TOP

ดีเดย์ 18 มี.ค. 63 ครม. ยกระดับมาตรการป้องกันเข้มโควิด-19 สั่งปิด 14 วัน สถาบันการศึกษา สถานบันเทิง (กทม.-ปริมณฑล)

ประเทศไทยล่าสุด (17 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติตามที่ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย มีแนวโน้มที่จะยกระดับเป็นระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีการระบาดในวงกว้าง เพื่อเป็นการชะลอการระบาดของเชื้อโรคให้อยู่ในระยะที่ 2 ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเพื่อเป็นการลดการระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อหาแนวทางรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยถือว่าการแก้ไขปัญหา โควิด-19 นั้น มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 เนื่องจากมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคบรรเทาลงแล้ว รัฐบาลจะได้ดำเนินการฟื้นฟูผลกระทบด้านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์โควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจรายวันอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ปรับหรือเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

ตามที่คณะบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีมติเห็นชอบอนุมัติ 6 มาตรการ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น มาตรการหลักๆ ภายใต้กรอบการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และจะยัง“ไม่มีการปิดเมือง หรือปิดประเทศ”

 

6 มาตรการ 6 ด้าน

(1) ด้านสาธารณสุข (2) ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน (3) ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน (4) ด้านการต่างประเทศ (5) ด้านมาตรการป้องกัน และ (6) ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ดังนี้

 

มาตราการด้านสาธารณสุข

“ไม่มีการปิดเมือง หรือปิดประเทศ”

(1) ป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย

  • ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี, จีน (รวมมาเก๊าและฮ่องกง) อิตาลี และอิหร่าน รวมถึง 2 เขตปกครองพิเศษ รวมถึงประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่อง ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีประกันสุขภาพ ยินยอมใช้แอปพลิเคชันติดตามของรัฐ มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องดูหนังสือเดินทางของชาวต่างประเทศด้วย ว่าประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคืออะไรบ้าง เป็นเขตติดโรคหรือไม่ แล้วแจ้งกระทรวงมหาดไทย มาตรการกักกันของรัฐ ต้องถูกกักตัวไว้สังเกตอาการ 14 วัน
  • ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทาง ไปในประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง

(2) พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่ติดเชื้อ หรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนัก ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

(3) กำหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องใช้แอปพลิเคชั่น ติดตามตัว

(4) บุคลากรทางการแพทย์ปัจจุบันมีเพียงพอ มีแพทย์ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 37,160 คน พยาบาลทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน รวมจำนวน 151,571 คน รวมทั้งให้ทุกโรงพยาบาลเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ และเตรียมโรงพยาบาลเฉพาะกิจ หรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับหากสถานการณ์ปรับเข้าสู่ระยะที่ 3

(5) จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรับมือระยะที่ 3 ได้แก่ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค ซึ่งมีแผนการผลิตและจัดหาแล้วอย่างต่อเนื่อง

(6) แนะนำให้คนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศ ชะลอการเดินทางกลับประเทศไทย จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น

 

มาตรการด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 

“เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ” โดยเร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน เจล และแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้า เมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมนุมหรือชุมชน และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ นำหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้ ส่งศูนย์กระจายและบริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัย เพื่อกระจายสู่ประชาชนต่อไป สำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์, หน้ากากN95, อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น และประสานกับต่างประเทศในการจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ ตรวจสอบการขาย Online การกักตุน และการระบายของสินค้า

 

มาตรการด้านข้อมูลการสื่อสาร

ข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่

(1) กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข

(2) ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง

 

มาตรการด้านการต่างประเทศ

การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ

  • ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้ประโยชน์จาก TEAM THAILAND ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าทีม
  • ในประเทศให้นำผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้ามาหารือด้วย

 

มาตรการด้านการป้องกัน

ด้วยการลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง

(1) ปิดสถานที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น

1.1> สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่ายแม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย, โรงเรียนนานาชาติ, สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว รวม 14 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรค ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

1.2> สถานที่ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตร แต่มาเพื่อทำกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อง่ายทางปาก สัมผัสถูกเนื้อถูกตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่ายจะต้อง

  • ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับ สนามมวย สนามม้า สนามกีฬาที่มีผู้ชมแออัด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • ปิดชั่วคราว 14 วัน สำหรับ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ ฟิตเนส สปา และ โรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์

1.3> งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต, การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ, กิจกรรมทางศาสนา, วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย และเพิ่มมาตรการป้องกันสำหรับพื้นที่และสถานที่ที่ยังต้องเปิด

(2) ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า, ตลาด, สถานที่ราชการ และ รัฐวิสาหกิจ โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

(3) ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส, การคัดกรองอุณหภูมิ, การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัดมาตรการ “ลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค”

(4) ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ ได้แก่ งดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 13 – 15 เมษายน 2563 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

(5) ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ โดยเพิ่มความถี่ของการเดินรถ

(6) งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย

(7) ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน และการทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วย ทำแผนการทำงานจากบ้าน และรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์ฯ มาตรการ “เพิ่มกลไกการกำกับดูแลในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น”

(8) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด หรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัดพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด และแจ้งมาตรการที่จะดำเนินการ ต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทราบ และให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน

(9) ให้เร่งดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยด่วน และให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการดำเนินการเฝ้าระวัง

 

มาตรการช่วยเหลือเยียวยา

(1) กลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยว ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการ lay off พนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ กระทรวงอุตสากรรม เสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน

(2) กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีภาระในการผ่อนชำระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่อยู่นอกระบบ เช่น พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน เป็นต้น กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯในระยะที่ 2 ต่อไป

(3) ให้กระทรวงการคลัง, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดูแลอย่างเข้มงวด ในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดี การขายฝาก เป็นต้น

(4) สร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ สำหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค ที่เคยเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์ข้อมูลโควิด นำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ต่อไป หลายอย่างหลายมาตรการเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ ต้องไปดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

 

ชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสโควิด-19

ส่วน ทีมวิจัยพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ของไทย สามารถทำให้วินิจฉัยโรคได้ ภายใน 30 – 45 นาที ตอนนี้ได้เริ่มทดลองกับตัวอย่างจากคลีนิกแล้ว ซึ่งตัวแทนจาก สถาบันวิทยสิริเมธี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ บริษัท ปตท. ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลวิจัยเพื่อพัมนาชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่นี้ ให้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30-45 นาที จากปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาสาสตร์ โดยขณะนี้ทาง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ภาควิชาจุลชีววิทยา เริ่มทดลองกับตัวอย่างทางคลีนิกแล้ว และอยุ่ระหว่างการเตรียมแผนผลิตชุดทดสอบเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการในขั้นตอน Clinical Trial เพื่อให้ได้ภายในเดือนเมษายนนี้ เบื้องต้นชึดตรวจนี้ราคาอาจจะไม่ถึง 500 บาท

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด