ประเทศไทย ติดอันดับ TOP 5 ของโลก เรื่อง Cyberbullying การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่มีผลต่อสภาพจิตใจ
ภัยร้ายใกล้ตัวอย่าง Cyberbullying ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น จนปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก เรื่อง Cyberbullying ที่มีการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มากเป็นอันดับ 5 ของโลกไปแล้ว ชีวิตอะไรจะดราม่าขนาดนั้น ดังนั้นก่อนจะตกเป็นเหยื่อที่ถูกรังแกกลั่นแกล้งอย่างไร้ซึ่งจรรยาบรรณผ่านโลกโซเชียล เรามาทำความรู้จักกับ Cyberbullying กันก่อนสำหรับหลายคนที่อาจเพิ่งจะเคยได้ยินคำนี้
เมื่อโลกออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายมาก ผ่านสมาร์ทโฟนเพียงไม่กี่คลิก สามารถย่อโลกให้ใกล้เข้ามา เชื่อมต่อทุกความห่างไกลได้เพียงเสี้ยววินาที ในความจริงแล้วบนโลกใบกลมนี้มักมี 2 ด้านควบคู่กันเสมอ เทคโนโลยีก็เช่นกัน ถ้าเรารู้จักใช้เทคโนโลยีในด้านประโยชน์ก็จะเกิดผลดีกับชีวิต แต่ในอีกด้านถ้าไม่สามารถควบคุมความคิดนำมาเป็นเครื่องมือใช้ทำร้ายผู้คน ก็จะเป็นโทษมหันต์ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อผ่านการเขียน ข้อความ เสียง วิดิโอ หรือแม้แต่ภาพถ่ายได้ง่ายมากเกินไป ก็ทำให้เกิด “ไซเบอร์บูลลีอิ้ง” หรือการรังแกผ่านโลกออนไลน์เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นเดียวกัน ผลกระทบก็เป็นที่รู้กัน ทำให้ผู้ที่ถูกรังแกเสียสุขภาพจิตเป็นโรคซึมเศร้า และอาจยกระดับความรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ เชื่อแน่คงมีหลายคนคงเคยผ่านสถานการณ์ Bully คนอื่น หรือคนอื่น Bully คุณ
Cyberbullying ?
คือการใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่คนอื่นๆ สามารถเห็นความเคลื่อนไหวได้ มีการสื่อสารโต้ตอบกันในเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ร่วมกันได้ และสามารถแชร์เรื่องราว ข้อความ ต่อไปยังผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นแอพริเคชั่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชต หรือเว็บไซต์ ที่เป็นเครื่องมือหลักในการเป็นช่องทางให้เกิดการรังแกและกลั่นแกล้งกัน ด้วยสารพัดวิธี ทั้งการโพสต์ การแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จโจมตีบุคคลอื่น ซึ่งมักจะเป็นข้อความหรือเนื้อหาในทางให้ร้าย กระทำการอันใดที่ส่งผลให้เกิดความอับอายต่อผู้อื่น เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และบางทีก็อาจเป็นการกระทำที่เลยเถิดไปถึงขั้นผิดต่อกฎหมาย และจริยธรรม
สารพัดรูปแบบและวัตุประสงค์ของการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
ไม่ว่าจะเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่ผู้ถูกกระทำโดนถูกรุมทำร้าย รุมแกล้ง แล้วนำคลิปไปโพสต์แฉบนโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดคอมเมนต์เสียหายต่อผู้ถูกกระทำ ซึ่งก็เคยมีกรณีน่าเศร้าที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศมาแล้ว โดยเฉพาะเด็กซึ่งตกเป็นเหยื่อของความอับอาย จนทำร้ายตัวเองหรือถึงขนาดฆ่าตัวตายก็มี
ข้อนี้พึงต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง การที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ถึงรหัสผ่านแอปพลิเคชันหลักที่ใช้ประจำ ในการทำธุรกรรมบนโลกโซเชี่ยล ถือเป็นดาบสองคมเลยทีเดียว มีหลายกรณีที่หลุดเผยรหัสผ่านให้ผู้อื่นล่วงรู้โดยไม่เจตนา เช่น การให้เพื่อนหรือคนไม่สนิทมักคุ้น เป็นผู้สมัครแอปพลิเคชันให้ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ไลน์ อาจตกเป็นเหยื่อโดนรังแกด้วยการถูกสวมรอยใช้เฟซบุ๊กของตัวเอง โพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปโป๊ คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบต่างๆ โดยไม่รู้ตัว
ผู้ไม่หวังดีมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้เสียหาย นำความลับหรือภาพลับของเพื่อนมาเปิดเผยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้มีการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง หรือการใส่ร้ายป้ายสี เช่น ตัดต่อรูปภาพที่เกินจริงไปในทางไม่เหมาะสม หรือการแอบถ่ายภาพหลุดที่น่าขำ มาแชร์ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ โพสต์ประจาน และแสดงความคิดเห็นอย่างสนุกสนานเกินเลย บางครั้งยังส่อไปในทางคุกคามทางเพศด้วยภาพโป๊เปลือยอนาจาร หรือบางรายได้รับการส่งภาพโป๊หรือคลิปวิดีโอลามกมาให้ โดยที่ผู้รับไม่ได้มีความต้องการ
เป็นข่าวที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ที่ผู้มีชื่อเสียงหลายคนตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ หลอกลวงให้ผู้คนหลงเชื่อ สวมรอยเป็นบุคคลที่คนวงกว้างรู้จักนับถือ ให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ด้วยวิธีการต่างๆ หรือการทำให้บุคคลเป้าหมายชื่นชมในภาพลักษณ์จนมีการนัดเจอเพื่อทำมิดีมิร้าย หลอกให้มีเพศสัมพันธ์ หรือ ทำอนาจาร
6. การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ
จะเห็นได้ว่าการกลั่นแกล้งต่อบุคคลที่ตนเองไม่ชื่นชม มีเจตนาที่มุ่งร้ายให้เขาได้รับความอับอาย เจ็บใจ และเสียใจโดยใช้โซเชี่ยลมีเดียเป็นเครื่องมือ หรือที่เรียก Cyberbullying นี้ มักจะเป็นการกระทำแบบซ้ำๆ และไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อนในบางกรณี ไม่จำเป็นต้องประจันหน้า และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน สามารถกลั่นแกล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ใช่การกลั่นแกล้งเพียงครั้งเดียวแล้วเลิกไปซะด้วย
เราจะเห็นได้ว่ายิ่งเทคโนโลยีพัฒนารุดหน้า แต่คุณค่าทางจิตใจของผู้คนกลับเปราะบางลง ภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ถดถอย ความขัดแย้งเพียงเล็กน้อยก็เป็นชนวนก่อให้เกิดเหตุต่างๆ ได้ ความคิดและการลงมือกระทำการรังแกกันกลับง่ายแค่ปลายนิ้วคลิ๊ก เป็นลักษณะสงครามทางจิต ไม่ต้องลงไม้ลงมือทางร่างกาย แต่เป็นการกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้จึงมีความกล้าที่จะรังแกกันง่ายมากขึ้น และสำนึกรับผิดชอบชั่วดีถดถอย และด้วยคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคิดเอาเองว่า โซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่ส่วนตัว ที่ใช้ระบายความคิด ความรู้สึก ด้วยถ้อยคำ และพฤติกรรมที่แสดงออกได้อย่างอิสระ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำร้ายกัน และยังไม่อาจควบคุมได้
ในปัจจุบันโลกออนไลน์เป็นโลกที่คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ง่ายมากจริงๆ การกลั่นแกล้งรังแกแบบนี้ จึงเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน และคนมีชื่อเสียง เรียกได้ว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดียก็เสี่ยงต่อการ Bully ได้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มักตกเป็นเหยื่อ
สำรวจตัวเองด่วน! สัญญาณที่เตือนว่าคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะ Cyberbullying หรือไม่!
ในบางครั้งเรา อาจไม่กล้าระบายความทุกข์ใจกับใคร ไม่กล้าเล่าสิ่งที่พบเจอให้ใครฟัง เรามาลองสำรวจตัวเองสังเกตดูสิว่าเห็นอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า
– มีอาการซึมเศร้า เครียด หรือมีความวิตกกังวล
– ชอบเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา วันๆ เล่นแต่มือถือหรือแท็บเล็ต
– ทำตัวห่างเหินจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนที่โรงเรียน ที่ทำงาน
– อาจมีอาการทางกายแสดงให้เห็น เช่น การกินการนอนผิดปกติ ปวดท้อง ปวดศีรษะ
– เมื่อเจอคนพูดถึงเรื่องที่น่าอับอาย หรือสอบถามถึงสาเหตุของการไม่ออกจากบ้าน ไม่ไปทำงาน ไม่ไปเรียน เขาอาจมีอาการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ร้องไห้อย่างหนัก หรือสติหลุดเนื่องจากความกดดันให้เห็น
– ถ้าเป็นเด็กอาจมีอาการไม่อยากไปโรงเรียน หรือแอบหนีเรียนบ่อยๆ
– ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการเรียนตกต่ำอย่างไม่ทราบสาเหตุ
– บางคนอาจใช้สารเสพติด
– หากเป็นมากๆ อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
เหล่านี้เป็นอาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังตกอยู่ในภาวะ Cyberbullying สำหรับเด็กพ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ได้ใช้โซเชี่ยลมีเดียเลย เพราะเด็กที่ถูกรังแกจะมีความเสี่ยงสูง ที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต ขณะที่เด็กที่ชอบรังแกผู้อื่น และยังมีความเสี่ยงใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอร์ในช่วงวัยรุ่น กลายเป็นชอบทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน เสี่ยงทำผิดกฎหมาย และในอนาคตทำให้เขาผู้นั้นมีความเสี่ยงสะสมทำร้ายครอบครัว คู่สมรส และบุตรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้
ผลกระทบจากการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย
ผลกระทบทางด้านจิตใจนั้นมีต่อเด็ก หรือแม้แต่วัยใส วัยกลางคน ก็อาจพบได้ในระดับดีกรีสร้างความรำคาญใจ ไปจนถึงรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิต ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากออกจากบ้าน ไม่อยากพบเจอผู้คน โดยมีเรื่องที่ถูกรังแกตามมาหลอกหลอนเป็นระยะ หรือในบางรายอาจมีความเครียดอย่างหนัก ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาจร้ายแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นผลให้รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบจาก Cyberbullying ไม่ว่าจะต่อผู้รังแกหรือผู้ถูกรังแก นั้นจะมีดีกรีมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะทางจิตใจที่ต้องถูกฝึก รวมไปถึงทักษะการรับมือของแต่ละบุคคลด้วย
อย่าตอบสนอง
ถ้ามีคนกลั่นแกล้งคุณ โปรดทราบว่าปฏิกิริยาของคุณนั้น คือสิ่งที่คนกลั่นแกล้งต้องการ และทำให้นักกลั่นแกล้งนั้นมีอำนาจเหนือคุณ แล้วเราจะไปให้อำนาจพวกเขาทำไมกัน
อย่าตอบโต้
การตอบโต้นักกลั่นแกล้งจะทำให้คุณกลายเป็นนักกลั่นแกล้งเหมือนกัน และยังตอกย้ำพฤติกรรมกลั่นแกล้ง ช่วยกันป้องกันวงจรของความก้าวร้าว
เก็บหลักฐานไว้
สิ่งที่ดีเพียงอย่างเดียวของการกลั่นแกล้งในโลกดิจิตัล ก็คือคุณสามารถเก็บบันทึก และแสดงข้อความที่เป็นการล่วงละเมิดนั้น ให้กับคนที่ช่วยเหลือคุณได้ เก็บหลักฐานไว้แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เผื่อว่าเรื่องราวอาจลุกลามใหญ่โตในวันข้างหน้า
บล็อกคนกลั่นแกล้ง
ถ้าการล่วงละเมิดอยู่ในรูปของการส่งข้อความ หรือความคิดเห็นในโปรไฟล์ เราสามารถตั้งค่ากำหนดเครื่องมือความเป็นส่วนตัว เพื่อบล็อกคนนั้น ถ้าเป็นการแชท ให้ออกจาก “ห้องแชท” วิธีนี้อาจไม่ได้ยุติปัญหาอย่างสิ้นเชิง แต่คุณจะไม่ต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดอยู่ตลอดเวลา และจะทำให้ผู้ล่วงละเมิดเบื่อและหยุดไปเอง
ขอความช่วยเหลือ
ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับเพื่อนหรือหาผู้ใหญ่ที่ช่วยได้ ตามปกติการขอให้ผู้ปกครองช่วยนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่ต้องการ การปรึกษาคุณครูแนะแนวก็อาจช่วยได้มาก ถ้าคุณไม่อยากบอกใครเลยจริงๆ ลองดูว่าในโรงเรียนของคุณมีวิธีรายงานปัญหาแบบไม่ต้องแสดงตัวหรือไม่ บางครั้งวิธีนี้จะช่วยให้นักกลั่นแกล้งนั้นได้รับความช่วยเหลือในการเปลี่ยนพฤติกรรมก็ได้
ใช้เครื่องมือรายงาน
ถ้าการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โปรดใช้เครื่องมือรายงาน หรือการรายงาน “การละเมิด” ของบริการนั้น เครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นอาจมีเครื่องมือ “รายงานการละเมิดทางสังคม” ซึ่งคุณสามารถส่งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ให้กับเพื่อนที่ไว้ใจหรือขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยนำเนื้อหาที่ล่วงละเมิดนั้นออก ถ้าการล่วงละเมิดนั้นมีการข่มขู่ที่จะทำร้ายร่างกาย คุณอาจต้องแจ้งตำรวจ ซึ่งในกรณีนี้คุณควรบอกผู้ปกครองด้วย
ใช้สันติวิธี
เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง แม้ว่าคุณจะไม่ชอบใครก็ตาม ทางที่ดีคือรักษาท่าทีของเราและอย่าลดตัวลงไปเทียบกับคนนั้น ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าการนินทาและว่าร้ายคนอื่นนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงในการที่คุณจะถูกรังแก
อย่ากลั่นแกล้งคนอื่น
คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา การคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรจะช่วยบรรเทาความก้าวร้าวลงได้อย่างมาก นี่คือสิ่งที่โลกของเรากำลังต้องการ
แสดงความกล้าหาญ อย่าเป็นไทยมุง
การส่งต่อข้อความที่ประสงค์ร้ายหรือดูอยู่เฉยๆ เป็นการส่งเสริมนักกลั่นแกล้ง และทำร้ายเหยื่อมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ โปรดบอกให้นักกลั่นแกล้งหยุดพฤติกรรมนั้นเสีย หรือทำให้รู้ว่าการรังแกคนอื่นนั้นไม่เท่ แต่เป็นการกระทำที่โหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ ถ้าคุณไม่สามารถหยุดนักกลั่นแกล้ง อย่างน้อยคุณควรช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ และรายงานพฤติกรรมกลั่นแกล้งนั้น
ผู้ปกครองมาช่วยกันสอดส่องป้องกัน Cyberbullying ในเด็ก
1. สอนลูกๆ ว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ใครมาขอเป็นเพื่อนต้องตรวจสอบให้ดี หากไม่รู้จักก็ไม่ควรตอบรับคำขอเป็นเพื่อนนั้น
2. คอยสอดส่องว่าลูกจะไปไหน กับใคร หรือเพื่อนที่ลูกคุยด้วย แชตด้วยเป็นใคร
3. สอนลูกให้เก็บข้อมูลส่วนตัวของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้าและคนที่ไม่สนิทสนม ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอย่างชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลส่วนตัว ควรแนะนำวิธีตั้งค่าความปลอดภัยในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ที่สำคัญควรย้ำกับลูกว่าไม่ควรนัดเจอกันส่วนตัวกับเพื่อนในโลกออนไลน์โดยเด็ดขาด
4. ควรกำหนดข้อตกลงกันก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกใช้เครื่องมือสื่อสาร และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้พ่อแม่สามารถตรวจสอบได้ว่าลูกใช้โซเชียลมีเดียยังไง คุยกับใครบ้าง หรือมีความผิดปกติอะไรในนั้นหรือไม่5. พ่อแม่ควรสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับลูก เพื่อให้ลูกไว้วางใจมากพอจะบอกเล่าทุกเรื่องราวในชีวิตเขาได้ เมื่อมีปัญหาอะไรลูกจะได้กล้าขอคำปรึกษากับเรา
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเด็กที่ถูกรังแกผ่านโลกออนไลน์ ก็ควรต้องมีสติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ด้วย และอย่าลืมว่าเราสามารถลบข้อความที่สร้างความเสียหายกับเราได้ ทั้งยังสามารถบล็อก หรือ รีพอร์ตคนที่กลั่นแกล้งเราได้ ทั้งนี้ผู้ปกครองครอบครัว ก็ควรสังเกตพฤติกรรมของเด็ก หากเขามีอาการหงุดหงิดหรือพฤติกรรมแปลกไปหลังเล่นโซเชียลมีเดีย อาจต้องเข้าไปพูดคุยและถามไถ่ถึงสาเหตุ เป็นการแลกเปลี่ยนแชร์ความรู้สึกบางอย่างที่เขาเผชิญอยู่ รวมทั้งพยายามพาเขาออกห่างจากโลกออนไลน์บ้างก็ดีนะ
แล้วคุณหล่ะ ป้องกันตัวเองอย่างไร
1. ไม่สื่อสาร ไม่รับเรื่องราวที่สร้างความเกลียดชัง เพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรง
2. ไม่ส่งต่อข้อความหรือเรื่องราวที่สร้างความเกลียดชัง
3. ตักเตือนเมื่อเห็นการกลั่นแกล้งกันทางโซเชียลมีเดีย โดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพและแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย
รู้ไว้ใช่ว่ากฏหมาย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
มาตรา 14 กรณีโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมแปลงไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งคนอื่นสามารถเข้าไปดูข้อมูลนั้นได้ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย รวมทั้งข้อมูลลามกต่าง ๆ ทั้งผู้โพสต์และผู้เผยแพร่ส่งต่อ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Credit: กรมสุขภาพจิต
IG: Ning Sophida (@ningsophidaa)
Photo: Istock