TOP

‘อีวารี่’ โรคใหม่ ที่พบในผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า

ยังเป็นข้อถกเถียงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นเป็นผลกระทบกับผู้ใช้ หลังจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าจนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยโรคปอดในประเทศกว่าพันคน และเสียชีวิตจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วกว่า 20 คน ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฏหมายในประเทศไทย ขณะที่ประชาชนบางกลุ่ม พยายามผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าควบคุม เพราะมองว่าเป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มวน

 

บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฏหมาย ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 โดยผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้า ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้าและพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าห้ามขายหรือให้บริการ โดยกำหนดโทษผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษจำคุกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นที่ปลอดบุหรี่ ถือว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มาตรา 42 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ซื้อ รับไว้ หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ถือเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สคบ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า “มีประเด็นข้อสงสัยถามกันเข้ามาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กพอสมควร ว่าการครอบครองผิดหรือไม่? สำหรับการครอบครองอาจจะไม่ผิดกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพราะว่ากฏหมายของเรามุ่งดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ แต่อาจจะผิดตาม พรบ.ศุลกากร เพราะว่าการครอบครอง การมีไว้ซึ่งสินค้าต้องห้ามการนำเข้า มีอัตราโทษจำคุกเช่นกัน ความจริงแล้วถึงแม้ว่าจะมีอยู่ในครอบครองก็มีความผิด ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ และสามารถดำเนินคดีกฎหมายศุลกากรครับ”

ที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเยาวชนได้ง่าย โดยที่ผู้ปกครองไม่อาจสามารถสังเกตุเห็น พ.ต.อ.ประทีป ยังกล่าวต่อว่า “การนำเข้าหลักๆ สินค้าจะมาจากทางมาเลเซียส่วนหนึ่ง และจีน ดังนั้นเรื่องคุณภาพไม่แน่ใจ เนื่องจากว่าสินค้าจากจีนบางตัวก็ขาดคุณภาพ แต่จากการพูดคุยกับแม่ค้า ตัวน้ำยาจะมีนิโคติน ยิ่งถ้ามีนิโคตินสูง ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ถ้านำเข้าจากจีน ศุลกากรมาจากทางท่าเรือเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นสินค้าจากมาเลเซีย ช่องทางหลักๆ ก็มาจากด่านชายแดนทางหาดใหญ่ และปาดังเบซาร์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้มีการกวดขันไม่ให้มีการนำเข้ามา”

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบัน สคบ.สามารถจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า, น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 47 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ พื้นที่ถูกบุกตรวจยึดมากที่สุด คือย่านคลองถม จำนวน 12 ครั้ง ข้อมูลจาก สถาบันเพื่อการควบคุมยาสูบโลก มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 มี 98 ประเทศ ที่มีกฏหมายควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 68 ประเทศในปี พ.ศ.2559 ในจำนวนนี้มี 29 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทโดยเด็ดขาด เพิ่มขึ้นจาก 25 ประเทศในปี พ.ศ.2559 และอีก 45 ประเทศ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า หากยังไม่ผ่านเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด เพื่มจาก 17 ประเทศ ในปี พ.ศ.2559 และอีก 7 ประเทศ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของนิโคติน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า หลายประเทศตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย แม้ประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบเด็ดขาด แต่ปัจจุบันกลับพบว่า การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งอุปกรณ์การสูบ และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องยาก และพบว่า “อินเตอร์เน็ต” เป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้คนจำนวนมากใช้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าเพจเฟซบุ๊กกว่า 10 เพจ จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมกับบริการเสริมต่างๆ แอพพลิเคชันไลน์เป็นหนึ่งในช่องทางติดต่อกับผู้ขาย และสามารถรับสินค้าได้อย่างรวดเร็ว บางเว็บไซด์พบว่ามีส่วนผสมของน้ำมันกัญชาจำหน่ายด้วย ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันกัญชาเป็นส่วนผสม จะมีสัญลักษณ์ CBD ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นสารสะกัดที่ได้จากพืชกัญชาแสดงอยู่บนผลิตภัณฑ์ ผู้ที่จะสั่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สามารถเลือกได้ว่าต้องการส่วนผสมของน้ำมันกัญชากี่มิลลิกรัม แต่ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามปริมาณของน้ำมันกัญชา การติดต่อจะเป็นการติดต่อส่วนตัวไม่ผ่านเว็บไซด์หรือเพจเฟซบุ๊ก และนัดการส่งสินค้า ซึ่งมีการแอบลักลอบขายกัน ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการขายไปอย่างมาก โดยเปลี่ยนจากการใช้คำว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ยังมีการนำเสนอภาพและใช้ศัพท์คำอื่นแทน จึงเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทุกกลุ่มอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา

เมื่อนำน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าไปที่ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบในห้องปฏิบัติการหาสารต่างๆ ที่ผสมอยู่ในน้ำยาเหล่านี้ ด้วยวิธีการสกัดนิโคตินออกจากบุหรี่ไฟฟ้า นำบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกปรับสภาพให้เป็นด่างด้วยการเจือจางด้วยน้ำ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สารสกัดจากคลอโรฟอร์ม หรือตัวทำละลายอินทรีย์ ใส่ลงไปในหลอดทดลองแล้วนำเข้าเครื่องสั่น เพื่อให้สารกับน้ำยาเป็นเนื้อเดียวกัน สารจากหลอดทดลอง จะถูกนำมาใส่ในหลอดแก้วขนาดเล็กอีกใบที่เตรียมไว้ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสารต่างๆ ด้วย เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี แมสสเปกโตรมิทรี (Gas Chromatograph-Mass Spectromete) หรือเครื่อง GCMS เพื่อเช็คว่าในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดหรือไม่ และหาชนิดของสารเสพติดที่ผสมอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า เครื่อง GCMS จะทำหน้าที่วิเคราะห์และแยกสารประกอบในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ว่ามีสารประกอบใดบ้าง การตรวจวิเคราะห์น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการครั้งล่าสุดของ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีตัวอย่างน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 300 ชนิด ซึ่งพบว่าสารนิโคตินอย่างเดียวที่เป็นสารเสพติด นอกจากนั้นยังพบสารแต่งกลิ่นหลากหลายชนิด คล้ายกับสารแต่งกลิ่นในอาหาร เช่น เมนทอล กลิ่นผลไม้ต่างๆ และทุกชนิดมีไขมันเป็นส่วนประกอบด้วย ในการตรวจวิเคราะห์น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่ผ่านมา ยังไม่พบสารประกอบอันตรายใดๆ ในฐานข้อมูลของสำนัก แต่การตรวจทุกครั้งจะพบสารเคมี ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าคือสารชนิดใดรวมอยู่ด้วย เพราะในฐานข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่มีข้อมูลของสารเหล่านี้อยู่

 

วันที่ 24 สิงหาคม 2562 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าพบผู้เสียชีวิตเชื่อมโยงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายแรกของประเทศในปีนี้ อยู่ในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอดอักเสบรุนแรง หลังจากสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยโรคปอด ซึ่งอาจเกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 193 คน ใน 22 รัฐ เพิ่มขึ้นจาก 153 คนในช่วงเวลาเพียง 2 วัน จนถึงปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 20 คน และป่วยด้วยโรคปอดกว่า 1,000 คน ใน 49 รัฐ การเสียชีวิตของประชาชนในสหรัฐอเมริกา กว่าร้อยละ 70 อาจมีสาเหตุมาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับสารสกัดจากพืชกัญชา แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจากสหรัฐอเมริกา ยังไม่สรุปว่านี่เป็นสาเหตุเดียวหรือไม่

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยว่า “ส่วนประกอบในน้ำยา ก็ประกอบด้วยนิโคติน ประกอบด้วยตัวละลายน้ำมันพืช และสารปรุงแต่งกลิ่นรส 3 ส่วนนี้ ซึ่งสารปรุงแต่งกลิ่นรสเยอะมาก และขณะนี้เขาเข้าใจว่า ตัวสารปรุงแต่งกลิ่นรส เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ รวมทั้งตัวสารละลายนี้ก็ด้วย แต่สารละลายเป็นไขมัน คนที่ป่วยจากการที่สูบบุหรี่ในอเมริกา 800 กว่าคน พบว่าเซลล์ปอดมีไขมันไปคั่งอยู่ เพราะว่าเม็ดเลือดขาวเซลล์ปอด ทำหน้าที่จับสิ่งแปลกปลอมทั้งฝุ่นละออง ทั้งเชื้อโรค ละอองไอนั้นเป็นไขมันเล็กๆ เซลล์พวกนี้ก็จับมันก็ทำให้การทำงานไม่ปกติ เกิดอักเสบขึ้น”

 

ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย

ข้อมูลการวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ผ่าน เว็บไซด์มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2562 เว็บไซด์มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยแพร่งานวิจัยล่าสุดจาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุความสัมพันธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิด ‘มะเร็งปอด’ และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กระเพาะปัสสาวะ ที่ส่อว่าจะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในหนูทดลอง การศึกษานี้ใช้หนูทดลอง จำนวน 85 ตัว โดยสุ่มแยกหนูออกเป็น 3 กลุ่ม เมื่อครบ 54 สัปดาห์ ทีมวิจับนำหนูทั้งหมด จำนวน 76 ตัว มาตรวจเซลล์อวัยวะภายในที่สำคัญต่างๆ หนูกลุ่มแรก ที่สัมผัสบุหรี่ไฟฟ้าชนิดนิโคติน ที่ผสมกับสาร VGPG พบเซลล์มะเร็งในปอด จำนวน 9 ตัว จากหนูทั้งหมด 40 ตัว คิดเป็นร้อยละ 22.5 และพบเซลล์ที่ส่อว่าจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะของหนูกลุ่มนี้ จำนวน 23 ตัว คิดเป็นร้อยละ 57.5 ขณะที่ไม่พบการเกิดมะเร็งปอด ส่วน หนูกลุ่มที่ 2 ที่สัมผัสไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าชนิดไม่มีนิโคติน และ หนูในกลุ่มที่ 3 ที่ไม่สัมผัสไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเลย พบมะเร็งปอดเพียง 1 ตัว ใน 18 ตัว นอกจากนั้นงานวิจัยที่ตีพิมพ์โดย มหาวิทยาลัยแอดิเลด และโรงพยาบาลรอยัล แอดิเลด (Royal Adelaide Hospital) ของประเทศออสเตรเลีย ได้ศึกษาพิษของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 3 ยี่ห้อ พบว่าไอระเหยจาก บุหรี่ไฟฟ้าชนิดแต่งกลิ่น สามารถทำให้เซลล์ปอดตายได้ งานวิจัยซึ่งถูกเผยแพร่หลังจากมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายที่ 8 ในสหรัฐอเมริกา พบว่าแม้แต่แบรนด์ที่ไม่มีสารนิโคติน ก็สามารถทำให้เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่แข็งแรงตายได้ โดยไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้า ยังไปหยุดยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ให้จัดการกับเซลล์ที่ตายแล้วอีกด้วย

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” ยังกล่าวอีกว่า “เขาพบงานวิจัยอีกว่า พอสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปปื๊ดเดียว แล้วไปวัดการไหลของเลือดที่เส้นเลือดใหญ่ที่ขา ปรากฏเส้นเลือดใหญ่ที่ขาหดตัวทันที ที่น่าสนใจที่เขาทดลองเป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคตินด้วย ดังนั้นสารเคมีตัวอื่นก็มีผลต่อหลอดเลือด แล้วค่อยคลายตัว ปฏิกิริยานี้เกิดเหมือนกับที่สูบบุหรี่มวนธรรมดา ดังนั้นในอนาคตมีความเชื่อว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อหลอดเลือดและหัวใจ และมีสถิติออกมาแล้วว่า คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจวาย ประมาณ 2 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับคนที่สูบบุหรี่มวน ฉะนั้นในขณะนี้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในอเมริกาเขาคิดว่า อันตรายที่จะเกิดต่อปอดและหัวใจ อาจจะใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวนธรรมดา แต่ว่ามะเร็งอาจจะน้อยกว่า แต่ก็ยังสรุปไม่ได้เช่นนั้นซะทีเดียว”

กระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ

รายงานหากพบผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี ประเทศอังกฤษ มีแผนควบคุมยาสูบ โดยชูแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบ สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเลิกสูบบุหรี่มวน โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือก อังกฤษสามารถสร้างสถิติใหม่ในการลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ เหลือประมาณร้อยละ 15.5 ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ต้องรายงานหากพบผู้ป่วยที่อาจสงสัยได้ว่า มีผลมาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการเฝ้าระวังและป้องกัน จึงสั่งการให้โรงพยาบาลซักประวัติการสูบบุหรี่ย้อนหลัง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มวัยทำงานที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีข้อมูลว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นในเวลาอันสั้น ต่างจากโรคถุงลมโป่งพอง ที่เกิดจากบุหรี่มวนธรรมดา โดยใช้เวลาก่อโรคนานกว่า

 

พบแล้ว! เสียชีวิตด้วยโรค “อีวารี่” รายแรกในไทย

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยผลวิจัยว่า พบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และติดนิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่มวน อานุภาพของควันบุหรี่ไฟฟ้า ยังเข้ากระแสเลือด มีเซลล์ตายในเลือดเหมือนบุหรี่มวน ส่งผลให้เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ซึ่งสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย

 

ผลการรายงานล่าสุดเผยแพร่ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน และระบบหายใจล้มเหลว โดยแพทย์ระบุอาการโรคว่า “อีวารี่” ซึ่งเป็นชื่อใหม่จากแพทย์ศูนย์ควบคุมโรค หมายถึงอาการปอดอักเสบ ที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า นับเป็นภัยต่อเยาวชนที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีการแต่งกลิ่นมากกว่าหนึ่งร้อยกลิ่น เยาวชนติดง่าย และยังมีความเชื่อว่าไม่มีนิโคติน ทั้งที่ความจริง มีปริมาณสารนิโคตินไม่ตรงกับที่สลากกำกับไว้ และมีสารปนเปื้อนอื่นๆ อีกด้วย ปัจจุบันพบว่ามีรายงานการเสียชีวิต และผู้ป่วยในหลายประเทศ โดยมีข้อสังเกตุทางการแพทย์ที่น่าตกใจคือ เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว สามารถป่วยและเสียชีวิตได้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน โดยสหรัฐได้พบเยาวชนอายุ 17 ปี เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าหลังสูบได้เพียง 1 ปี รวมทั่วประเทศเสียชีวิตทั้งหมด 48 ราย ประเทศอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  ยังกล่าวอีกว่า “ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก ที่มีการแถลงการณ์เสียชีวิต เครสแรกเมื่อสิงหาคมของปีนี้ ถัดมาเพียงแค่ 3 เดือนเศษ เสียชีวิตไปแล้ว 48 ราย ประเทศไทยเราเริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า มีผู้ป่วยที่เกิดความเจ็บป่วยอย่างรุนแรงจากปัญหาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งได้มีการสอบสวนทางโรค ปรากฏว่าสัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้ข้อมูลแล้วว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นค่อยข้างใช้เวลาสั้นมาก สะท้อนถึงอันตรายที่ร้ายแรงของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะว่าบริษัทผู้ผลิตพยายามจะชี้นำให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย แต่ตัวเลขการเสียชีวิต การเจ็บป่วยเห็นชัดอยู่แล้ว”

 

 

เยาวชนมีความสับสนเรื่องข้อมูล

ขณะที่ผลโพลพบสัญญาณอันตรายหลายประเด็น คือนักศึกษาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่ 1 ใน 3 อยากลองสูบ และเกือบครึ่งมีทัศนะคติที่ดีกับบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนและช่วยเลิกสูบบุหรี่มวนธรรมดาได้ และยังมีความเชื่อว่าไม่ทำให้ติด เพราะไม่มีสารนิโคติน และแม้จะมีข่าวดังทั่วโลกว่ามีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว กลุ่มเยาวชนยังเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย โดยเยาวชนยังมีความสับสนเรื่องข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้คือสัญญาณอันตราย นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตได้ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เตรียมการสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยง ในการดูแลผู้บาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะทำระบบรับแจ้งเหตุจากบุหรี่ไฟฟ้า จากศูนย์รับแจ้งเหตุห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ ให้มีฐานข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์ ภัยร้ายซ่อนเร้นจากบุหรี่ไฟฟ้า อาจเกิดการระเบิดในบ้านจนมีผู้เสียชีวิต หรือสถานที่สาธารณะตามสนามบิน เมื่อบรรจุบุหรี่ไฟฟ้าลงในกระเป๋าเดินทาง ซึ่งนี่หมายถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นไปด้วย

 

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ประเทศหลายประเทศพอรู้ถึงปัญหานี้มากขึ้น  เขาได้ยุติไม่ให้มีการทำตลาดในประเทศเลยนะครับ สคบ.ประกาศตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ และก่อให้เกิดโทษอย่างชัดแจ้ง ประเทศไทยเรากฏหมายบอกไว้ชัดว่า ห้ามนำเข้าประเทศไทยเด็ดขาด ถือมีความผิดตามกฎหมาย และที่พยายามสูบกัน ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการซื้อขายกันในเว็บไซด์นี่อันตรายมาก”

 

ในการควบคุมขับเคลื่อนนโยบายในประเทศไทย บุคลากรทางการแพทย์ได้ชี้ให้เห็นถึงภัยอันตรายจากควันบุหรี่ไฟฟ้า พบนิเกิลและโครเมี่ยมสูง อีกทั้งพบสารฟอร์มาลดิไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ดองศพอีกด้วย อานุภาพของควันบุหรี่น้อยกว่า PM 2.5 เป็น PM 1.0 เสี่ยงต่อมะเร็งปอดและโรคหัวใจ ส่งผลไปยังคนรอบข้าง ได้รับผลกระทบจากควับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสามด้วยเช่นกัน

 

 

ที่มา : ข่าว 3 มิติ | เปิดปม – Thai PBS

Credit Photos : สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข | เปิดปม – Thai PBS

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด