีขันอย่างหนึ่ง เห็นหน่อกล้วยปลูกใส่ถังไว้สองหน่อ นึกว่ามันจะเอาราคาสัก ๕๐๐ ฟลอรินฤๅอย่างไร จึงลองถามดู ได้ความว่าหน่อละแปดฟลอริน ถึงเช่นนั้นก็ยังเก่งมากอยู่”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 12

คืนที่ 38 วันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม ร.ศก 126

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ โฮเตลเองเคลแตร์ “ได้ดูสำรวจเรื่องปลูกต้นไม้อิก ทางซึ่งผ่านตาแต่คราวเดียวดูวันเดียวไม่ทั่ว เพราะมันจะแหงนจะก้มเหลียวลอกแลกไม่ทันท่วงที หลายวันเข้าก็ยิ่งเห็นมากออกไป เรื่องต้นกุหลาบนี้ ที่ว่ามาแต่ก่อนยังไม่เต็มภาคภูมที่ควรจะกล่าว ที่จริงไม่ควรจะเรียกว่าสวน น่าจะเรียกว่าไร่ คือตามพื้นที่ข้างเขาตั้งแต่ทเลขึ้นมาจนถึงถนนมีกำแพงฤๅรั้วกั้นริมถนน มีประตูเปิดปิดได้ ฤๅทางขึ้นลงข้างเขานั้นฟันเปนคั่นกว้างบ้างแคบบ้างตามรูปเขา ก่อศิลาก้อนๆ เปนคันกันดินขึ้นมาเปนคั่นๆ ตามในท้องคันเหล่านั้นเกือบจะไม่มีอื่นนอกจากปลูกกุหลาบทั้งนั้น ปลูกเปนกอกลมๆ มีระยะเหมือนดำนา สูงต่ำขนาดๆ กัน พ้นทางขึ้นไปข้างบน เหนือคันกันดินริมทางก็ก่อก้อนศิลาเปนคัน บั้งๆ ขึ้นไปอย่างนั้นจนตลอดยอดเขา เต็มไปด้วยต้นกุหลาบ เท่าๆ กันเหมือนกอเข้าในนา บ้างก็ผลิ บ้างก็ตูม บ้างก็แย้ม แดงครืดไปเปนสีเหมือนกับเอาผ้าลายดอกกุหลาบตาก ผ้าลายอย่างที่ดอกเปนช่อกุหลาบรูปเปนพุ่มเข้าบิณฑ์ ถ้าที่ไหนเปนที่ศิลาครุครุ มักจะเปนที่ในตรอกซอกเขา ไม่ใช่ที่ตรงแหลม น้ำจะตกตรงนั้นแรงเกินไป ชะดินเหลืออยู่น้อยฤๅอย่างไร ไม่เห็นใคร่จะปลูกกุหลาบ มักจะปลูกต้นออลิฟ ต้นออลิฟทีจะมีลูกมากอยู่ หน้าตามันจืดๆ แห้งๆ โงเงเหมือนต้นพุทรา แต่ใบไม่เหมือนกันเลย ลูกทีจะมากเหมือนพุทรา เมื่อจะว่าไปในที่สุดแล้ว แทบจะหาที่ว่างจนสักนิ้วเดียว ที่ไม่มีรอยมือคนจับ ไม่มีรอยตีนคนเหยียบ หาไม่ได้ จะหาต้นไม้ที่ขึ้นเองแต่สักต้นหนึ่งก็เปนไม่มี ตั้งแต่เมืองเยนัวไปจนถึงเมนโตนที่ได้เห็นแล้วนี้ เรื่องทำถนนอิกอย่างหนึ่ง น้ำอย่างหนึ่ง ไฟอย่างหนึ่ง ได้สังเกตไว้มากแล้ว แต่ยังต้องการถาม ได้สั่งให้ไปตามพระสารสาสน์ (เยรินี) จะต้องเอาตัวมาชำระ ได้สังเกตด้วยตามาก พอที่จะเปนโจทย์ถามให้แกให้การได้”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 13

คืนที่ 43 วันพุฒ ที่ 8 พฤษภาคม

“สวนในบ้านมีต้นไม้มาก ที่ริมกระไดเต็มไปด้วยต้นแต้ฮวย มีดอกบานเต็มต้น ดอกโตๆ หลายสี คือสีขาวอย่างหนึ่ง ชมภูอ่อนฤๅบัวโรยอย่างหนึ่ง ชมภูแก่อย่างหนึ่ง ชมภูทับแสดอย่างหนึ่ง แดงอ่อนอย่างหนึ่ง แดงกลางอย่างหนึ่ง แดงแก่อย่างหนึ่ง สีครั่งอย่างหนึ่ง ลายขาวปนแดงอย่างหนึ่ง เหมือนแต้ฮวยที่มาแต่เมืองจีน ซึ่งตูมแล้วไม่บานในเมืองเรานั้นไม่มีผิดเลย จนพ่อไปตู่ถามว่า มาแต่เมืองจีนฤๅ เพราะเห็นใส่กระถางใหญ่ๆ โตเกือบเท่าต้นพิกุลเตี้ยน่าพระที่นั่งอัมพร เขาบอกว่าไม่ใช่ เปนไม้ที่นี่เอง มันช่างงามกระไรเลย เกือบเหมือนแกล้งทำด้วยมะละกอดอกไม้เครื่องสด จนจับเข้าแล้วยังไม่หายนึกว่าเปนมะละกอ เขาตัดผูกกระเช้าใหญ่มาให้กระเช้าหนึ่งงามจริงๆ ใบก็หนากลีบก็หนา เหตุไฉนจึงไม่บานในเมืองเรา เหมือนอย่างกุหลาบที่ก้านแลเปลือกหุ้มก้านเปนขน อย่างเช่นเคยเห็นดอกไม้แห้งฤๅเห็นรูปเขียน ควรจะยอมว่าในเมืองเราเปนไม่ได้ เพราะเห็นแต่ดอกตูม เขาว่าพอบานก็ร่วง นี่ไม่ใช่เช่นนั้น น่าจะทน เหตุไฉนจึงทนร้อนไม่ได้เสียเลย ซึ่งพ่อคลั่งพูดถึงไม้ดอกร่ำไปนั้น เพราะมันแลไปข้างไหนก็เปนดอกไม้เต็มไปทั้งเมือง สวนก็เปนดอกไม้เต็มไปทั้งนั้น ไร่ก็เปนดอกไม้เต็มไปทั้งนั้น จะไม่เคยเห็นเมืองอื่นในประเทศยุโรปซึ่งจะมีดอกไม้มากอย่างแถบนี้”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 14

คืนที่ 47 วันอาทิตย์ ที่ 12 พฤษภาคม

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองโคเปนเฮเคน “วันนี้จับร้านดอกไม้ได้ตัวตาผู้วิเศษ ที่สำหรับผสมดอกกุหลาบจะให้เปลี่ยนสีสลับกันอย่างไรจะให้ซ้อนให้ลาอย่างไรอยู่ในอำนาจ อาจจะกล่าวได้เหมือนเจ้ากระจ่าง ว่าทองเหลืองอยู่ในอำนาจ นี่ก็เปนกุหลาบอยู่ในอำนาจ แกผสมดอกกุหลาบไว้อย่างหนึ่งซึ่งว่ายังไม่เคยมีเลย จะขอตั้งชื่อกิงออฟไซแอม อิกอย่างหนึ่งจะขอตั้งชื่อบริพัตร พรุ่งนี้พ่อจึงจะไปดู รับอาสาจะเอาอะไรได้ทั้งสิ้น ขอเปนเจ้าจำนำต่อไป คราวนี้ได้ส่งเข้ามาแต่ลูกไม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าลูกไข่ รูปร่างเหมือนไข่ไก่ เปนลูกของไม้เลื้อย ได้ผ่าออกดูเห็นว่าท่าทางจะทนเข้าไปถึงบางกอกได้ จึงได้ส่งเข้ามาให้ดูเล่น คงจะหาพืชพรรณไปปลูกได้”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 14

คืนที่ 48 วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ วิลลาโนเบลซันเรโม “วันนี้เปนวันเอะอะในการที่เตรียมเดินทางพรุ่งนี้ จึงตั้งใจคอยหนังสือบางกอกเสียให้แล้วหมด เพราะมาจากที่อื่นแทบทุกแห่ง เว้นไว้แต่ที่ลูกไม่มี ฝนตกพรำมาแต่เช้าด้วย จนกินเข้ากลางวันแล้วจึงได้หยุด หนาวเย็นขึ้นกว่าปรกติหน่อยหนึ่ง ต่อเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ จึงได้ไปดูสวนกุหลาบของตาเยอรมันชื่อบรอยเออ ซึ่งมาอวดวิธีปลูกต้นกุหลาบไว้เมื่อวานนี้ รพีล่วงน่าไปตุรินแล้ว หลวงโสภณขับรถ ต้องลดเลี้ยวขึ้นไปบนเขานานอยู่จึงถึง ที่ตั้งสวนอยู่สูงมากไม่ใหญ่โตอะไร เปนแต่แกเปนผู้เข้าใจในการที่จะผสมต้นกุหลาบ สำหรับเปนพืชพรรณขาย เตรียมที่ทำงานไว้กลางแจ้ง พูดภาษาอังกฤษได้แต่ไม่พอ ต้องไปหาตานักปราชญ์อเมริกันคนหนึ่งมาช่วยเปนล่าม ตามที่ทำตัวอย่างให้ดูแลที่อธิบายนั้น เปนข้อความดังนี้”

เรื่องดิน

ต้นกุหลาบเปนต้นไม้ที่โตพักหนึ่ง หยุดนอนพักหนึ่ง เวลาสปริงเปนเวลาโตแลมีดอก ครั้นสิ้นคราวดอกแล้ว ถึงฤดูซัมเมอหยุด เหตุด้วยที่แผ่นดินร้อนแห้ง ถ้าหากว่าได้ดินดีมาก เช่นดินอาลูเวียล คือดินที่ทิ้งขึ้นมาจากฝั่งแม่น้ำเหมือนบางกอก เปนดินอุดมดีมีโอชะมาก ต้นกุหลาบโตเรวแลสิ้นแรงเรว เว้นไว้แต่ถ้ารากหยั่งลงไปแช่ในน้ำนั้น เปนที่ปลูกกุหลาบไม่ได้ จำจะต้องพูนขึ้นให้สูง ดินนั้นต้องเปนดินที่ไม่มีรศมียางเรียกว่าโลม อันมีอยู่ตามเขาผสมด้วยทราย ถ้าดินจืดก็ต้องเติมปุ๋ยเล็กน้อยให้ดินมีแรง ถ้าหากว่าดินที่มีโอชะมากปลูกในที่สูง รากเดินแรง ต้นก็โตเรวจนสิ้นแรง แต่นั้นไปก็จับเซีย

วิธีผสม

ดอกกุหลาบเปนตัวผู้ตัวเมียอยู่ในตัว ตัวผู้นั้นคือมีเม็ดที่ปลายเกษร เช่นรูปรีๆ ติดอยู่ ถ้าดอกลามักจะมีแรง คือกำลังของตัวผู้มาก ถ้าดอกซ้อนมีเม็ดที่เกษรน้อย เปนอย่างที่ว่ามีกำลังน้อย ถ้าซ้อนชิดหนักเข้าถึงมีพืชแต่เล็กน้อยฤๅไม่มีเลยก็มี วิธีที่จะผสมนั้น เหมือนอย่างว่ากุหลาบเหลืองจะผสมกุหลาบแดง ให้ดอกโตขึ้นแลเปลี่ยนสี เอากุหลาบเหลืองมาปลิดเกษรที่มีเม็ดติดปลายเกษรนั้นไว้ แล้วเอากุหลาบแดงซึ่งเปนดอกจวนแย้มติดอยู่กับต้น มาแหวกกลีบเด็ดเกษรที่มีเม็ดในนั้นออกเสีย เอาเกษรกุหลาบเหลืองที่ปลิดไว้นั้นวางลงแทน แล้วหุบกลีบเสียเอาสำลีพันให้ยึดอยู่ ทิ้งไว้เช่นนั้น ๓ วัน เกษรดอกเหลืองเปนอันติดกับดอกแดง ทิ้งไว้จนกลีบร่วง ขั้วกุหลาบเปนเม็ดในนั้น แก่แล้วจึงเอาเม็ดมาเภาะ การเภาะเม็ดกุหลาบนี้กำหนดสามปีเปนอันได้ดอก ดอกที่ออกมาจากต้นที่พ่อเหลืองแม่แดงนั้นคงจะแรงขึ้น แลเปลี่ยนซ้อนมากขึ้น แต่สีกำหนดไม่ได้แน่ บางทีก็กลายเปนชมภู ฤๅเปนเหลืองปนแดง ฤๅด่าง ถ้าผสมเหมาะๆ เข้าได้สีดีแลดอกงาม ก็เปนได้ตั้งชื่อกันใหม่ เปนกุหลาบพรรณที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะเหตุฉนั้นพรรณกุหลาบจึงไม่มีที่สุด เปลี่ยนซ้อนเปลี่ยนลา เปลี่ยนสีต่างๆ เปลี่ยนขนาดเล็กแลใหญ่ได้ด้วยวิธีผสมเช่นนี้

วิธีฝากหนาม

“ตัดหนามกุหลาบทั้งผิวจากต้นอื่น แล้วมาแหวะผิวต้นหนึ่ง เอาเปลือกที่ติดหนามนั้นสอดลงในเปลือกที่แหวก แล้วเอาเชือกคาด เอากระดาษชุบน้ำห่อไว้อย่าให้แห้ง ประมาณสัก ๗ วัน จะแตกขึ้นเปนกิ่ง ถ้าไม้ที่รับฝากนั้นแรง จะเปนกำลังให้กิ่งที่งอกขึ้นใหม่แรงเรว ออกดอกเหมือนต้นที่ตัดหนามมานั้น เพราะฉนั้นกุหลาบที่เภาะขึ้นได้ พอเปนต้นเล็กๆ มีหนามตัดหนามมาประกับกับกุหลาบอย่างที่มีแรงมาก กุหลาบที่มีแรงส่งหนามกุหลาบเภาะนั้นให้ออกกิ่งแรงเรวขึ้น ดอกจะได้อย่างเช่นที่ผสมไว้ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในวิธีผสมนั้น”

วิธีต่อกุหลาบ

เอาต้นกุหลาบป่าสามัญ ซึ่งมีแรงมาปลิดใบออกเสียหมด เหลือไว้แต่ต้น แล้วตัดกิ่งกุหลาบอย่างที่ผสมไว้ ฤๅกุหลาบอะไรๆ ก็ได้ตามชอบใจ มาทั้งกิ่ง จะเปนเล็กก็ได้ ใหญ่ก็ได้ เสี้ยมเสียทั้งสองข้าง ให้แหลมเปนคมสิ่ว แล้วบากกุหลาบที่เปนตัวแม่แรงนั้นให้เปนง่าม เอากุหลาบที่ต้องการอันบากไว้แล้ว เสียบลงในง่าม เอาเชือกรัด เอากระดาษชุบน้ำห่ออย่าให้แห้ง จะตั้งไว้ในเรือนกระจก ฤๅตั้งไว้ในเงาไม้ที่ไม่ถูกร้อนมาก สัก ๗ วันก็ติดกัน กิ่งที่ต่อนั้นจะแตกแรงแลให้ดอกงาม วิธีที่ต่อกุหลาบเช่นนี้ อย่างที่เราได้เห็น ลำต้นกุหลาบโตประมาณสักเท่าด้ามพาย สูงประมาณสักศอกเศษฤๅสองศอกแตกกิ่งเปนช่อกลม มีดอกเต็มทั้งช่อ รูปเหมือนกับบุเค เปนไม้ที่เขาได้ต่อเช่นนี้ วิชาที่ได้สำแดงให้เห็นวันนี้ สามอย่างดังที่กล่าวมา เปนอันพอที่จะเข้าใจได้ว่ากุหลาบนี้ถ้าเล่นถึงที่ ถึงผสมสีให้เกิดพืชพรรณขึ้นใหม่ อาจจะเล่นได้สนุกกว้างขวางมาก ไม่มีรูปแลสีจำกัดไม่มีที่สุด เมื่อได้พรรณแปลกสมประสงค์แล้ว ในการที่จะให้มากแพร่หลายขึ้นนั้น ไม่ยากอันใด มีแต่กอเดียวก็ตอนออกไปได้อิกเท่าไรเท่าไร ถ้าเปนกุหลาบที่ซ้อน ซึ่งจะหาเม็ดไม่ได้ก็มีอย่างเดียวแต่จะตอน ฤๅที่เรียกว่าชำรักษาไว้ไม่ให้สูญพรรณ

มีกุหลาบที่ตานี่ผสมใหม่อย่างหนึ่ง ดอกโตเท่าดอกบัวสตบงกช กลีบซ้อนจนไม่แลเห็นเกษร สีแดงเข้มเกือบเปนบานเย็น เปนพรรณซึ่งยังไม่มีชื่อ เขาขอตั้งชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินสยาม พ่อได้อนุญาตให้แกตั้ง ยังไม่สู้พอขอให้เขียนลงให้ในสมุดด้วย แล้วบรรยายถึงวิธีที่จะส่งดอกไม้ ก็ทำนองเดียวกับที่พ่อได้เล่าให้ฟังแต่ก่อน แปลกออกไปแต่ถ้าเปนทางไกลมาก เอากระดาษชุบน้ำห่อ เวลาออกจากหีบให้แช่ด้วยน้ำอุ่นๆ น้ำอุ่นๆ นั้นเห็นจะสำหรับกันเย็นเกินไป ซึ่งจะทำให้ดอกไม้เหี่ยว แต่ถ้าเปนเมืองเรา เกือบจะไม่ต้องเติมน้ำร้อน เพราะน้ำมันอุ่นอยู่แล้ว

ในเรื่องปลูกต้นกุหลาบนี้ ถ้าจะเล่นในเมืองเราให้ได้ดีจริง ต้องมีมนุษย์อย่างเช่นตานี่คนหนึ่ง ต้องซื้อพรรณกุหลาบไปจากยุโรป ผสมเมืองเราเห็นจะยาก ด้วยมันร้อนเกินไป จะต้องคอยสืบซื้อพรรณซึ่งเขาผสมออกใหม่อยู่เสมอเปนนิจ ดินเมืองเรามันดีเกินไป จะต้องหาดินที่แร้นแค้นผสมทรายไปจากที่อื่น ถ้าจะมีสวนกุหลาบอย่างดีสวนหนึ่ง ออกเงินสักปีละ ๑๐๐ ชั่ง ฤๅ ๑๕๐ ชั่ง ทั้งค่าจ้างค่าต้นไม้ค่าดิน เห็นจะมีสวนกุหลาบดีเล่นสวนหนึ่งได้ กุหลาบที่เขาคเนว่าจะเปนในบางกอกได้ดีนั้น กุหลาบขาวดอกใหญ่ ซึ่งน่านี้ไม่สู้งาม ถ้าน่าร้อนจัดจึงจะงามมาก กับกุหลาบเลื้อยดอกเหลืองซ้อน ขนาดยี่หุบอย่างใหญ่ฤๅเขื่องกว่านั้นหน่อยหนึ่ง กลีบงามเหมือนดอกบัวที่บานเล่น ว่าทนทานร้อนมาก คงจะปลูกได้ พ่อได้สั่งให้นำให้รู้จักกับพระสารสาสน์แล้ว พรรณต้นไม้ซึ่งใช้ปุ๋ยในที่นี้ ใช้มูลม้าเปนพื้น มียายแก่เที่ยวได้เก็บตามถนนเวลาเช้าๆ มาก ออกจะแย่งๆ กันด้วย เวลาบ่ายไปข้างไหน พอม้าถ่ายมูลออกมาก็ชิงกันตะครุบไปขายเขาอิกทีหนึ่ง”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 17

คืนที่ 55 วันจันทร์ ที่ 20 พฤษภาคม ร.ศก 126

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองฟลอเรนส์ “ที่โฮเตลนี้มีจัดดอกไม้ กระเช้ากุหลาบแดงสีบานเย็นเข้มของเมียเซดโยให้ ข้างล่างมีมอสแลมีช้างเผือกเดินสามตัว ที่น่ากระจกมีกุหลาบขาวกับชมภูกิ่งยาวสักแขนหนึ่งสองขวด มีต้นยี่โถฝรั่ง เขาเรียกชื่อว่าเคราน์ปรินเซส สีบานเย็นดอกเหมือนยี่โถ สูงสักศอกคืบ เรือนกว้างสักสองศอก แจ้ดอกเต็มต้นงามจริงๆ”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 19

คืนที่ 64 วันพุฒ ที่ 29 พฤษภาคม 

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองซูริค “การเพาะปลูกตามระยะทาง นอกจากเข้าสาลีมีมันผัก แลต้นผลไม้ เช่นเชอรี เปียร์ แอบเปอล แถบนี้ไม่เห็นปลูกองุ่น เขาเปลี่ยนพืชที่สำหรับปลูกที่แผ่นดินเดียวกันไม่ให้ซ้ำ เปนต้นว่าปีนี้ปลูกเข้าสาลี ปีน่านิ่งเสียให้หญ้าขึ้น ย้ายไปปลูกเข้าที่อื่น รุ่งปีขึ้นปลูกมัน ทำนองเช่นนี้เพื่อจะไม่ให้ดินจืด ถ้าปลูกซ้ำเหมือนกันทุกปีไม่ใคร่ได้ผลดี บางแห่งถึงลงเปนตำราไว้ว่า ปีนั้นปลูกสิ่งนั้น รุ่งปีขึ้นปลูกสิ่งนั้นเวียนกันรอบ ๗ ปี อย่างเช่นนี้เปนต้น การเพาะปลูกของพวกนี้ไม่ได้ใช้เครื่องจักรเลย ใช้ทำด้วยมือกำลังม้าโคเปนพาหนะทั้งนั้น เหตุว่าราษฎรเปนเจ้าของที่ดินเอง ทำกินในที่ดินของตัวเอง ไม่ได้ตั้งเปนกัมปนีมีทุนรอนมากพอที่จะซื้อเครื่องมือใหม่ๆ เช่นในประเทศอเมริกา ที่นั่นเปนที่กัมปนีใหญ่ๆ เขาทำ ราษฎรเปนแต่ลูกจ้างได้เงินเดือน ที่ตามแถบนี้ราษฎรทำพอกินเลี้ยงชีวิตร์ ไม่มั่งมี แต่ไม่จนอย่างพวกอิตาเลียน พืชพรรณ์ที่เพาะปลูกมีปีดีปีร้าย เช่นกับถ้าหนาวจนน้ำแขงในเดือนเมษายน ต้นผลไม้ที่ออกดอก ไหม้แห้งร่วงเสียหมด เช่นนี้ก็เปนอันไม่ได้ผล ปลูกเข้าสาลีไม่มีฝนเชยเดือนละ ๗ ครั้ง ๘ ครั้ง เช่นนี้ก็เสีย อุบัติต่างๆ ดังนี้ก็ไม่ผิดกับกับเมืองเรา ฤดูมันก็เกือบจะใกล้กัน คืออยู่ซีกปีอย่างเดียวกัน ไม่ใช่ตรงกันข้าม แต่พืชพรรณ์มันต่างกันหมดนั้นเปนธรรมดา นาเข้าสาลีมันก็มีเข้าหนักเข้าเบาเข้ากลางปีเหมือนอย่างเมืองเรา แต่ไม่ตรงกัน จะว่าเข้าหนักฤๅเข้าเบาก็ตาม เช่นกับเข้าหว่านในเดือนตุลาคมปลายฤดู พอขึ้นเล็กน้อยก็ถึงฤดูหนาว สะโนตกทับหมด ในฤดูหนาวนั้นเข้าหยุดไม่งอก ไม่ว่าต้นไม้พืชพรรณอะไร หยุดไม่งอกหมด ถ้าหากว่าสะโนมาล่าไปเข้าที่หว่านลงไว้งอกสูงขึ้นมาเสียแล้ว ถูกสะโนเข้าตายหมด จำจะต้องหว่านลงไปให้พอเหมาะกับที่สะโนจะมาคลุมไม่เปนอันตราย คราวนี้พอตกถึงฤดูสปริงเข้านั้นก็งอกแลตั้งรวง แก่สุกพอทันเกี่ยวในต้นฤดูซัมเมอ จะว่าเปนเข้าเบา เพราะได้เกี่ยวก่อนเข้าพรรณอื่น ฤๅจะว่าเปนเข้าหนัก เพราะต้องหว่านข้ามปีก็ตาม แต่พอเริ่มเข้าฤดูสปริง ราษฎรก็ไถหว่านเพิ่มเติมไปเปนแปลงๆ จนตลอดเวลาหว่านเข้าข้ามฤดูหนาว”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 22

คืนที่ 78 วันพุฒ ที่ 12 มิถุนายน

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองคาลสรูห์ “ลืมเล่าถึงเรื่องดอกไม้ที่นี่ มีดอกไม้งามๆ มากเหมือนกัน โต๊ะกินเข้าบางกอกแต่งสรวยไม่เท่าทุกวัน แลเปลี่ยนอย่างทุกวัน ไม่ได้ซ้ำเลย ดอกกุหลาบสีครั่งซ้อนจนไม่มีเกสร เหมือนสามดอกควบกันเปนดอกเดียว จะเล่าถึงกุหลาบอิกก็จะซ้ำ มีดอกอื่นซึ่งควรจะเล่าคือดอกพุดตาล โตเท่าพุดตาลสีชมภูที่เคยมีในบางกอก ฤๅบางดอกเขื่องกว่า แต่พุดตาลนั้นกลีบไม่ซ้อนเช่นนี้ แลเปนต้นไม้คนละพรรณกันทีเดียว นี่เปนต้นไม้เกิดด้วยศีศะ มีสีต่างๆ ขาว, เหลือง, สีบัวโรย, สีชมภู, แดงแก่, แลสลับสีอิกหลายอย่าง กลิ่นหอมแปลกๆ กัน หอมเปนไทยร่ำอ่อนๆ ตาสจ๊วดแกรู้จักใจว่าพ่อชอบดอกไม้ ไปสืบชื่อแลสืบหาที่ตำบลซึ่งจะซื้อหัวได้มาให้ ได้วานให้ดุ๊กคิดอ่านจัดซื้อ จะได้ส่งเข้ามาให้ปลูกโดยเร็ว”

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 23

คืนที่ 80 วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองแฟรงก์เฟอต “มาหยุดกินเข้ากลางวันที่โฮเตล บ่าย ๓ โมงเศษเกือบ ๔ โมง จึงได้ไปเที่ยวดูรูปภาพตามแกละรี รูปดีๆ มีเขาก็ไม่ขาย รูปอย่างใหม่ที่ตุ๊กแกๆ เราก็ไม่อยากซื้อ เลยไม่ได้ซื้ออะไร ซื้อแต่รูปสีน้ำบ้างกับตุ๊กตาตัวหนึ่ง แล้วไปตามถนนใหญ่จนถึงที่สุดถนนแห่งหนึ่ง เปนสวนเรียกสวน ปาล์ม มีเรียกเงินค่าเข้าที่ประตู พอเข้าไปก็ถึงสวนไม้สีซึ่งปลูกเปนลายมีน้ำพุอยู่กลาง หลังสวนไม้สีนี้มีตึกหลังใหญ่ เปนที่สำหรับคนเข้าไปนั่งกินเข้า หลังตึกเปนสวนหลังคากระจกปลูกปาล์ม จัดเปนทำนองป่ามีน้ำพุที่กลาง ไม่ประหลาดอะไรกว่าที่เรามี เปนแต่ใหญ่ขึ้นนิดหนึ่ง ทำเมืองเราได้ง่ายแลงามกว่านี้ เว้นไว้แต่ต้นที่เปนใบอ่อนปลูกแทนหญ้าเห็นจะทนร้อนไม่ได้ แต่ของเราง่ายที่ปลูกได้ในดิน ของเขาต้องปลูกกระถาง ของเขาต้องใช้กระจก เราไม่ต้องใช้ ปาล์มเขาปลูกมาเก่าต้นใหญ่ๆ ออกจะโทรมแล้วก็มี เรือนปาล์มนี้ตั้งอยู่ในที่สูง ยกพื้นขึ้นไปเปนสองชั้น ชานดินทั้งสองชั้น ข้างเรือนปาล์มนี้ตั้งเก้าอี้เปนที่คนนั่งกลางแจ้ง มีคนนั่งเต็มแน่นไปทั้งนั้น เขาว่าเปนยิ้วเกือบทั้งสิ้น เมืองนี้มียิ้วถึงหมื่นห้าพันคน เปนคนมั่งมีโดยมาก ตึกใหญ่ๆ มักจะเปนของพวกยิ้วทั้งสิ้น ถัดเรือนปาล์มไป มีสวนปลูกต้นกุหลาบต่างๆ ยกพื้นสูงหน่อยหนึ่ง กำลังมีดอกสีต่างๆ ครืดไปทั้งนั้น ที่น่ารักมากคือกุหลาบเลื้อย เลื้อยขึ้นโค้งใหญ่เต็มโค้งได้จริงๆ มีดอกตั้งแต่โคนขึ้นไปจนกระทั่งถึงยอด กุหลาบต้นหนึ่งสูงประมาณสักสิบศอกเปนไม้เรือน ดอกเต็มต้นจนไม่น่าเชื่อ เหมือนจัดปักขวดฤๅจัดจาน หลังสวนกุหลาบนี้เปนที่สนามเล่นลอนเตนนิส เล่นได้ประมาณสักแปดวง เดินเลียบไปอิกข้างหนึ่งมีสระใหญ่ น้ำพุขึ้นในกลางสระ มีเรือสำหรับเล่น เดินวนไปรอบก็พอออกมาถึงประตูสวน ไม่ใหญ่กว่าสวนดุสิตตอนข้างน่า สระเล็กกว่าสระอโนดาด ในการจัดสวนเหล่านี้ไม่ยากลำบากอะไร มีสวนที่ใช้ไออบอุ่นอยู่ตอนหนึ่ง น่าสวนมีสระบัวปลูกบัวสายหยิบหยีน่าสงสาร เข้าไปในร่มหลังคาทำเปนโรงยาวกว้าง ปลูกปาล์มคล้ายกับหลังแรกที่กล่าวถึง แต่ที่ข้างฝาของโรงใหญ่นั้นห้องหนึ่งพอออกมุขยื่นไปเปนโรงหลังคากระจกเตี้ยๆ แต่ยาว ปลูกต้นไม้ที่ต้องการร้อน ใช้แรงไอน้ำซึ่งล่ามท่อไปรอบโรง เปิดให้ร้อนมากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของต้นไม้ บางแห่งเข้าไปถึงเหื่อออก ต้นไม้ที่ปลูกในนั้นเปนไม้ดอกก็อย่างเดียวทั้งโรง ออกดอกครืดเต็มไปหมดดูงามดี ที่ใช้อากาศร้อนมากนั้นคือหน้าวัว ซึ่งปลูกไว้ครบทุกอย่าง เต็มทั้งหลังหนึ่ง หมากผู้หมากเมียหลังหนึ่ง คล้าหลังหนึ่ง พวกกระบองเพ็ชร์หลังหนึ่ง บัวต่างๆ รวมทั้งบัววิกตอเรียด้วยหลังหนึ่ง กล้วยไม้หลังหนึ่ง บอนหลังหนึ่ง ยังเจ้าพวกไม้ที่กินตัวสัตว์เช่นนกกระทุงต่างๆ ก็กันไว้หลังหนึ่ง ต้นไม้ในเรือนหลังนี้มันช่างไม่รู้สึกประหลาดอะไรเลยจริงๆ เพราะเหตุที่เราปลูกกลางแจ้งเปนหมดทั้งนั้น ไม่ต้องประดักประเดิดอะไร การประหลาดของสวนนี้ มันอยู่แก่ผู้ซึ่งเปนชาวเมืองนี้ เขาสนุกสนานตื่นเต้นกันมาก ถ้าเราดูออกจะคับแคบใจดูประดักประเดิด แต่ก็ทีจะตรงกันข้ามอยู่ ถ้าเราจะพยายามปลูกต้นไม้เมืองหนาวบ้าง คิดทำเรือนเย็นเห็นจะฉิบหายมากกว่าเขาทำร้อน เดินเล่นนั่งเล่นอยู่ในสวนนั้นจนเกือบย่ำค่ำจึงได้กลับ”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 30

คืนที่ 114 วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฏาคม ร.ศ. 126

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมร็อก, นอร์เวย์  เปนเขาต่ำๆ มียอดที่สูงๆ ซึ่งเราแลแหงนตั้งบ่า อยู่รอบไป เมื่อแลลงไปข้างล่าง แลเห็นยอดซึ่งเรากล่าวว่าสูง เมื่ออยู่ในทเลนั้น ต่ำลงไปอยู่กว่าเราเสียแล้ว บางเวลาก็เข้าหมอกเห็นคลํ้าเปนเงาๆ ต่อขึ้นมานี้เปนทางเวียนไปบนยอดเขาต่ำขึ้นไปหาสูง ตั้งแต่ระยะ ๔๐๐ ขึ้นไป จนกระทั่งถึง ๘๐๐ เมเตอร์ มีพืชพรรณต้นไม้ต่างๆ ที่มีดอกสลับสีกันเช่นดอกเหลืองเหลืองๆ เล็ก เรียกว่าบัตเตอคัป ดอกสีน้ำเงิน เรียกว่าปลูเบล ดอกสีม่วงเรียกว่าไวโอเลต ดอกสีสรรแลรูปพรรณเหมือนกับดอกบานไม่รู้โรยแต่เขื่องกว่า เรียกว่าโคลเวอ มีดอกที่ไม่รู้จักชื่อหลายอย่าง เช่นเปนช่อๆ เหมือนสร้อยไก่แต่เล็ก มีดอกขาวสองสามอย่าง อย่างหนึ่งขาวเปนปุยเหมือนฟ่าย รูปพรรณเหมือนพู่ขนห่านหมวกทหาร ดอกไม้เหล่านี้ขึ้นระคนปนกัน สลับสีเปนปูพรมมีเฟินก้านเขียว รูปพรรณสัณฐานเหมือนเฟินเงินเฟินทอง ขึ้นเปนหย่อมๆ ตอนต่ำๆ กอยังโตถึงศอกเศษ สูงขึ้นไปก็ยิ่งเล็กลง มีตะใคร่น้ำมอสตลอดหนทาง ยิ่งสูงขึ้นไปก็ยิ่งมากขึ้น เมื่อนั่งๆ ดูไปก็เห็นว่าเปนตัวจริงของการที่เขาเอาไปก่อเขาปลูกเฟินที่เรียกว่า เฟินนะรี แปลว่าเหมือนกันกับเล่นต้นไม้ดัด เอาต้นไม้มาเลี้ยงข่มขี่ให้อยู่ในที่แคบแล้วดัดโอนไปให้เข้าทีเหมือนต้นไม้ใหญ่ฉันใด อ้ายเฟินนะรีที่เอาไปก่อเขาให้มอสเกาะ ปลูกเฟินแทรกก็เลียนจากเขาที่จริงนี่เอง พ่อนึกถึงแม่ ถ้าหากว่าได้มาเห็นจะวุ่นใหญ่ จะต้องการอ้ายดอกอะไรต่ออะไร แลต้องการเฟินแลมอสนั้นเปนแน่ ไม่ต้องสงไสย เปนต้องแซะจริงๆ แต่ผู้ชายยังอยากแซะ แต่ถึงแซะเอาไปก็คงไม่ไปเต็มเมืองเหมือนกับผักตบ เพราะมันเกิดยากด้วยเมืองเรามันร้อน ที่กล่าวถึงผักตบขึ้นมานี้ เพราะได้ฟังจากหนังสือลูกโต เล่าถึงเรื่องคิดฆ่าผักตบดูเปนการเอะอะกันมาก”

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 30

คืนที่ 117 วันอาทิตย์ ที่ 21 กรกฏาคม ร.ศ. 126

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ ตำบล บัลฮม, นอร์เวย์ “พื้นที่ก็รู้สึกว่าเปนบ้านนอกแท้ ไม่เปนอย่างที่จะทำเมือง แต่มันไปไม่ถึงเมือง เปนครึ่งๆ กลางๆ น่าเดินเล่นเปนที่สุด ถนนก็ไม่สู้ชัน ชาวเมืองก็ล้วนแต่ใจดีกิริยาดี พบเข้าที่ไหนก็ยิ้มแย้มแจ่มใสฤๅถึงออกปากต้อนรับก็มี เรือนมักจะปลูกอยู่ข้างฟากชายทเล ฟากข้างในเปนสวนปลูกต้นผลไม้ ซึ่งดูเปนแรกๆ ปลูกไม่กี่ปี แต่มีผลแล้ว แปร์กำลังมีผลอ่อน แชรีแก่แล้ว แชรีอิกอย่างหนึ่ง รูปร่างคล้ายๆ ลูกหว้า แต่สีแดงเปนแชรีอย่างเหลืองด่างแดง ยังไม่สุก เขาว่าเมื่อสุกขึ้นแล้วรศเหมือนลูกองุ่น ออกลูกดกแดงไปเต็มๆ ต้น ไม้ดอกมีกุหลาบมาก ตามบ้านตามชายทเลแลตามในทุ่งหญ้าซอกเขามีกุหลาบป่าชุม กอโตๆ กุหลาบป่านั้นมีเปนสองอย่าง ได้สังเกตเห็นแน่ในวันนี้ อย่างหนึ่งนั้นกลีบชมภูอ่อน ที่ขั้วกลีบขาวจาง อิกอย่างหนึ่งนั้นขาวล้วน ขาวคล้ายดอกชงโค แต่คงเปนกุหลาบลา ๕ กลีบ เหมือนกันทั้งสองอย่าง มันช่างขึ้นง่ายดาย แลงามดีจริงๆ พ่อรักเต็มทีเสียแล้ว” 

 

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 36

คืนที่ 158 วันเสาร์ ที่ 31 สิงหาคม

ขณะที่ทรงเสด็จประพาส ณ เมืองฮอมเบิค “วันนี้เปนวันที่หมอโปรเฟสเซอเกรลแลไมเยอจะไป การอาบน้ำวันนี้ลดน้ำให้เย็นลง เปน ๓๒ ดีกรี แต่เวลาคง ๑๕ มินิตตามเดิม การที่ให้เย็นลงนั้นเพื่อจะให้ไอคาบอนิกในน้ำแรงขึ้น ด้วยไม่มีแคสซึ่งจะนำออก การแต่งดอกไม้ในห้องอาบน้ำ ยิ่งเห็นว่าชอบเขายิ่งเติมขึ้น วันนี้มีดอกทานตวัน ตัดทั้งต้นปักขวดตั้งในมุมห้อง จนเต็มทั้งสองมุม บนหลังตู้ตั้งอ่างรีใหญ่จัดดอกรักเร่ ดูเปนดอกไม้หรูไปทั้งห้องแล้ว”

Info & Photo Credit : ห้องสมุดวชิรญาณ และพระราชนิพนธ์ เรื่อง ไกลบ้าน

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด