TOP

นิทรรศการศิลปะ In-Betweenness ย้อนวันวาน “พื้นที่” และ “ความทรงจำ” ย่านวิทยุ ลุมพินี และพระรามสี่ ผ่านผลงานของ 3 ศิลปินไทยชื่อดังเป็นครั้งแรก

โครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) แลนด์มาร์คครบวงจรระดับโลกแห่งใหม่ ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย จัดนิทรรศการศิลปะครั้งแรกภายใต้ชื่อ In-Betweenness เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ “พื้นที่” และ “ความทรงจำ” ในบริเวณย่านวิทยุ ลุมพินี และพระรามสี่ ร่วมกับศิลปินไทยชื่อดัง 3 ท่าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร, รัฐ เปลี่ยนสุข และ นักรบ มูลมานัส ที่มาร่วมกันแสดงผลงานศิลปะเป็นครั้งแรก โดยรังสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการนำความทรงจำส่วนบุคคลที่มีต่อพื้นที่แห่งนี้มาตีความใหม่ พร้อมจัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ที่เป็นเสมือนบันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพื้นที่ ตลอดจนภาพสะท้อนของความทรงจำที่อาจกระจัดกระจาย หรือสูญหายไปตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างให้กลายเป็นความทรงจำร่วมชุดใหม่ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปผ่านผู้คนที่ผูกพันกับพื้นที่นับจากนี้

เพื่อจำลองความหลังขึ้นมาอีกครั้ง ในส่วนแรกของนิทรรศการ ทีมภัณฑารักษ์ของโครงการจัดแสดงภาพถ่ายขาวดำที่หาชมได้ยาก จากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งฟิล์มกระจกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชั่นภาพฟิล์มกระจก 35,427 รายการ และภาพต้นฉบับ 50,000 รายการ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” ในปี พ.ศ. 2560

 

ภาพถ่ายขาวดำจากฟิล์มกระจกดังกล่าว ไล่เรียงไปตั้งแต่ “ภาพสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ในการดูแลของกระทรวงทหารเรือ” ซึ่งถือเป็นสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศ และตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ อันเป็นที่มาของชื่อถนนวิทยุ “ภาพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันให้เกิดบุคลากรด้านกิจการโทรเลขทหารเรือ “ภาพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน” ผู้วางรากฐานความเจริญก้าวหน้าในกิจการวิทยุกระจายเสียง และ “ภาพหอนาฬิกาในสวนลุมพินี” ซึ่งเป็นหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันเพื่อแสดงว่า สวนลุมพินี เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในการสร้างพื้นที่สำหรับจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ที่เรียกว่า “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” และเป็นสวนสาธารณะสำหรับชาวเมือง นอกจากนี้ ยังมี “แผนที่กรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2453” ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ย่านลุมพินี-วิทยุ-พระรามสี่ เป็นเพียงไร่ผักและทุ่งนา ที่ยังคงห่างไกลจากเขตศูนย์กลางของเมือง แต่ก็เริ่มมีความสำคัญจากการเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุโทรเลข รวมไปถึงมี “หนังสือที่ระลึกจากงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2470” ให้ได้ชมกันด้วย เรียกได้ว่า ภาพถ่ายขาวดำจากฟิล์มกระจกและวัตถุจัดแสดงเหล่านี้ จะนำช่วงเวลาอันเปี่ยมเสน่ห์กลับมาให้ผู้ชมได้สัมผัสอีกครั้ง

ในส่วนที่สองของนิทรรศการนั้น จัดแสดงผลงานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ โดยศิลปินไทยชื่อดัง 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร รัฐ เปลี่ยนสุข และ นักรบ มูลมานัส ซึ่งเป็นการนำความทรงจำส่วนบุคคล ที่มีต่อพื้นที่แห่งนี้ มาตีความใหม่เป็นงานศิลปะอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ และเฉลิมฉลองมรดกเชิงศิลปะและวัฒนธรรมไทยในบริบทที่ร่วมสมัย

 

  1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร

ผลงานศิลปะขนาด 4×2 เมตร ชิ้นนี้ผสมผสานเทคนิคการลงสี ภาพพิมพ์ และการสลัก เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสวนลุมพินีจากความทรงจำของตัวศิลปินเอง

“จิตรกรรมนี้แสดงตำนานบนพื้นที่สวนลุมพินีซึ่งกลายเป็นพื้นที่ของอดีตอันทรงคุณค่า ข้าพเจ้าจึงสร้างให้เป็นหนังสือเล่มใหญ่ เสมือนคัมภีร์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสวนแห่งนี้” ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร กล่าว

  1. รัฐ เปลี่ยนสุข

ศิลปินและนักออกแบบร่วมสมัย ผู้คว้ารางวัลนักออกแบบแห่งปี พ.ศ. 2563 จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากองค์ประกอบเชิงจิตวิญญาณ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของหรือสถานที่ ได้นำเสนอประติมากรรมเทคนิคผสมสมัยใหม่ ชื่อผลงาน Zephyr ที่สะท้อนถึงสายลมอันอ่อนโยนในฤดูหนาว ที่พัดยอดรวงข้าวในทุ่งนาให้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองอร่าม ถักทอจนเกิดเป็นตึกระฟ้าและบ้านเมืองสมัยใหม่ รัฐมุ่งถ่ายทอดความรู้สึกของเขาผ่านจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนี้

  1. นักรบ มูลมานัส

ศิลปินคอลลาจที่กำลังมาแรง เพิ่มความท้าทายด้วยการก้าวออกจากรูปแบบงานสองมิติที่คุ้นเคย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิดีโอคอลลาจชิ้นแรกของตนเอง (Reincarnation) ด้วยการจำลองชาติ (การเกิด) และภพ (พื้นที่) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง กับการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่แต่มักจะถูกละเลย นักรบหวังว่าการจำลองภาพของพวกเขา จะช่วยให้เกิดการจดจำถึงผู้คน ที่มักจะไม่ได้อยู่ในความทรงจำ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำชุดใหม่ต่อไป

และเพื่อเติมเต็มประสบการณ์ของผู้ชมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นิทรรศการในครั้งนี้ยังได้นำเสนอข้อมูลชุดพิเศษด้านประวัติศาสตร์ แนวคิดของแต่ละชิ้นงาน และประวัติของศิลปินด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้เข้าชมยังจะได้ชมภาพเบื้องหลังและสัมผัสฟีเจอร์เออาร์เสมือนจริงอีกด้วย (Augmented Reality)

 

นิทรรศการ In-Betweenness นี้ ถือเป็นนิทรรศการแรกในซีรีส์นิทรรศการศิลปะ ของฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ “วัน แบงค็อก” ที่แสดงให้เห็นตัวอย่างของกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ที่โครงการวัน แบงค็อก จะนำเสนอต่อไปในอนาคต เมื่อโครงการเปิดอย่างเป็นทางการ ดังเช่นที่มาของชื่อ “เดอะ พรีลูด” ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการนี้ ที่่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความหมายในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าการกระทำหรือเหตุการณ์ ที่นำไปสู่เรื่องราวสำคัญต่อๆ มา ส่วนในภาษาดนตรี จะหมายถึงบทเพลงสั้นๆ ที่ถูกบรรเลงก่อนการแสดงดนตรีรายการอื่นๆ สถานที่แห่งนี้จึงเป็น เดอะ พรีลูด ที่จะนำไปสู่ วัน แบงค็อก ที่มีเป้าหมายในการเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก

 

ชื่องาน : นิทรรศการศิลปะ InBetweenness

ศิลปิน : ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร, รัฐ เปลี่ยนสุข, นักรบ มูลมานัส

ภัณฑารักษ์ : ทีมงานศิลปะและวัฒนธรรม โครงการวัน แบงค็อก

สถานที่ : เดอะ พรีลูด โครงการ วัน แบงค็อก (The Prelude One Bangkok)

วันที่จัดแสดง : 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2562 ปิดทุกวันอาทิตย์ (ไม่เสียค่าเข้าชม)

เวลาจัดแสดง : ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น.

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : 0 2080 5777 อีเมล: enquiry@onebangkok.com เว็บไซต์: www.onebangkok.com

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด