TOP

ดื่มแค่ไหน เสี่ยงถูกเป่า ถูกปรับ จำคุก

ใกล้เทศกาลต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วัน สังเกตกันหรือไม่ว่าจะพบด่านตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายบนท้องถนน ทั้งสายหลักและสายรอง แทบจะทุกเส้นทาง โดยเฉพาะใช้มาตรการเข้มงวดจับ “เมาแล้วขับ” เพื่อให้การขับขี่ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ การเมาแล้วขับ เป็นสาเหตุสำคัญของสถิติการเสียชีวิต ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาว อัตราการตายบนท้องถนนมักจะเพิ่มขึ้น 100% จากวันละ 60 คน ขยับเป็นวันละ 80-120 คน

 

รายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการใบสั่งจราจร กรณีผู้กระทำผิดซ้ำ ตามบทลงโทษในข้อหาเมาแล้วขับให้หนักขึ้น เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น มีการลงโทษผู้ขับขี่ และผู้โดยสารที่นั่งมาด้วย ในข้อหาสนับสนุนให้กระทำความผิด และได้มีการปรับแก้ไขกฎหมายเรื่องเมาแล้วขับฉบับล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2560 ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ว่าด้วยระดับแอลกอฮอล์ที่กฎหมายกำหนดคือ ต้องไม่เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในร่างกาย ซึ่่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ตรวจจับ ถ้าไม่ยอมให้ตรวจหรือเจตนาหลบหนี จะมีโทษทางกฎหมาย ซึ่งแอลกอฮอล์ในปริมาณดังกล่าวถือว่าเป็นปริมาณที่ต่ำมาก เพราะการดื่มเบียร์ 1 กระป๋องร่างกายจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ถึง 330 มิลลิกรัม ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว ถ้าดื่มก็ไม่ควรขับเด็ดขาด เพราะเพียงแค่เริ่มดื่มปริมาณแอลกอฮอล์ก็เกินกว่ากฎหมายกำหนดแล้ว ยิ่งถ้ารู้ตัวเองว่ามีความเสี่ยงตามข้อกฏหมาย แล้วยังหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองโดนจับ ด้วยวิธีการต่างๆ นั่นไม่ได้เป็นการเลี่ยงความเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อตัวเองและต่อผู้อื่นเลย

 

แต่หากรู้ตัวว่าอยากเต็มที่กับการปาร์ตี้สังสรรค์ ก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยการกลับด้วยแท๊กซี่ หรือดื่มสังสรรค์ที่บ้านดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะโดนข้อหา “เมาแล้วขับ” ถูกปรับและจำคุกได้นะจ้า มาทบทวนข้อกฏหมายกันอีกสักครั้ง เพื่อเตือนตัวเองให้ขึ้นใจ

 

เกณฑ์ พ.ร.บ จราจรทางบก กำหนด

ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าผู้ขับขี่นั้น “เมาสุรา”

  • กรณีผู้ขับขี่อายุไม่เกิน 20 ปี หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่า “เมาสุรา”
  • ผู้ที่อายุเกิน 20 ปี หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่า “เมาสุรา” โดยมีความผิดทางกฎหมายกำหนด ต้องติดคุก ถูกปรับ และบำเพ็ญประโยชน์

 

อัตราโทษในความผิด “เมาแล้วขับ”

  • “เมาแล้วขับ” จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับขั้นต่ำ 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังถูกศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาต จนถึงการยึดรถที่ใช้ไม่เกิน 7 วัน
  • “เมาแล้วขับ” จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ถูกปรับ 20,000 ถึง 100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต
  • “เมาแล้วขับ” จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายอย่างสาหัส มีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับขั้นต่ำ 40,000 ถึง 120,000 บาท ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต
  • สุดท้ายในกรณี “เมาแล้วขับ” จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่กรรม มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับเป็นเงิน 60,000 ถึง 200,000 บาท รวมถึงถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทันที

 

และที่สำคัญ “เมาแล้วขับ” หากเกิดอุบัติเหตุรถชน บริษัทประกันบางรายก็ไม่คุ้มครองอีกด้วย ทางที่ดีหากหลีกเลี่ยงการดื่มได้จะดีกว่า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งตัวเอง และเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน

 

ที่มา : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด