TOP

มิติใหม่! เมื่อโซเชี่ยลมีเดียและเทคโนโลยีสุดล้ำ เข้าถึงการเลือกตั้ง ยุค 4.0

เมื่อการเลือกตั้งครั้งสำคัญ วันที่ 24 มีนาคม 2562 สิ้นสุดลงแล้ว และจะเป็นครั้งที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เราได้เห็นว่าพลังของโลก “โซเชียลมีเดีย” เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการสื่อสาร ยุคที่โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ก็สามารถทะลุทะลวงเข้าถึงสิ่งที่ต้องการรู้ฉับไว ย่อโลกให้ใกล้เข้ามาได้อย่างน่าทึ่ง ด้านการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ห่างหายไปนานถึง 8 ปี และนี่ถือเป็นมิติใหม่ของการเลือกตั้งเมืองไทย เทคโนโลยีก้าวล้ำนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ความเป็นมนุษย์ยุค 4.0 เต็มรูปแบบ รวดเร็ว ฉับไว ทันใจ จะเลือกใช้วิธีเดิมๆ อยู่ทำไม ใช่แล้ว! เมื่อถึงยุคที่ใครก็สามารถสร้างกระแสเป็นคนดังได้ง่าย การใช้สื่อโซเชียลหาเสียงเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นช่องทางที่กวาดคะแนนความนิยมไปได้มิใช่น้อย

 

‘โซเชี่ยลมีเดีย ย่อโลกให้ใกล้ ง่ายต่อการเข้าถึง’

ด้านประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียนับเป็นช่องทางในการสื่อสารแบบทูเวย์ ที่มีให้เลือกเสพความรู้เข้าถึงการเลือกตั้งอย่างถูกวิธี เข้าถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง รับฟังนโยบายและกลยุทธิ์ของแต่ละพรรคได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ได้แสดงความคิดเห็นโต้ตอบและเปิดโลกทัศน์เข้าถึงความคิดเห็นของผู้อื่น เห็นภาพของการทำงานอย่างจริงจังในการลงไปสัมผัสกับประชาชนมากแค่ไหน  รวมถึงการได้วิพากษ์วิจารณ์รอบด้านอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน

 

‘ปรากฏการณ์การเลือกตั้ง’62’

ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทยอย่างแท้จริง ทุกพรรคหันมาใช้สื่อโซเชียล เป็นอีกช่องทางเข้าถึงไลฟ์สไตล์ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นสัดส่วนที่มากของประเทศ เสพติดข่าวคราวความเคลื่อนไหว สิ่งที่สนใจผ่านหน้าจอโมบายมือถือได้ง่าย แค่กดสไลด์คลิกไวชมวิดิโอฟังนโยบาย ดีดคีบอร์ดคอมเม้นท์ ย้อนกลับดูชมคลิปซ้ำฟังซ้ำไปมาได้ จนนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจเลือกผู้แทนที่ตนชื่นชอบในนโยบายที่โดนใจ ต้องยอมรับว่าการเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่ถูกกับกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยเช่นกัน แม้ “โซเชี่ยลมีเดีย” จะเริ่มเข้ามาในเมืองไทยได้ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งปี 2554 โซเชี่ยลมีเดียยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง สถิติจาก ILaw (องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม)  มีรายงานคนที่มีอายุระหว่าง 18-26 ปี (จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก) นับจากเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งในปี 2554 มีจำนวนประมาณ 6.4 ล้านคน พบว่ามีสัดส่วนมากถึง 12% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 52 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารเข้าถึงได้ง่ายในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน นั่นเป็นเป้าหมายของฐานคะแนนเสียงที่ต้องการเห็นวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศในอนาคต ในแบบคนรุ่นใหม่คิดทำด้วยวิธีการตรงใจพวกเค้า สื่อโซเชียลยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน จากเดิมที่เป็นการติดตามเพียงด้านเดียว แต่ในปัจจุบันเราสามารถรับรู้ข่าวสารและนโยบายของพรรคต่างๆ รอบด้านฉับไว ด้วยการนำความคิดส่งตรงผ่านช่องทางที่เรียก “โซเชี่ยลมีเดีย” นี่เอง สื่อโซเชียลส่งผลกระทบให้สื่อกระแสหลัก จำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์ แม้ไม่ใช่ทุกคนที่ติดตามกระแสการเมืองผ่านโลกโซเชียล แต่ด้วยวิวัฒนาการของโลกก็จะค่อยคืบคลานให้ต้องยอมรับสู่ส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยปริยาย

‘พูดคุยโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงสุดล้ำด้วยเทคนิค “Hologram”‘

และนั่นทำให้เห็นได้ชัดว่า “โซเชียลมีเดีย” เป็นมิติของปรากฏการณ์ที่ทำให้ขนบการเมืองแบบเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท แม้แต่ในการติดตามผลการรายงานนับคะแนนเลือกตั้งแบบเรลไทม์ครั้งนี้  จะเห็นจากภาพที่ปรากฏเมื่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ครองใจคอละครและคอข่าวมายาวนาน นำเสนอการรายงานข่าวรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยีสุดล้ำ Virtual Placement แสดงผลคะแนนการเลือกตั้งผ่านอาคารของสถานีโทรทัศน์ พร้อมการรายงานผลที่น่าติดตามบนแผ่นป้ายบิลบอร์ดถึง 110 จอในเมืองทั่วประเทศ แถมยังนำเสนอข่าวได้รวดเร็ว ทันสมัย สมจริง ด้วยเทคนิคการรายงานสดพูดคุยโต้ตอบผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง “Hologram” โฮโลแกรม ช่วยให้แสงกระจายจากวัตถุหรือตัวบุคคลที่จะบันทึกถูกสร้างขึ้นใหม่ ทำให้ภาพมีมิติลอยตัวสามารถดูได้รอบด้าน 360 องศา อยู่ในตำแหน่งเดิมเมื่อทำการบันทึก การเปลี่ยนแปลงรูปแบบตำแหน่งและทิศทางของระบบการมองเห็นเป็นไปอย่างถูกต้องเหมือนกับว่าวัตถุหรือบุคคลนั้น ยังคงเป็นปัจจุบันจึงทำให้ภาพที่บันทึกปรากฏเป็นฮอโลแกรม 3 มิติ เทคโนโลยีรูปแบบหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระยะไกลระหว่างบุคคลต้นทางและปลายทางที่อยู่ต่างสถานที่กัน และถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์เกาะติดสถานการณ์ข่าวการเลือกตั้งแบบนอนสต๊อป (Nonstop) ยิ่งทำให้การรายงานผลการเลือกตั้งครั้งนี้ช่างมีสีสันเป็นที่น่าจับตามากจริงๆ

 

Photo Credit: ครอบครัวข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

 

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด