TOP

Huawei ซุ้มเงียบพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่บนมือถือ ใช้ชื่อสากล Oak OS คาดเปิดตัวภายในปี 2562 นี้

กลายเป็นประเด็นร้อนมาสักระยะ และกำลังทวีคูณความร้อนแรงในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง ปัญหาระหว่างประเทศมหาอำนาจ “สหรัฐอเมริกา” กับ “หัวเว่ย” Huawei แบรนด์มือถือยักษ์ใหญ่ของจีน และเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก สถานการณ์มาถึงจุดพีคเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้ Google ยุติการสนับสนุนซอฟต์แวร์บางส่วนแก่โทรศัพท์หัวเว่ย และนอกจาก Google แล้ว ก็ยังอาจมีบริษัทอื่นๆ ต้องหยุดการส่งผลิตภัณฑ์ให้หัวเว่ยชั่วคราวด้วยเช่นกัน อย่าง Microsoft ที่อาจต้องยุติการสนับสนุนระบบปฏิบัติการ Windows บนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ชื่อ Matebook ของหัวเว่ย รวมถึงบริษัท Intel ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ต้องยุติการส่งชิปสำหรับการผลิต Matebook แก่หัวเว่ยอีกด้วย

 

แม้หัวเว่ยได้ยื่นคำร้องเพื่อขอสรุปคำตัดสินจากการถูกคว่ำบาตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดค้านในชั้นศาลต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ปี 2562 (2019 NDAA) ของสหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติการคว่ำบาตรหัวเว่ย เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การแบนหัวเว่ยโดยใช้ปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นข้ออ้าง “จะไม่ช่วยให้เครือข่ายปลอดภัยขึ้น และยังก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ในเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาที่แท้จริงที่เรากำลังเผชิญอยู่” นายซ่ง หลิ่วผิง ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของหัวเว่ย กล่าว “นักการเมืองสหรัฐฯ กำลังใช้อำนาจทั้งหมดของประเทศ มาโจมตีบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียว” นายซ่ง กล่าวเสริม “ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติ และแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยด้วยซ้ำ”

“Trade War” to “Tech War”

ปัญหาสงครามการค้าโลกระหว่าง สหรัฐ กับ จีน จนนำมาสู่ภาคต่อของปัญหาทางด้านความปลอดภัยบนไซเบอร์ กับ หัวเว่ย ทำให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนยี่ห้อดัง ถูกผลกระทบกันไปทั่วโลกเต็มๆ สำหรับผู้ใช้ระบบ Android ของ Google แม้ Android ที่เราใช้กันอยู่จะเป็น Open Source ที่ใครๆ ก็ใช้ได้โดย Google ไม่มีสิทธิ์ห้าม ซึ่งเครื่องรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ของหัวเว่ย ก็ยังสามารถใช้บริการได้อยู่ แต่ประเด็นมันอยู่ที่บริการและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เราใช้จนคุ้นชินในชีวิตประจำวัน เป็นบริการของ Google ซึ่งไม่ได้เป็น Open Source รวมถึง Google Play, YouTube, Gmail, Google Maps ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ หัวเว่ยจะถูกห้ามใช้ด้วย รวมไปถึงแอปอื่นๆ ที่ถึงแม้ไม่ใช่บริการของ Google โดยตรง แต่โค้ดเขียนให้ผูกกับบริการของ Google ก็จะไม่สามารถใช้งานได้ด้วยเช่นกัน

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ อันส่งผลกระทบโดยตรงถึงความเชื่อมั่นต่อแบรนด์หัวเว่ย แม้อาจจะมีผู้คนบางจำนวนที่ไม่ได้สนใจถึงที่มาที่ไปของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การได้รับผลกระทบในการใช้บริการ ก็สามารถกระทบไลฟ์สไตล์การเสพสื่อและการใช้งานบนโลกออนไลน์ได้แล้ว

 

และแน่นอนว่าหัวเว่ย มีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและมีทางออกให้กับผู้ใช้บริการ โดยล่าสุดนี้ Tim Watkins รองประธานของหัวเว่ยยุโรปตะวันตก ออกมาให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่าหัวเว่ยกำลังเตรียมที่จะปล่อยระบบปฏิบัติการของตัวเอง หลังจากที่ Google บอกว่าจะจำกัดการเข้าถึงบริการ Android ของหัวเว่ย โดยซุ่มเงียบเตรียมพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่มาได้พักใหญ่ ตั้งแต่ปี 2012 โดยใช้ชื่อระบบปฏิบัติการนี้ว่า HongMeng OS นำมาใช้แทนที่ Android OS และล่าสุดมีความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยสื่อจากประเทศจีนรายงานถึงระบบปฏิบัติการดังกล่าว ลงมติใช้ชื่อสำหรับตลาดสากลว่า Oak OS  ซึ่งขณะนี้หัวเว่ยกำลังทดสอบระบบปฏิบัติการตัวนี้อย่างเต็มที่ และ คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในช่วงเดือนสิงหาคม หรือ กันยายนนี้ และเป็นช่วงจังหวะที่พอดีกันกับมาตรการผ่อนปรน 90 วันจากรัฐบาลสหรัฐหมดลง

 

ข้อมูลชุดนี้ถูกเปิดเผยออกมาจากสิทธิบัตรฉบับใหม่ของหัวเว่ย ที่ยื่นขอจดไว้ในประเทศเยอรมนี โดยภายในสิทธิบัตรฉบับดังกล่าวมีภาพสกรีนช็อตเบื้องต้นของระบบปฏิบัติการตัวใหม่แนบเอาไว้ด้วย โดยมีการปรับโฉมจากระบบ EMUI ที่ใช้อยู่บนสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยรุ่นปัจจุบัน โดยเน้นไปในธีมสีขาว พร้อมการจัดเรียงไอคอนที่มีความสะอาดตามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ระบบ Oak OS ของหัวเว่ย อาจมีการพัฒนาโดยยึดพื้นฐานมาจากระบบ Android หรือสามารถทำงานร่วมกับระบบ Android ได้ โดยจะมีการเปิดตัวภายในปีนี้ ช่วงประมาณเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มาตรการผ่อนปรนของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

 

การเปิดตัว Oak OS ของหัวเว่ย อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่ววงการเทคโนโลยีโทรคมนาคมจีน เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบไปที่หัวเว่ยเพียงเจ้าเดียว แต่บริษัทธุรกิจสัญชาติจีนอื่นๆ ก็เริ่มได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทำให้บริษัทจีนเหล่านั้นต่างก็เริ่มหาทางมองหาหนทางลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากบริษัทอเมริกันมากขึ้น และในท้ายที่สุดก็อาจจะหันไปใช้ระบบปฏิบัติการ Oak OS ตามหัวเว่ยก็เป็นได้ซึ่ง OS ดังกล่าวนั้นได้มีการทดสอบในส่วนของประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ระบบปฏิบัติการดังกล่าวนี้มีการพัฒนาเตรียมไว้นานแล้ว โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Yu Chengdong ผู้บริหารของหัวเว่ย ได้กล่าวไว้ว่า “ทางค่ายได้เตรียมระบบปฏิบัติการของตัวเองเอาไว้แล้ว หากวันหนึ่งระบบปฏิบัติการของ Google หรือ Microsoft ไม่สามารถใช้งานได้ หัวเว่ยก็พร้อมที่จะเริ่มแผน B ที่เตรียมไว้ทันที”

 

สิ่งที่ท้าทายจริงๆ ของหัวเว่ยนั้นไม่ใช่เรื่องของระบบปฏิบัติการมารองรับได้หรือไม่ หากแต่เป็นเรื่องแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานระบบปฏิบัติการ HongMeng OS ต่างหาก อย่างระบบปฏิบัติการของ 2 ยักษ์ใหญ่ ทั้ง Android และ IOS นั้น ต่างก็จะมีแอปพลิเคชันให้ใช้งานมากถึง 3.5 ล้าน และ 2.1 ล้านแอปพลิเคชัน ตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา หรือแม้แต่ TIZEN OS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการของ Samsung ก็หยุดการเติบโตของแอปพลิเคชัน จำกัดอยู่เพียง 5,000 แอปพลิเคชันเท่านั้น และปัจจุบันก็ได้กลายมาเป็นระบบปฏิบัติการหลักของสมาร์ททีวี รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ แต่ไม่ใช่กับสมาร์ทโฟน ซึ่งหากว่า HongMeng OS หรือ Oak OS ประสบความสำเร็จ สิ่งที่หัวเว่ยต้องทำต่อไปอย่างเร่งด่วน นั่นคือ การพัฒนาแอปพลิเคชันให้รองรับในปริมาณจำนวนมาก และหลากหลายครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ให้อยู่ในระบบปฏิบัติการนั่นเอง

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด