TOP

ปกป้องผู้สูงวัยในครอบครัว ให้ห่างไกลโควิด-19

จากการที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ประชากรสูงวัยจะมากขึ้นจนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2573 และถือเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยนิยาม “ผู้สูงอายุ” คือชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมีอัตรามากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียจะกลายเป็นสังคมสูงวัยของโลก นำโด่งโดยญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ครองแชมป์ที่ 1 และที่ 2 ตามมาติดๆ ด้วยประเทศไทย อันดับ 3 ภายในปีนี้ พ.ศ. 2563 เทียบอัตราส่วนประชากรไทยทุก 4 คน จะเป็นคนชรา 1 คน

นอกจากประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวแล้ว ยังมาพร้อมกับวิกฤตโลกโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) อีกด้วย จากผลการวิจัยอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคโควิด-19 ทั้งจากองค์การอนามัยโลก และจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดและเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงแรกๆ อย่างประเทศจีน และอิตาลี พบข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดที่จะติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยความเสี่ยงมากขึ้นเมื่ออายุที่มากขึ้น จึงเป็นที่มาเราต้องใส่ใจดูแลปกป้องผู้สูงอายุในครอบครัวมากเป็นพิเศษ ไม่ให้ตกอยู่ในความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 และผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปอย่างปลอดภัย

 

อะราวด์ มีคำแนะนำดีๆ ให้ลูกหลานดูแลใกล้ชิดผู้สูงวัยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ดังนี้

 

หมั่นสังเกตจับตาอาการ

ผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ในครอบครัวอาจมีความเครียดวิตกกังวลมากเกินไป และแสดงออกถึงความไม่สบายใจ หงุดหงิด อารมณ์เสีย โกรธง่าย เมื่อไม่ได้ออกไปเปิดหูเปิดตานอกบ้าน ไม่มีสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เจ็บป่วยมากขึ้น ในบางกรณีที่รับรู้ข่าวสารมากเกินไป หากพบว่าผู้สูงอายุมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ เครียด ซึมเศร้า ให้พาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323

 

ใส่ใจรับฟัง

ดูแล ใส่ใจรับฟัง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ที่ผู้สูงวัยควรต้องได้รับการดูแลและให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องอาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อน ให้กำลังใจ ชักชวนจูงใจให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ เพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะสวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ

 

เว้นระยะห่างระหว่างกัน

หากเป็นครอบครัวใหญ่อยู่ร่วมกันหลายคน แม้จะอยู่กันแบบครอบครัวก็ตาม ควรต้องรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร เช่นกัน เพราะคนหนุ่มสาววอาจออกนอกบ้านไปทำงาน หรือทำธุระในแต่ละวัน จะช่วยลดโอกาสการรับหรือแพร่เชื้อสู่กันและกันได้

 

สื่อสารชัดเจน สร้างความเข้าใจในช่วงวิกฤตโควิด-19

บอกเล่าเหตุผลของการต้องอยู่บ้านที่ดูจะยาวนาน แบบไม่ควรออกนอกบ้านช่วงเวลาเช่นนี้ ใช้คำพูดที่ผู้สูงวัยเข้าใจง่าย และต้องใจเย็น อดทนบ้าง ในการบอกเล่าหรือต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำไปมาหลายรอบ เนื่องจากผู้สูงอายุบางคนมีปัญหาหลงลืม ให้ต้องพูดบอกกล่าวกันบ่อยๆ หรืออาจถูกท่านถามซ้ำๆ

 

ชักชวนทำกิจกรรมภายในบ้าน

เพื่อผ่อนคลายความเครียดระหว่างการรับข่าวสารมากเกินไป และการที่ไม่ได้ออกไปไหน ถือว่าใช้ช่วงเวลานี้ให้ร่างกายได้ฟื้นฟู มีลูกหลานที่คอยดูแลไม่ห่างไกลสายตาอยู่บ้านมากขึ้น ผ่อนคลายด้วยกิจกรรมเบาๆ ที่ชื่นชอบที่อยากทำ หรือชวนกันออกกำลังกายด้วยท่ากายบริหาร ที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ง่ายๆ ขยับแขนขาให้เลือดลมเดินสะดวกไว้เสมอ เพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรง และใจที่แข็งแกร่ง บางครั้งอาจชวนกัน สวดมนต์ รดน้ำต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง หลีกเลี่ยงการพาผู้สูงวัยออกนอกบ้านในช่วงเวลาเช่นนี้

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด