TOP

โรคไข้เลือดออกเดงกี ระบาดหนัก อย่าชะล่าใจ! ปล่อยให้ยุงลายกัดซ้ำๆ เสี่ยงเสียชีวิตได้

ไข้เลือดออกรุนแรง พบแล้ว ป่วย 26,000 ราย เสียชีวิต 30 ราย สูงกว่าปีก่อนๆ ถึงสองเท่า!

 

ไช้เลือดออก ต้นเหตุอันเกิดมาจากยุงตัวเล็กๆ แต่ฤทธิ์เยอะ สามารถทำให้คนเราเจ็บป่วยถึงตายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือกอออกมากขึ้น บางคนหลังจากถูกเจ้ายุงกัด มีอาการแพ้มากถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เข้าสู่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ต้องลองสังเกตุตัวเองดีๆ หลังจากถูกยุงกัด ถ้ามีไข้สูงนาน 2 วัน แล้วไข้ยังไม่มีทีท่าลด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ปัจจุบันโรคนี้กำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข และการแพทย์ของประเทศไทยอย่างมาก

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ จากการตรวจสอบพบว่าโรคไข้เลือดออกที่พบในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็น “เชื้อไวรัสเดงกี่ ” สายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดใน 4 สายพันธุ์ ยิ่งหากเป็นการป่วยไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จะยิ่งมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคมากขึ้น ทั้งนี้ หากพบว่าตัวเองมีไข้สูงลอยนาน 2 วัน ยังไม่ลดให้รีบไปพบแพทย์ และถึงแม้ไข้ลดแล้วก็ต้องดูด้วยว่าสภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นอย่างไร ซึมลง ไม่มีเรี่ยวแรง หรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ให้รีบกลับไปพบแพทย์อีกครั้งทันที อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือคลินิก ร้านขายยา หากผู้ป่วยไข้สูง ขอให้หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็ดเสด เพราะเสี่ยงทำให้เลือดออก เสียชีวิตได้ และขอทุกฝ่ายช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วย

 

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. (กระทรวงสาธารณสุข) กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้มีจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในไทยและอาเซียน เพราะเป็นพื้นที่ร้อนชื้น จากรายงานขององค์การอนามัยโลก คาดว่า แต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีประมาณ 50-100 ล้านคน ร้อยละ 70 เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน และส่วนไทยพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบันมีผู้ป่วย 28,785 ราย สูงกว่าปี 2561 ถึง 1.7 เท่า เสียชีวิต 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15 อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปีจะมีผู้ป่วยถึง 100,000 ราย

 

เมื่อถามว่าจากสถานการณ์ถือว่าเป็นการระบาดใหญ่หรือไม่ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สามารถประกาศได้ เพราะตอนนี้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ของค่าเฉลี่ยผู้ป่วยในรอบ 5 ปี อัตราการเสียชีวิตพุ่งถึง 1.6 ต่อ 1 พันประชากรที่ป่วย ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานกำหนดไว้คือ 1 ต่อ 1 พันประชากรที่ป่วย อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตปีนี้ ก็แซงตัวเลขปี 2558 ซึ่งเป็นการระบาดใหญ่ของไข้เลือดออกไปแล้ว คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงกว่าปี 2558 ด้วย ทั้งนี้ สาเหตุที่พบอัตราการป่วยมากในปีนี้ เพราะปีที่แล้วแม้จะควบคุมโรคได้ดี แต่ยังมีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในธรรมชาติ พอมาในปีเลยพบมากขึ้น และมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 2 ทำให้มีอาการรุนแรงได้

และจากรายงานสรุปสถานการณ์ไข้เลือดออก ประจำสัปดาห์ที่ 22 ปี 2562

สรุปยอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ของกรมควบคุมโรค พบว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 28,785 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,355 ราย เสียชีวิต 43 ราย อัตราป่วย 43.57 ต่อแสนประชากร อัตราเสียชีวิตร้อยละ 0.15

 

สถิติการป่วยและเสียชีวิต ในแต่ละภาค

  • โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่วยสูงสุด 10,758 รา เสียชีวิต 16 ราย
  • ภาคกลาง ป่วย 10,303 ราย เสียชีวิต 19 ราย
  • ภาคใต้ ป่วย 4,573 ราย เสียชีวิต 7 ราย
  • และภาคเหนือ ป่วย 3,151 ราย เสียชีวิต 1 ราย

 

จังหวัดที่พบว่ามีอัตราการป่วยและเสียชีวิต 

  • อุบลราชธานี มีอัตราการเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 8 ราย
  • รองลงมา คือ ราชบุรี  เสียชีวิตแล้ว 3 ราย
  • นครศรีธรรมราช เสียชีวิตแล้ว 3 ราย

 

สำหรับพื้นที่ระบาด

  • พื้นที่เสี่ยงสีแดง มีทั้งสิ้น 405 อำเภอ
  • พื้นที่เสี่ยงสีเหลือง 188 อำเภอ

 

อำเภอที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย

  • อุบลราชธานี 4 อำเภอ คือ อ.เดชอุดม, อ.น้ำยืน, อ.นาจะหลวย และ อ.เมือง
  • นครราชสีมา 3 อำเภอ คือ อ.ปากช่อง, อ.สูงเนิน และ อ.เสิงสาง
  • ศรีสะเกษ 1 อำเภอ คือ อ.กันทรลักษณ์
  • เลย 1 อำเภอ คือ อ.ภูกระดึง
  • และชลบุรี 1 อำเภอ คือ อ.ศรีราชชา

 

สำหรับอัตราการป่วยและเสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2557 พบว่า

  • ปี 2561 มีผู้ป่วย 17,302 ราย เสียชีวิต 21 ราย
  • ปี 2560 มีผู้ป่วย 13,961 ราย เสียชีวิต 27 ราย
  • ปี 2559 มีผู้ป่วย 19,029 ราย เสียชีวิต 16 ราย
  • ปี 2558 มีผู้ป่วย 24,248 ราย เสียชีวิต 13 ราย
  • ปี 2557 มีผู้ป่วย 10,670 ราย เสียชีวิต 7 ราย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ พบว่ามีผู้ป่วยทั้งปีอยู่ที่ 142,925 ราย เสียชีวิต 141 ราย

 

เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า

  • อายุ 5-14 ปี ป่วยมากสุด 11,965 ราย เสียชีวิต 21 ราย
  • รองลงมาคือ อายุ 15-34 ปี ป่วย 10,654 ราย เสียชีวิต 11 ราย
  • อายุ 35-59 ปี ป่วย 3,375 ราย เสียชีวิต 5 ราย
  • อายุ 0-4 ปี ป่วย 1,979 ราย เสียชีวิต 6 ราย
  • และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป่วย 812 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ ได้อธิบายถึงโรคไช้เลือกออก ให้พวกเรารู้ถึงที่มาของสาเหตุ และพึงระวังตัว

ลักษณะของโรค
โรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Hemorrhagic Fever-DHF) เป็นโรคติดเชื่อไวรัสเดงกี ที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง และจำนวนมีเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศ ที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยุงคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลก มากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น
วิธีการติดต่อของโรค
โรคไข้เลือดออกเดงกี ติดต่อกันโดยมียุงลายบ้าน เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่จะมียุงลายสวน เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัด และดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื่อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะของยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่น ก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้

 

ระยะฟักตัว

ระยะฟักตัวจำนวนของไวรัสเดงกีในยุง ประมาณ 8-10 วัน ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกีในคน ประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5-6 วัน

ระยะติดต่อ
โรคไข้เลือดออกเดงกี ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยยุงเป็นแมลงนำโรคเท่านั้น การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูง ประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพอ อีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน
อาการแสดง
หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี ไปจนถึงมีอาการรุนแรง และรุนแรงมากขึ้นจนถึงช็อก และเสียชีวิต

ผู้ป่วยจะมีอาการ 3 แบบ คือ

  1. Undifferentiated fever (UF) หรือกลุ่มอาการไวรัส
  2. ไข้เดงกี (Dengue fever – DF)
  3. ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever – DHF)

 

โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้

  1. ไข้สูงลอย 2-7 วัน
  2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
  3. มีตับโต กดเจ็บ
  4. มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

 

การดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระย

ระยะไข้ 
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

ระยะวิกฤติ/ช็อก
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

ระยะฟื้นตัว
ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

ระบาดวิทยาของโรค

ประเทศไทยเริ่มพบโรคไข้เลือดออกประปราย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2492 และการระบาดใหญ่ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ในเขตกรุงเทพ-ธนบุรี สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501-2545 มีแนวโน้มที่สูงขึ้น และมีการระบาดหลายลักษณะ เช่น ระบาดปีเว้นปี ปีเว้น 2 ปี หรือระบาดติดต่อกัน 2 ปี แล้วเว้น 1 ปี แต่ในระยะ 15 ปีย้อนหลัง ลักษณะการระบาดมีแนวโน้มระบาด 2 ปี เว้น 2 ปี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอยู่ในกลุ่มอายุ 0-14 ปี อัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี อัตราส่วนผู้ป่วยเพศหญิงต่อเพศชายใกล้เคียงกัน พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม

 

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีตลอดระยะวิกฤต คือ ช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีการรั่วของพลาสมา หลักในการรักษา มีดังนี้

  • ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูงมาก ให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน, ibrupophen, steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
  • ให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
  • ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
  • ดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษาเพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ด้วย สารน้ำ พลาสมา หรือสาร colloid อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

 

 

ขอบคุณที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) | สำนักระบาดวิทยา | หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Photo Credit : pixabay | stockvault | กระทรวงสาธารณสุข

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด