TOP

กทม. พาคนกรุงสู่ชีวิตใหม่ไร้ขยะ แบบ Go Zero Waste ตั้งเป้าปี 2575

Go Zero Waste ปี 2575 กทม.ตั้งเป้าลดปริมาณขยะ 20% นโยบายสู่ชีวิตใหม่ ไร้ขยะเพื่อคนกรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี (ปี พ.ศ. 2556 -2575) ไม่ว่าจะภาพกองขยะล้นออกจากถัง หรือขวดพลาสติกที่ไม่ได้คัดแยก รวมถึงการใช้ถุงพลาสติกอย่างพร่ำเพรื่อ ที่มักพบเห็นตามเมืองใหญ่ๆ ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพฯ โดยประเทศไทยสร้างขยะสูงสุดติดอันดับ 6 ของโลก ด้วยการสร้างปริมาณขยะมูลฝอย รวม 27.4 ล้านต้น/ปี ซึ่ง 1 ใน 5 ของขยะทั้งหมดมาจากกรุงเทพฯ

 

ทำอย่างไร ประเทศไทยจะลดปริมาณขยะลงได้?

คำตอบคือ…ทุกภาคส่วนในสังคม

ร่วมกันหันมาเปลี่ยนตัวเอง ให้สร้างขยะน้อยที่สุด

และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด’

 

เหตุนี้จึงเป็นที่มาของ Go Zero Waste คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่สร้างขยะใหม่ พยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือ จนเป็นขยะได้นั่นเอง แผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี ตั้งเป้าลดปริมาณขยะ 20% ในปี พ.ศ. 2575 จากแนวคิดบริหารจัดการขยะมูลฝอยของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร แบบ Zero Waste ที่ประกอบด้วย (1.) มีระบบจัดการครบวงจร (2.) ควบคุมเพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยให้น้อยที่สุด (3.) จัดเก็บขยะมูลฝอยอย่างทั่วถึง และ (4.) กำจัดมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งลดปริมาณขยะเพื่อฝังกลบให้น้อยที่สุด โดยได้วางเป้าหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จะต้องลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด ร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2575

 

ไม่เพียงแค่นั้น…ยังมีมาตรการเพิ่มปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปใช้ประโยชน์จากแหล่งกำเนิดร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2575 อีกด้วย นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเพิ่มระบบกำจัดขยะมูลฝอย โดยมีผลพลอยได้ให้เป็นพลังงานหรือปุ๋ยอินทรีย์ และลดภาระฝังกลบขยะมูลฝอยร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2575 ด้วยเช่นกัน

ต้องแยกขยะตามสีถังขยะหรือไม่?
คำตอบคือ…ไม่จำเป็น

เพียงแยกไว้ในภาชนะที่เหมาะสมก็ได้”

 

นโยบาย Go Zero Waste ของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. หนึ่งในการต่อสู้กับขยะพลาสติก ที่รณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เป็นอีกหนทางที่นำมาแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ขยับตัวลดใช้ถุงพลาสติกอย่างเข้มข้นกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นวันแรกที่ห้างร้านต่างๆ งดใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้ลูกค้า พร้อมรณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ที่แม้จะโกลาหลในช่วงแรกๆ แต่ประชาชนก็เริ่มปรับตัวและให้ความร่วมมือ และอีกหนึ่งในการจัดการขยะที่ถูกพูดถึงมากที่สุดอีกเช่นกัน คือการคัดแยกขยะในครัวเรือน ซึ่ง กทม.กำลังรณรงค์ให้ทุกบ้านทำอย่างจริงจัง เพราะการแยกขยะแต่ละประเภทท ทำให้ง่ายต่อการกำจัด และไม่เกิดการปนเปื้อนสารเคมีจากขยะอันตราย หลายคนอาจมีคำถาม…ต้องแยกขยะตามสีถังขยะหรือไม่? คำตอบคือ…ไม่จำเป็นเพียงแยกไว้ในภาชนะที่เหมาะสมก็ได้ 

 

ฮาวทูทิ้ง? ทิ้งอย่างไรไม่ผิดถัง?

(ทิ้งให้ถูกถังพร้อมกันทุกบ้าน)

 

1. ถังขยะเศษอาหาร

เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงซาก หรือเศษของพืช ผัก ผลไม้ หรือสัตว์ที่เกิดจากการทดลอง
ในห้องปฏิบัติการ (ขยะที่ลักษณะแหลมมาก เช่น ไม้ลูกชิ้น ให้หักก่อนทิ้ง)

*หากไม่แยก: ยากต่อการนำไปใช้ประโยชน์ ไม่สามารถเอาไปทำปุ๋ยและน้ำหมักจุลินทรีย์ (EM) ได้

 

2. ถังขยะอันตราย

เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช กระป๋องสเปรย์บรรจุ สีหรือสารเคมี ฯลฯ

*หากไม่แยก: ทำให้เกิดอันตรายได้ และหากไม่มัดปากถุงให้เรียบร้อย ก็อาจปล่อยสารพิษ

 

3. ถังขยะรีไซเคิล

เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ เป็นต้น

*หากไม่แยก: ทำให้เสียทรัพยากรที่ใช้ซ้ำได้ไปอย่างเปล่าประโยชน์ อีกทั้งเจ้าหน้าที่นำขยะไปคัดแยกเองได้อย่างล่าช้า สิ้นเปลืองพลังงาน

 

4. ถังขยะทั่วไป

เช่น ห่อพลาสติกใส่ขนม ถุงพลาสติกบรรจุผงซักฟอก พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร โฟมเปื้อนอาหารฟอยล์เปื้อนอาหาร

*หากไม่แยก: จะไม่สามารถนำไปฝังกลบได้ เนื่องจากขยะทั่วไปส่วนใหญ ไม่คุ้มค่าที่จะนำไปใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ ดังนั้นเมื่อจะแยกก้ต้องแยกออกมาชัดเจน ห้ามทิ้งเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะจากสวนลงไปรวมกับขยะทั่วไป

 

ที่มา : กรุงเทพมหานคร BANGKOK NEWS Issue 267

Cover Photo by cocoart_ua on freepik

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด