เหลือเชื่อ! SCOBY วัสดุทดแทนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่นำมาใช้แทนพลาสติก โดย Roza Janusz
ในขณะที่ผลกระทบของการใช้พลาสติก กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลก และในประเทศไทย คนไทยสร้างขยะมากถึง 27.8 ล้านตัน ขณะที่ในช่วงปี 2560-2561 มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณถึง 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงผลลัพธ์และกำลังพยายามแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยการรณรงค์และออกข้อบังคับต่างๆ เพื่อลดการใช้พลาสติก และยังมีการคิดค้นทำ “วัสดุทดแทน” ที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการ “ลด” การใช้พลาสติก ด้วยการกลับไปใช้ภาชนะใส่อาหารและข้าวของแบบเก่า เช่น ถุงผ้า ปิ่นโต แก้ว แสตนเลส ฯลฯ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาชนะเหล่านั้นยังคงมีข้อจำกัดบางอย่าง ที่ทำให้การใช้งานได้ไม่สะดวกสบายเท่าพลาสติก ดังนั้นอีกความพยายามที่จำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันไปก็คือ การคิดค้นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เหมือนพลาสติก แต่ย่อยสลายได้ ไม่ทำลายโลกเหมือนพลาสติก เพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุทดแทน
คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ตื่นตัว และให้ความสนใจในการคิดค้นวัสดุทดแทนด้วยวิธีต่างๆ ที่จะนำมาใช้เป็นภาชนะ หรือชิ้นส่วนห่อหุ้มสิ่งของต่างๆ รวมถึงอาหารแทนพลาสติก และได้มีนักศึกษาสาวชาวโปแลนด์ ที่ชื่อ Roza Janusz เธอทำโปรเจ็กต์สมัยเรียน ที่ School of Form ใน Poznan ด้านงานออกแบบ เธอได้ออกแบบโปรเจ็กต์ของเธอที่เรียกว่า ‘SCOBY’ โดยวัสดุที่คิดค้นขึ้นมานี้ มีโจทย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ทดแทนพลาสติก เป็นแพ็กเกจจิ้งใส่อาหารที่มีน้ำหนักเบาได้เหมือนพลาสติก ปลอดภัยสำหรับบรรจุอาหารที่มีความเป็นกรด แถมยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
เธอใช้กรรมวิธีการทำขึ้นมาจากวัสดุธรรมชาติ เหมือนกับการหมัก ‘คอมบูชา’ (Kombucha) หรือ ชาหมักที่มีแบคทีเรียชนิดดี probiotics โดย Roza Janusz ใช้แบคทีเรียและยีสต์เป็นฐานรองอยู่ด้านล่าง จากนั้นจึงเทของเหลวลงไป เพื่อให้เนื้อเยื่อแบบธรรมชาติเติบโตขึ้นอยู่ในภาชนะทรงตื้น หลังจากนั้นก็เติมน้ำตาลและขยะเหลือใช้จากการเกษตร และเมื่อหมักครบสองสัปดาห์ เนื้อเยื่อที่ว่าก็จะพร้อมให้เก็บเกี่ยวใช้งาน และถึงแม้ว่าหน้าตาของแพ็กเกจจิ้งที่ทำมาจากหัวเชื้อแบคทีเรียและยีสต์นี้ จะดูไม่ค่อยน่าใช้สักเท่าไร แต่มันก็เป็นสัญญาณอันดีว่า ในอนาคตเราอาจไม่ต้องพึ่งพาพลาสติกอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้เจ้าของไอเดียได้นำมาใช้ต่อยอดการพัฒนาโดย MakeGrowLab ซึ่ง Roza Janusz เองก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วยเช่นกัน
SCOBY นี้ทำมาจากขยะที่ได้จากการเกษตรในท้องถิ่น จากการทดลองมันไม่เพียงแค่นำไปใช้เป็นแพคเกจของสินค้าต่างๆ ได้เท่านั้น แต่ยังใช้ห่อเก็บอาหารได้ด้วย วัสดุชนิดนี้นั้นไม่ละลายในน้ำ กันน้ำ กันอากาศเข้า แถมยังสามารถพิมพ์ลวดลาย หรือข้อความติดลงไปได้ด้วยนะ มันจึงเหมาะที่จะนำไปใช้ทำแพคเกจของสินค้าได้แทบทุกชนิด และสิ่งที่พิเศษเหนือไปกว่านั้น SCOBY สามารถย่อยสลายได้ง่ายมากพอกับการย่อยสลายผักเลยทีเดียว แล้วเมื่อทิ้งมันลงบนดิน มันยังเป็นปุ๋ยที่ช่วยฟื้นฟูดินได้อีกต่างหาก ที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้นมันยังสามารถกินได้อีกด้วย โดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ
ซึ่งแม้ในขณะนี้ยังกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาผลงานอยู่ นั่นก็เป็นสัญญาณที่ดีในความคิดที่มาจากความต้องการให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษร่วมกัน และเห็นว่าโลกต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติอย่างไร อันส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้คนในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ลองคิดดูว่าหาก SCOBY เป็นวัสดุทดแทนที่ใช้อย่างแพร่หลายได้ เราทุกคนคงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยโลกได้มากทีเดียว นอกจากขยะพลาสติกจะลดลงได้อย่างมหาศาลแล้ว Roza Janusz ยังบอกด้วยว่า วิธีทำแพ็กเกจจิ้งจากหัวเชื้อแบคทีเรียและยีสต์นี้ ก็แสนจะง่าย สามารถลองทำใช้เองได้ที่บ้านอีกด้วย
ขอบคุณที่มา : Technopolis มหานครอัจฉริยะ | https://inhabitat.com | http://www.bltbangkok.com | www.creativecitizen.com