TOP

4 เทคโนโลยีสำคัญเร่งเครื่อง DIGITAL TRANSFORMATION

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับเราทุกคน แต่ยังเป็นความท้าทายของหลายองค์กร ในการพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพราะต่างเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัล จะเข้ามาตอบสนองกระบวนการทำงานหลายด้าน และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น

 

ยึด AI เป็นเทคโนโลยีหลัก

ผลสำรวจ AI Predictions 2021 ของบริษัท PricewaterhouseCoopers พบว่า 25% ของผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าบริษัทของตนมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพิ่มขึ้นจาก 18% ในปีก่อน ขณะที่ 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า องค์กรของตนกำลังเปลี่ยนไปสู่การใช้งาน AI อย่างเต็มรูปแบบ และพวกเขาได้ดำเนินการไปไกลกว่าการวางรากฐาน เพราะหลายบริษัทกำลังเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจาก AI โดยส่วนใหญ่ที่นำ AI มาใช้อย่างเต็มที่รายงานว่า ได้เห็นประโยชน์ที่สำคัญของ AI แล้ว 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก ที่บริษัทของพวกเขาจะนำมาใช้ในปีนี้ เพราะเห็นประโยชน์จากการเติบโตของรายได้ และการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์ที่ส่งมอบให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตาม 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ได้มีการนำ AI เข้ามาใช้กับธุรกิจหลังเกิดวิกฤตโควิด 19 แต่ผลตอบแทนจากการลงทุน ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ในอีกหลายปีข้างหน้า

ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้เราเห็นบริษัทขนาดใหญ่ หันมาตื่นตัวในการศึกษาและลงทุนในเทคโนโลยีประเภท machine learning และ AI สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนภายในองค์กร และการพัฒนาศักยภาพของทีมงานให้เข้าใจวิธีใช้งาน AI ขณะที่อีกหลายบริษัทก็อยู่ระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูล

 

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มหลายประเภทที่ฝังเทคโนโลยี AI เข้าไปในฟังก์ชันการทำงาน เช่น แพลตฟอร์มด้านการให้บริการลูกค้าที่เพิ่มฟังก์ชันการวิเคราะห์ลูกค้าอัจฉริยะ แพลตฟอร์มการบัญชี AI ที่มีฟังก์ชันการวิเคราะห์งบการเงิน แพลตฟอร์มงานบริหารบุคคลอัจฉริยะ ที่มีฟังก์ชันการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานหรือวิเคราะห์ข้อมูลพนักงาน และแพลตฟอร์มการขายอัจฉริยะที่มีฟังก์ชันเข้ามาช่วยวิเคราะห์การเพิ่มยอดขาย

 

Quantum Computing

เพิ่มศักยภาพระบบคอมพิวเตอร์

การพัฒนาระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ผ่านอนุภาคย่อยของอะตอมแทนการใช้เลขฐานสอง หรือ Quantum Computing จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความสามารถในการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ และหุ่นยนต์ มูลค่าตลาดของเครื่องจักรอัจฉริยะบนเทคโนโลยีควอนตัม มีแนวโน้มจะสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565

การระบาดของโควิด 19 ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการผสมผสานการทำงานของเทคโนโลยีอย่าง 5G และ Internet of Things (IoT) ทำให้ Quantum Computing มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น และยังช่วยทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลที่ดีขึ้น จึงมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการทางการเงิน อุตสาหกรรมเกม และนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ

 

เมื่อ “ข้อมูล คือ อนาคต” Quantum Computing จึงเข้ามาตอบโจทย์ด้วยการประมวลผลข้อมูลในพริบตา เราจะได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อมีการนำ Quantum Computing มาใช้อย่างแพร่หลาย ภาคธุรกิจจึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันเทรนด์การเปลี่ยนแปลงนี้

 

NLP ช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าใจมนุษย์

การประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ Natural Language Processing (NLP) เป็นอีกหนึ่งแขนงของ AI ที่เข้ามาช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจ และตีความภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารทั่วไปได้ เพื่อปิดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันศาสตร์แขนงนี้มีความก้าวหน้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของบิ๊กดาต้า การประมวลผลและอัลกอริทึมที่มีความทันสมัยมากขึ้น

นวัตกรรมหนึ่งที่มีการพัฒนาจาก NLP คือ แอปพลิเคชันแบบโต้ตอบ หรือ “แชทบอท” ซึ่งมักจะใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ยกตัวอย่าง ธนาคาร Royal Bank of Scotland ได้นำเทคนิค text analytics ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคด้าน NLP มาสกัดข้อมูลจากการตอบสนองและร้องเรียนของลูกค้า ที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นอีเมล ข้อมูลคำตอบจากแบบสอบถาม และบทสนทนาที่เกิดขึ้นทางโทรศัพท์กับคอลเซ็นเตอร์ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา ที่สร้างความไม่พอใจให้ลูกค้า ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะถูกนำไปใช้กำหนดแนวทางแก้ไข และพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าได้

 

อีกตัวอย่างคือ Dignity Health ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ที่นำเทคโนโลยี NLP และอัลกอริทึมที่ซับซ้อนมาใช้งานร่วมกัน เพื่อตรวจและรายงานทั้งผลการตรวจและผลการรักษาทางการแพทย์ ป้องกันการเกิดภาวะติดเชื้อแก่ผู้ป่วย หากมีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อในคนไข้ ระบบจะแจ้งเตือนไปยังแพทย์และพยาบาลเจ้าของไข้ทันที

 

ก้าวสู่ความยั่งยืนด้วย Cloud Computing

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบริการคลาวด์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 380% โดยปีที่ผ่านมามีมูลค่า 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นในโลกนี้กว่า 50% ถูกจัดเก็บไว้บนระบบคลาวด์ โดยปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลาวด์มีบทบาทสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการทำงานนอกออฟฟิศ ทำให้องค์กรยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้แม้ต้องทำงานจากที่บ้าน

บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาระดับโลก Gartner, Inc คาดการณ์ว่าในปี 2564 การลงทุนในระบบคลาวด์ขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 18.4% นอกจากนี้ องค์กรส่วนใหญ่ที่ยึดแนวทางการดำเนินงานตามหลัก ESG2 จะเลือกใช้ระบบคลาวด์เป็นหลักเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน เพราะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 65% ขณะเดียวกันยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 84% หรือคิดเป็น 59 ล้านตันต่อปี เท่ากับลดจำนวนรถยนต์บนถนนได้ถึง 22 ล้านคัน นี่จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีการใช้คลาวด์มากขึ้นในอนาคต

 

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจ 87% มีการใช้ระบบไฮบริดคลาวด์ เป็นการผสมผสานระหว่างระบบคลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ของแต่ละองค์กร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากบริการทั้งสองฝั่ง ทั้งในด้านความยืดหยุ่น การบริหารจัดการต้นทุน รวมไปถึงความเร็วในการตอบสนอง และปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการใช้งานระบบคลาวด์มากขึ้น แต่มีข้อควรระวังในเรื่องความปลอดภัย ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2563 ที่การใช้งานคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาชญากรรมไซเบอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นำมาสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์ความปลอดภัยสำหรับคลาวด์ เพื่อป้องกันศักยภาพด้านการแข่งขันของธุรกิจ และช่วยให้ยังมั่นใจในการใช้งานคลาวด์ต่อไปในอนาคต

 

————————————

ที่มา : BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 4 เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564

แหล่งของข้อมูล :
• www.pwc.com
• www.sas.com
• Business Insights & Lifestyle Guides, hivelife.com
• https://www.accenture.com
-ESG ย่อมาจาก Environmental – สิ่งแวดล้อม Social – สังคม และ Governance – ธรรมาภิบาล คือการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาพิจารณาร่วมในการทำงาน การลงทุน การสร้างธุรกิจ หรือแม้แต่ในการใช้ชีวิตประจำวัน

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด