TOP

วันภาษาแม่สากล…คนไทย ภูมิใจ ‘ภาษาไทย’ เป็น ‘ภาษาแม่’ ของชาวไทย

วันภาษาแม่สากล หรือ วันภาษาแม่นานาชาติ ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นการ กระตุ้นเตือนให้คนทุกกลุ่มชนตระหนักถึงความสำคัญของภาษาแม่ ที่นับเป็นมรดกทางด้านภาษาของแต่ละวัฒนธรรม มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลา หรือภาษาเบงกาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศ ในประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาซึ่งการบาดเจ็บและการสูญเสีย เพื่อให้มนุษยชาติได้ตระหนักถึงพลังและความสำคัญของภาษาแม่ รวมถึงสิทธิทางภาษาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์บนโลก จากนั้นยูเนสโกได้ให้ความสำคัญ กำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันภาษาแม่สากล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดยภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่น นับเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย

“ภาษาแม่” นั้น ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจ และก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย และความแตกต่างของมนุษย์ อีกทั้งยังทำให้ได้เข้าถึง เรียนรู้รากเหย้าที่มาของประวัติศาสตร์ชุมชนของตนเอง เรื่องของภาษานั้น ยังมีความเกี่ยวพันรอบตัวกับการใช้ชีวิตในทุกด้าน ทั้งการสื่อสาร ความสัมพันธ์ ความรัก หรือแม้แต่ยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจฐานราก เสน่ห์อันเป็นอัตลักษณ์ที่ยังประโยชน์ภายในชุมชนท้องถิ่น และยังเป็นจุดเด่นจุดขาย ที่ดึงดูดผู้คนจากทุกมุมโลกที่ต่างออกไป ให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญา เกิดเป็น “การท่องเที่ยวชุมชน” และ “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” นำมาซึ่งความสัมพันธ์โยงใยกันไปในทั่วโลก เราคงรู้สึกได้ไม่ต่างกันว่า บางครั้งเราอาจพูดคุยกันต่างภาษา แต่ว่าเราสามารถเข้าใจกันได้ ต่างเรียนรู้ซึ่งกัน เพื่อที่จะสื่อสาร แบ่งปัน และต่อยอด แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เกิดสันติสุข และค้นพบโลกในมุมที่ต่างออกไป

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ครั้งหนึ่งเคยกล่าวไว้ “หากไม่มีแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาอย่างเป็นรูปธรรม ภายในศตวรรษที่ 21 ภาษาบนโลกนี้จะตายไปกว่า 90% ส่วนที่เหลือประมาณ 10% ที่ไม่ตาย เพราะเป็นภาษาประจำชาติ ภาษาที่มีการใช้ในโรงเรียน ภาษาในการปกครอง ภาษาในสื่อมวลชน ภาษาแม่ หรือภาษาของชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของประเทศเลยทีเดียว”

 

เราคนไทย จงภูมิใจว่าเรามี “ภาษาไทย” เป็น “ภาษาแม่” ของเรา ที่มีความหมายถึงภาษาของชนชาติไทยผู้เป็นไท ปรากฏครั้งแรกในปี พ.ศ. 1826 โดย พ่อขุนรามคำแหง 

————————————————————————

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo Credit: Freepix

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด