TOP

วัคซีนโควิด-19 คือคำตอบสุดท้าย? คำถามคาใจ ฉีดดี-ไม่ฉีดดี

…ติดรึยัง ติดรึยัง…อยู่บ้านมาได้สิบสี่วัน ติดรึยัง ติดรึยัง ตรวจวัดไข้วันละพันครั้ง ติดรึยัง ติดรึยัง อยากตรวจโรคแต่ไม่มีตังค์…

เพลงของ Noth Getsunova อาจจะแทงใจใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มันกลับมาอีกแล้ว และนักวิชาการบางคนประเมินว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วหลายเท่า โควิด-19 แม้ ณ วันนี้ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วในหลายๆ พื้นที่ เปิดให้ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง กระนั้น ยังคงมีนานาคำถามคาใจเกี่ยวกับโควิด-19 อาทิ ฉีดวัคซีนดีมั้ย? ฉีดแล้วยังจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอีกหรือเปล่า? ร่างกายเราสามารถรักษาโควิด-19 ได้เองหรือไม่? ทุกคนควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไหม?

 

อะราวด์พาไปหาคำตอบจาก ศ. พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จาก รายการ Rama Variety ของ RAMA CHANNEL

 

Q: วัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากเพียงใด?

ต้องบอกว่าบางทีวัคซีนโควิด-19 อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปอธิบายถึงการแพร่กระจายของโควิด-19 กันก่อน โควิด-19 เกิดจากไวรัส ซึ่งเชื้อแพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางละอองน้ำมูก ละอองน้ำลาย โดยการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ 2 ทาง

  1. 1.) การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ คือห่างกันน้อยกว่า 1 เมตร เมื่อผู้ติดเชื้อไอจามหรือพูด และละอองน้ำมูก ละอองน้ำลาย กระเด็นเข้าจมูกเข้าปากของอีกฝ่ายโดยตรง
  2. 2.) เมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจาม แล้วเชื้อโรคจากละอองน้ำมูก ละอองน้ำลาย ไปติดตามพื้นผิวพื้นที่สาธารณะ เช่น บนพื้น ราวบันได หรือกรณีที่มือผู้ติดเชื้อเปื้อนละอองเหล่านั้น และไปจับตามพื้นที่สาธารณะ ฉะนั้นเวลาที่เราไปจับหรือสัมผัสตามพื้นที่สาธารณะ แล้วเผลอมาจับหน้า ป้ายตา แคะจมูก หรือจับปาก ซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อโรคอีกทางหนึ่ง จะเกิดการรับเชื้อไปด้วย

ฉะนั้นถามว่า มีวัคซีนโควิด-19 แล้ว เราทำชีวิตตามปกติ ไม่ต้องสวมหน้ากาก ไม่ต้องล้างมือบ่อยๆ ไม่ต้องเว้นระยะห่างได้มั้ย? ต้องบอกว่า “ไม่ได้” เรายังคงต้องป้องกันตนเองอย่างที่เคยทำมา เนื่องจากข้อมูลของวัคซีนตอนนี้ ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้ามีการติดเชื้อแล้วจะลดความรุนแรงลง รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต

-||-

 

Q: ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอีกต่อไป?

ต้องบอกว่าวัคซีนทุกชนิดในโลกนี้ ไม่มีวัคซีนชนิดไหนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโควิด-19 หรือวัคซีนอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ วัคซีนที่เรามีอยู่ในขณะนี้ บางชนิดประสิทธิภาพเต็มที่อาจจะสัก 60 เปอร์เซ็นต์ หรือบางยี่ห้ออาจมากถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีวัคซีนไหนที่ให้ประสิทธิภาพเต็มร้อย ปัจจุบันแม้จะฉีดวัคซีนครบโดส คือฉีด 2 เข็มแล้ว อย่างไรเรายังคงต้องป้องกันตัวเหมือนเดิม

-||-

 

Q: ทุกคนควรได้รับวัคซีน?

ในความเป็นจริงการได้รับวัคซีนทุกคนเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ด้วยกำลังการผลิตยังทำได้ไม่เต็มที่ จึงต้องทยอยให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน

-||-

 

Q: เมื่อได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ให้ประสิทธิภาพยาวนานแค่ไหน?

ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะต้องฉีดซ้ำหรือไม่ ทั้งนี้ การที่เราจำเป็นต้องฉีดซ้ำหรือไม่ ขึ้นกับ 2 ประเด็นหลักๆ

  1. ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของเราว่าจะอยู่นานแค่ไหน ถ้าภูมิคุ้มกันลดลงจนถึงเกณฑ์ที่ป้องกันโรคไม่ได้ ก็ต้องฉีดซ้ำ
  2. การกลายพันธุ์ของไวรัส ถ้าไวรัสกลายพันธุ์ หมายความว่าวัคซีนที่เราได้รับ ไม่สามารถจะป้องกันการติดเชื้อของไวรัสนั้นได้

-||-

 

Q: การฉีดวัคซีนโควิด-19 และการตรวจเชื้อโควิด-19 มีค่าใช้จ่ายหรือไม่?

ขณะนี้รัฐบาลได้จัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนฟรี โดยเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย แต่จะได้รับครบทุกคนหรือไม่ต้องว่ากันอีกที ส่วนการตรวจหาเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19 นั้น เราพยายามวินิจฉัยให้เร็ว เพื่อจะส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น สำหรับการเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19 นั้น ตามโรงพยาบาลถ้าเข้าเกณฑ์ความเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรคสูง เข้าไปพื้นที่สีแดง หรือใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ สามารถเข้ารับการตรวจฟรี

-||-

 

Q: ทุกคนควรจะเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือไม่?

ในความเป็นจริงไม่ใช่ว่าทุกคนจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะบางคนไม่ได้เดินทางไปที่ไหนเลย อยู่แต่บ้านไม่มีความเสี่ยงอะไร แต่ถ้าไม่แน่ใจสามารถปรึกษาแพทย์หรือขอเข้ารับการตรวจได้

-||-

 

Q: การจะหยุดเชื้ออย่างแท้จริง ต้องมีข้อปฏิบัติอย่างไร?

ประการแรกคือ การป้องกันตัวเองก่อน มีสติตลอดเวลา ทั้งนี้มี 3 อย่างที่ต้องทำตลอดเวลา คือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ยิ่งถ้าต้องออกนอกบ้านให้พกเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ และต้องมี Social Distancing คือการเว้นระยะห่าง ต้องทำอย่างต่อเนื่องและทำไปเรื่อยๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการวัดอุณหภูมิ และสแกนแอปพลิเคชันที่ได้รับการแนะนำ

-||-

 

Q: สำหรับคนที่มีรู้สึกมีอาการไม่อยากบอกไทม์ไลน์

แต่ใช้วิธีการกักตัว 14 วันแทนได้ไหม

ร่างกายเราสามารถรักษาหายได้เอง?

เชื้อที่ทำให้เกิดโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัส ถามว่าถ้าเราแข็งแรงจริงๆ สามารถรักษาหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาได้ โดยเฉพาะถ้าไม่มีอาการเลย และเป็นคนหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัว เช่นเดียวกับการเป็นไข้หวัด แต่ประเด็นคือ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าเราจะเป็นคนส่วนน้อยที่บังเอิญมีอาการแย่ลง และเกิดอาการเชื้อลงปอด และเกิดปอดอักเสบหรือไม่ ทั้งนี้ในผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ถ้าอาการทรุดลง จะเกิดขึ้นในช่วงคือปลายสัปดาห์แรก คือประมาณวันที่ 6-7 วัน หลังมีอาการ ฉะนั้นก็ต้องนั่งลุ้นอาการว่าจะแย่ลงมั้ย จะเหนื่อยจะหอบมั้ย ถ้าอาการแย่ลง อาจจะเกิดอาการปอดอักเสบ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น อาจจะช้าไปแล้ว ยาอาจจะช่วยไม่ทัน แต่ถ้าได้รับยาเร็วจะให้ผลในการรักษาได้ดีกว่า สรุปคือ แม้วัคซีนโควิด-19 จะมาแล้ว แต่วิถี New Normal ยังคงต้องมี สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง กินอาหารจานใครจานมัน ไม่ควรเอาตัวเองไปอยู่ในที่เสี่ยง ที่มีคนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นดีที่สุด

——————————————-

ขอบคุณที่มา: รายการ Rama Variety ของ RAMA CHANNEL

#โควิด-19  #ฉีดวัคซีนโควิด19 #วัคซีนโควิด19

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด