TOP

หลงเสน่ห์ท่องเที่ยวอนุรักษ์โฮมสเตย์ไทรน้อย ตามรอยขนมไทยท้าวทองกีบม้า ประสบการณ์เลอค่าที่เยาวชนนานาชาติต้อง ว้าว!

417 ปีอดีตราชธานีเก่าแก่ “พระนครศรีอยุธยา” ที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุด แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกเผาทำลายเสียหายจากการศึกสงครามจนทำให้เราต้องสูญเสียราชธานีเดิมในครั้งนั้น แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นหลักฐาน ยังแสดงถึงอัจฉริยภาพอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษ ผู้สร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมและความมั่งคั่ง ไว้ให้แก่แผ่นดินไทย พระนครศรีอยุธยาในวันนี้ ทุกพื้นที่มีเรื่องราวและร่องรอยประวัติศาสตร์ ที่ให้เราได้สืบทอด เรียนรู้ บอกต่อ และอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงาม ประวัติศาสตร์ ศาสนา โบราณสถานอันล้ำค่า นำมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการเชิดชูศิลปวัฒนธรรม และวิถีของความเป็นไทยในพื้นที่ต่างๆ สื่อสารเรื่องราวอันเป็นความภาคภูมิใจ ความงดงามอันเป็นอัตลักษณ์ เปิดบ้านรอให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง

Thailand Village Academy โครงการดีๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความสนับสนุนของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, เว็บไซต์ Hello Local, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด สร้างสรรค์โปรแกรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนนานาชาติ เปิดมิติการท่องเที่ยวประเทศไทยในชุมชนที่มีอัตลักษณ์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สัมผัสลึกซึ้งถึงวัฒนธรรม ประตูบานใหญ่ไทยแลนด์เวลคัม สู่ห้องเรียนธรรมชาติ จุดหมายไฮไลท์ของเราในทริปนี้ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และมีเรื่องเล่ามากมาย ชุมชนเข้มแข็งที่มีความร่วมมือร่วมใจ สร้างสรรค์พื้นที่ของหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เราใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงจุดหมายไม่เกิน 2 ชั่วโมง ณ “หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โฮมสเตย์ไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”

 

“บางบาล” อำเภอหนึ่งใน 16 เขตการปกครองของอยุธยา ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน จากชุมชนที่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวที่ทรงอพยพชาวมอญมาจากกรุงหงสาวดี ทรงรับสั่งให้ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมือง และเรียกชื่อหมู่บ้าน “บ้านมอญ” กาลสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป ชุมชนบ้านมอญในอดีต แปรเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของตำบลไทรน้อย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะทำการเกษตรทำนา ปลูกข้าว เราจึงได้เห็นชาวชุมชนใส่เสื้อม่อฮ่อมรณรงค์แคมเปญ “ชวนคนเมืองปลูกข้าว” ในคราวนี้ ที่พร้อมใจต้อนรับคณะออกมาฟ้อนรำด้วยความสนุกสนานเฮฮา

ศูนย์การเรียนรู้และประสานงานชุมชนแห่งนี้ เปรียบเสมือนหน้าบ้านให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือน ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาว นำพวงมาลัยคล้องคอเวลคัม เสิร์ฟน้ำอัญชัญสีสวย พร้อมด้วยขนมฟักทองแสนอร่อย ก่อนขยับเข้าใกล้ขึ้นอีกหน่อย ทำความรู้จักกันให้มากขึ้นกับ “หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย” โดย “คุณมยุรี ศรีนาค” ประธานชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตำบลไทรน้อย

“หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โฮมสเตย์ไทรน้อยแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ ปี พ.ศ. 2559 ตั้งแต่ได้รับการคัดเลือก เราเริ่มทำชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นทางการ โดยทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง ให้การส่งเสริมสนับสนุนและเข้ามาช่วยดูแลชุมชนของเรา บ้านเราไม่มีภูเขา ไม่มีน้ำตก ไม่มีทะเล เรามีแต่วิถีชีวิตกับวัฒนธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีในพื้นถิ่นของคนภาคกลาง ชุมชนตำบลไทรน้อยของเรา มี 10 หมู่บ้าน 5 วัด 3 โรงเรียน หัวใจสำคัญของเราใช้ขบวนการของหลัก บ.ว.ร คือ บ้าน-วัด-โรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ชุมชนเราเป็นชุมชนท่องเที่ยว ด้วยการใช้วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรมเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หรือสิ่งที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเรายังเป็นชุมชนที่มีฝีมือในเรื่องขนมไทย ตามรอยขนมไทยท้าวทองกีบม้า สืบสานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ที่จะให้ทุกคนที่มาร่วมทริปในครั้งนี้ ได้มีส่วนร่วมลงมือทำขนมด้วยตัวเอง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในฐานกิจกรรมต่างๆ ขอขอบคุณโครงการ Thailand Village Academy การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่นำพาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนไทรน้อย หรือแม้แต่ชุมชนทั่วประเทศไทย ไปสู่สายตานักท่องเที่ยว และทำให้พวกเรามีความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความตระหนัก มีความเข้มแข็ง รู้สึกถึงความรักชาติ รักถิ่นฐาน รักบ้าน และความร่วมใจฟื้นฟูสิ่งที่เป็นของดีที่มีอยู่ในชุมชน ให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเยาวชนนานาชาติที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้เปิดประสบการณ์สัมผัสวิถีชีวิต และเข้าถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมอย่างไทยพื้นบ้านของเรา ทำให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนสู่ชุมชนของเรา และประเทศไทยของเราอย่างแท้จริงค่ะ” คุณมยุรี ประธานชุมชน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

 

นั่งรถรางชมบรรยากาศสองริมทาง @ชุมชนไทรน้อย

“รถราง” พาหนะที่นำนักท่องเที่ยวเดินทางชมบรรยากาศ และวิถีชีวิตของคนไทรน้อย อำเภอบางบาล รองรับได้ประมาณ 20 ที่นั่งอย่างสบายๆ เราได้ซึมซับกับวิถีชีวิต ความศรัทธา วัฒนธรรม ประเพณี การเกษตรอาชีพที่หล่อเลี้ยงปากท้อง และธรรมชาติอันสมบูรณ์ จากเรื่องราวที่ไกด์ชุมชนบอกเล่าขณะเดินทาง จากสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือน วัดวาอาราม โรงเรียน แม่น้ำ ธรรมชาติสองริมทาง ขณะที่รถรางพาเราเคลื่อนตัวไปบนถนนสายหลักในชุมชน ผ่านคลองบางบาล (แม่น้ำเจ้าพระยาสายดั้งเดิม) สายน้ำอันมีความสำคัญกับชาวบ้านเกษตรกร ผ่านแปลงนา โรงอิฐ โฮมสเตย์เรือนไทย ยันแหล่งเพาะพันธุ์ไม้มงคล จนมาถึงจุดหมายบ้านพักโฮมสเตย์หลังใหญ่ของคุณยายบุญเสริม ที่ให้เราได้ปักหมุดหยุดพักผ่อน เยี่ยมชมแปลงเกษตรพืชเศรษฐกิจ กล้วยหอม ข้าวโพด และสนุกสนานไปกับการได้ลงแปลงเก็บข้าวโพดมาทำขนม เมนูซิกเนเจอร์ของบ้าน

 

สัมผัสวิถีแบบบ้านเรือนไทยภาคกลาง โฮมสเตย์ไทรน้อย

“คุณยายบุญเสริม” เจ้าบ้านโฮมสเตย์เรือนไทยหลังใหญ่ เปิดบ้านให้การต้อนรับคณะ Thailand Village Academy ณ ที่อำเภอบางบาลแห่งนี้ บ้านพักส่วนใหญ่เป็นเรือนไทยสไตล์ภาคกลาง แบบฝาปะกนทำจากไม้สัก บางบ้านเป็นฝาเฟี้ยมสายบัว บางบ้านเป็นฝาลายขัดแตะ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ยกพื้น ใต้ถุนสูง ความสูงจากพื้นดินเสมอศีรษะคนยืน หลังคาทรงสูงมีจั่วทรงสามเหลี่ยม ชายคายื่นยาวเพื่อกันฝนสาดกันแดดส่อง แต่ละบ้านนิยมวางเรือนของตัวเองไปตามสภาพแวดล้อมและทิศทางลม

ปัจจุบัน หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โฮมสเตย์ไทรน้อย มีบ้านที่พร้อมรับนักท่องเที่ยวค้างคืนแบบโฮมสเตย์ จำนวน 15 บ้าน และกำลังจะเข้าร่วมอีก 5 บ้าน รวมเป็น 20 บ้านอันใกล้นี้ ที่สามารถเข้าพักต่อบ้านสูงสุดไม่เกิน 20 คน ตามระเบียบกรมการท่องเที่ยว มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย แต่ละบ้านจะมีอุปกรณ์เครื่องนอนหมอนมุ้ง ห้องน้ำ ห้องพักบางบ้านอาจติดแอร์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวีถีแบบบ้านๆ ปูเสื่อ กางมุ้ง ก็เป็นวิถีแบบดั้งเดิม ช่วงประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านฯ ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาโดยตลอด จึงทำให้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความสนใจในการท่องเที่ยวแบบชุมชนอย่างมาก และความต่างด้านวัฒนธรรมไม่เคยเป็นอุปสรรค การสื่อสารภาษาที่ต่างก็ไม่ใช่อุปสรรคเช่นกัน สิ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสำคัญคือการเรียนรู้ นำประสบการณ์ไปต่อยอดทั้งด้านชีวิตส่วนตัวและในด้านหน้าที่การงาน การเปิดโลกเปิดใจตัวเองให้กว้างขึ้น ได้เห็นว่าโลกมีอะไรอีกมากมายที่ไม่เคยรู้มาก่อน นาฬิกาชีวิตของที่นี่เริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่โผล่พ้นแผ่นดิน เจ้าบ้านลุกขึ้นมาทำอาหาร, ชวนกันตักบาตรเช้า, เรียนรู้การทำอาหารคาวพื้นถิ่น, เรียนรู้การทำขนมมงคลโบราณสูตรชาววัง ที่ชุมชนอนุรักษ์และสืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น, ปั่นจักรยานเที่ยวชมวิถีชีวิต, เรียนรู้การทำขนมไทยมงคล, เรียนรู้การทำอิฐมอญโบราณ, เรียนรู้และสัมผัสอาชีพการปลูกข้าวโพด ปลูกกล้วยหอมทอง และพืชไร่ต่างๆ, เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ, ฝึกความแข็งแรงผ่านกิจกรรมศิลปะแม่ไม้มวยไทยแบบต้นตำรับ ในโปรแกรมเต็มรูปแบบ 7 วัน 6 คืน ถือเป็นระยะเวลาที่กำลังพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกับคนชุมชน ก่อนนำความประทับใจกลับบ้าน

 

พืชผักสวนครัว เกษตรปลอดสาร

ในอดีตบรรพบุรุษตำบลไทรน้อย มีอาชีพการเกษตร ทำนาปลูกข้าว พืชผลทางการเกษตรรองจากข้าว ที่ปลูกกันมากแทบจะทุกบ้าน คือ “กล้วย” ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอม ส่วน “ข้าวโพด” ปลูกกันตามความถนัดของบ้าน มะเขือยาว มะเขือเปราะ พริกขี้หนู พริกเม็ดใหญ่ บวบ แตงกวา มะระ ฟักทอง แฟง เป็นพืชผักที่ปลูกกินกันตามครัวเรือนบ้าง ขายบ้าง การทำให้พื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงวัฒนธรรม เป็นนวัตกรรมใหม่สู่ชุมชน ที่สร้างเศรษฐกิจรายได้หมุนเวียนในชุมชน โดยที่ไม่ต้องนำผลผลิตเดินทางออกไปขายที่อื่น มั่นใจได้ในความสด สะอาด ปลอดสารเคมี พืชผักที่นี่เก็บเกี่ยวกินใช้และขายกันวันต่อวัน จากการที่นักท่องเที่ยวหมุนเวียนกันมาลองใช้ชีวิตเกษตรแบบบ้านๆ การเข้าถึงและสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง จึงเป็นแบบปากต่อปากบอกเล่าน่าเชื่อถือ

 

เรื่องกล้วยๆ

ช่วงเวลาแห่งความสนุกได้เริ่มขึ้น ครั้งนี้ AROUND ขอสลัดคราบสาวชาวกรุงมาเป็นสาวชาวไร่สักวัน เรียนรู้ขบวนการตั้งแต่ต้นทางเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงเกษตร “ข้าวโพด” พันธุ์ข้าวเหนียว นำมาเตรียมเมนู “พล่าข้าวโพด”, “ข้าวโพดต้ม”, “เปียกข้าวโพด” และตัดเครือ “กล้วย” นำมาเตรียมเมนู “กล้วยบวชชี”, “กล้วยทอด” ปราชญ์ชุมชนพี่ป้าน้าอา จัดทีมกันมาเป็นพี่เลี้ยงสอนให้เราสังเกตุข้าวโพดฝักแก่พร้อมปลิดฝักได้จากต้น ทำให้เราได้รู้มากขึ้นนับตั้งแต่วันที่เริ่มปลูกจนถึงวันฝักแก่พร้อมกินได้ ใช้เวลาต่อล็อตที่ปลูก ประมาณ 45 วัน จากนั้นค่อยถางกลบปลูกใหม่เป็นรอบๆ ไป หมุนเวียนแบบนี้ ภายใน 1 ปี จะได้ผลผลิตจากข้าวโพดที่ปลูกประมาณ 6 ล็อต เรียกว่าปลูกกันทั้งปี และวิธีการเลือกตัดกล้วยหอมดิบจากต้น นำมาทำเมนู “กล้วยทอด”, “กล้วยบวชชี” ที่มีขั้นตอนตั้งแต่เตรียมกล้วยจนไปถึงการปรุงรส เคล็ดไม่ลับ เรียกว่าจบหลักสูตรนี้ทำกินเองได้ ทำขายก็ดี โดยมีปราชญ์ชุมชนเป็นพี่เลี้ยงชี้แนะให้เราลงมือทำเองทุกขั้นตอน แถมได้รู้เรื่องกล้วยๆ กล้วยหอมหวานมันอร่อยเต็มคำ กว่าผลจะแก่ให้เรากินกัน ใช้เวลาปลูกจนถึงวันที่เก็บเกี่ยวนานถึง 8 เดือน และยังมีผลจากการวิจัยพบว่า กล้วยหอมของหมู่บ้านฯ ที่ปลูกกัน มีสารต้านมะเร็ง เพราะดินตะกอนที่ถูกสะสมจากซากพืชซากสัตว์ ที่ชาวบ้านเรียก “ดินน้ำไหลทรายมูล” เป็นดินที่มีแร่ธาตุสูงมาก ทำให้ได้กล้วยที่มีคุณภาพ รสชาติกลมกล่อม ผลอวบใหญ่ ได้มาตราการส่งออก จนเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้านเลยทีเดียว

 

 สืบสานขนมไทยชาววัง ตำรับท้าวทองกีบม้า

ว่าด้วยเรื่องอาหารคาวและหวาน ที่ “หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย” มีความโดดเด่นไม่แพ้เรื่องการเกษตร “อยุธยา” ดินแดนกำเนิดขนมไทยมาแต่โบราณ บนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามรอยท้าวทองกีบม้า ขนมไทยชาววัง ถูกสืบทอดยาวนานมากว่า 300 ปี มีการรังสรรค์ให้เป็นรสชาติของหมู่บ้านฯ ที่ไม่เน้นหวานจัด ในครั้งอดีตกาลเป็นขนมทำกันเฉพาะภายในเขตรั้ววัง และเมื่อมีการตกทอดวิชากันมาในตระกูล จะล้อมวงทำกันเฉพาะวาระงานสำคัญ เป็นต้นว่างานบุญ งานแต่งงาน งานบวช เทศกาลงานต่างๆ เท่านั้น หมู่บ้านฯ ของเราก็ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นปู่ย่าบรรพบุรุษ เมนูเด่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน จ่ามงกุฎ ทองเอก เสน่ห์จันทร์ ขนมชั้น และอีกหลากหลายเมนูชาววังที่เราทำกัน ส่วนขนมหวานที่ทำกินกันในชุมชนของหมู่บ้านฯ แบบบ้านๆ ก็คิดทำเอาจากวัตถุดิบที่มีของบ้านเป็นหลัก บ้านใครปลูกอะไรก็คิดทำเมนูต่างไป เอามาแบ่งปันกันบ้าง ขายบ้าง อย่างเมนู กล้วยทอด กล้วยบวชชี และซิกเนเจอร์เมนูที่ยังคงอนุรักษ์ไว้คือ “ขนมถั่วแปบ” ที่ทุกวันนี้หากินได้ยากในสถานที่ทั่วไป

ในฐานกิจกรรม เรายังได้ลงมือทำขนมไทยชาววัง 2 เมนู “ขนมฝอยทอง” ขนมที่มักทำขึ้นเพื่องานมงคล ด้วยความเชื่อแต่โบราณถึงความรักอันยืดยาว เหมือนดั่งเส้นขนมฝอยทองที่ยิ่งยาวในพับเดียวยิ่งดี เราได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมไข่แดง เตรียมกรวยโรยไข่ลงในน้ำเชื่อมเดือด จนสุกนำขึ้นพักให้แห้ง ได้ขนมฝอยทองด้วยความภูมิใจกันถ้วนหน้า เคล็ดลับต่างๆ อย่างที่โดยปกติคงไม่ได้มีโอกาสทำกินในชีวิตประจำวันเลย เมนูต่อไป “ขนมทองเอก” สื่อความหมายถึงการเป็นที่หนึ่ง ความก้าวหน้า ความสำเร็จ ที่เริ่มลงมือกันตั้งแต่เตรียมแป้ง กวนแป้งกับไข่แดง กดขนมลงแม่พิมพ์ทองเอก และตกแต่งด้วยทองคำเปลวให้สวยงามพร้อมอวดสายตา ให้นึกถึงใบหน้าพ่อหนุ่ม “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ในละครทั้งที่ว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน รวมถึงปั้นขนมไทยพื้นบ้าน “ขนมถั่วแปบ” ด้วยการเตรียมนึ่งถั่วเขียวและมะพร้าว นวดแป้งให้เนื้อเนียนเป็นหนึ่งเดียวกับน้ำสมุนไพร ที่ต้องการให้ได้สีสันสวยงาม พับแผ่นแป้งคลุกถั่วกับมะพร้าว แล้วเราก็ชิมฝีมือตัวเองกันด้วยความภูมิใจ ด้านสรรพคุณนั้นแก้ร้อนใน บำรุงกำลัง แก้เหน็บชา และขับปัสสาวะได้ด้วย เป็นเมนูขนมที่ให้ทั้งประโยชน์ และอร่อย หากินได้ไม่ง่ายแล้วในสมัยนี้

 

ผัด แกง ต้ม เสน่ห์ปลายจวักชุมชน

ไม่เพียงขนมหวานที่ หมู่บ้านโฮมสเตย์ไทรน้อย ได้อนุรักษ์สืบสานเป็นของดีขึ้นชื่อ ที่นี่ยังมีดีอีกหลายสิ่งอย่าง เสน่ห์ปลายจวักฝีมืออาหารก็เป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะเมนู “แกงบอน” และ “แกงมะขามเทศกับปลาย่าง” ที่หาทานได้ยากเฉพาะหมู่บ้านฯ นี้เท่านั้น และหาคนทำให้อร่อยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมากินที่นี่การันตีความอร่อย สำหรับแกงมะขามเทศ เป็นเมนูตามฤดูกาล เฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเท่านั้น เพราะมะขามเทศจะให้ฝักแก่ในช่วงเดือนดังกล่าว และการเก็บ “ต้นบอน” พืชที่เติบโตตามหนองน้ำ ที่เราต่างคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ความคันหากเมื่อสัมผัสโดนมันเข้า แต่เจ้าต้นบอนกลายเป็นเมนูโปรดของชาวบ้าน ที่ต้องมีเคล็ดลับในการเอาพิษคันออกไปจนหมด ก่อนนำมาปรุงอาหาร นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ และยังมีเมนูเด่นอื่นๆ อาทิ ขนมจีนน้ำพริกน้ำยาต่างๆ, แกงเขียวหวาน, ผัดหมี่กรอบ, น้ำพริกมะม่วง และหลากหลายเรื่องยำ เรื่องตำ เรื่องต้ม เรื่องผัด เรื่องแกง นับเป็นเสน่ห์ของชุมชนที่ได้อวดของดีของบ้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาหารจากรุ่นสู่รุ่น

 

 “แม่อบเชย” ยาหม่องสินค้าโอทอป

นอกจากอาหารคาวหวานที่เลื่องชื่อของหมู่บ้านแล้ว อีกซิกเนเจอร์ที่ใครไปใครมาต้องซื้อหาเป็นของฝาก ติดไม้ติดมือถือเป็นยาอายุวัฒนะใช้ทา สูดดม หอมชื่นใจ นั่นคือ “ยาหม่องสมุนไพร” ที่เราจะได้มีโอกาสสนุกไปกับขั้นตอนการลงมือทำกันด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ไพร อบเชย กานพลู พิมเสน การบูร วาสลีน พาราฟิน น้ำมันระกำ เมนทอล แต่ละขั้นตอนมีความพิถีพิถัน กว่าจะสกัดออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหย หรือการเคี่ยวสมุนไพรรวมกันจนได้ยาหม่อง จากต้นตำรับของ “แม่อบเชย” สินค้าโอทอปขายดีประจำหมู่บ้าน

ก่อนจะอำลาพี่ป้าน้าอา ที่แม้ได้ใช้เวลาด้วยกันในช่วงเวลาอันจำกัด แต่กลับมัดใจกระชับความรู้สึกของพวกเราจนเกิดเป็นความผูกพัน การได้เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ได้การเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ รอบตัว วิถีที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน เปิดโลกใบใหม่ที่ทำให้เราได้เห็นว่า โลกใบนี้ยังมีอะไรอีกเยอะที่ควรค่าแก่การเก็บเกี่ยว ให้ทุกประสบการณ์เป็นการเรียนรู้ เป็นพลังที่จะขับเคลื่อนชีวิตและส่งต่อสิ่งดีๆ สู่สังคม วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สามารถสัมผัสจับต้องมองเห็น สอดแทรกในทุกรายละเอียดของวิถีการดำรงชีวิต ผ่านความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ ความศรัทธา ที่แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ณ “หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย” แห่งนี้ เราได้เห็นผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และความร่วมมือร่วมใจกันของชาวชุมชน จนเกิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่น่าเรียนรู้ 1 ใน 7 ของภาคกลาง ความน่ารักในอัธยาศัยที่ไร้ซึ่งจริต ความมีน้ำใจเอื้ออาทรณ์ ช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปัน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ใหม่ๆ กลายเป็นเพื่อนระหว่างเรานักท่องเที่ยวและพี่ๆ ในชุมชน ความประทับใจเหล่านี้ AROUND ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อเรื่องราวทริปการเดินทางของโครงการ Thailand Village Academy จากประสบการณ์ตรง เพื่อเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมที่ได้รับมากกว่าคำว่า “ประสบการณ์ชีวืต” ยังน้องๆ เยาวชนนานาชาติ และเยาวชนไทยในโรงเรียนนานาชาติ คุณพ่อ คุณแม่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ลูกๆ ได้รับประสบการณ์ ส่งเสริมการเรียนรู้ชีวิตทางอ้อม ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่คุณภาพในอนาคต

 

เช็คอิน รักษ์นา@อยุธยา

แลนมาร์คสุดชิล ให้วิวทุ่งนาแบบพาโนราม่าสุดตา “รักษ์นา” ที่ไม่ว่าใครผ่านไปมาบนทางหลวงหมายเลข 347 ก่อนถึงแยกวรเชษฐ์ ยามมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองกรุงเก่า เป็นต้องแวะแฮงเอาท์ เพราะเจ้าโครงสร้างไม้ไผ่ดีไซน์เก๋สอดรับกับแปลงนาช่างสะดุดตา ที่ไม่ว่ามองมุมไหนก็ให้รู้สึกว้าว โดยเฉพาะมิติของแสงเงายามบ่าย รอดทะลุอุโมงค์สามเหลี่ยมริ้วไม้ไผ่ ตรงทางเข้าช่างเป็นภาพที่สุดคลู เดินทะลุเข้าสู่โถงธรรมชาติ ภาพเบื้องหน้าราวดั่งภาพวาดบนเฟรมของจิตรกร หมุนตัวไปมาชมวิวได้แบบ 360 องศา ชิลกับวิวทุ่งนาผืนกว้าง ที่ “คุณรัตน์” เจ้าของบอกกับ AROUND ว่าแปลงนาตรงหน้าโดยรอบ “คุณรัตน์” และครอบครัวส่งเสริมให้เป็นที่ทำกินของชาวเกษตรกร ที่พวกเขาทำนาบนพื้นที่นี้อยู่แล้วดั้งเดิม เพิ่มเติมคือมี “รักษ์นา Coffee & Terrace” ให้นักท่องเที่ยวได้ชิลและชม พักสายตากับวิวสวยของผืนนา ซึมซับวิถีชีวิตชาวเกษตรกรกรุงศรีฯ หากเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ จะได้เห็นนาเขียวสดชื่นช่วงต้นข้าวกำลังเริงร่า หากมาในเดือนสิงหาคม ภาพทุ่งนาจะแปรเปลี่ยนเป็นสีทองช่วงรวงข้าวตั้งท้องพร้อมเก็บเกี่ยว “รักษ์นา Coffee & Terrace” ออกแบบเชื่อมต่อสะพานเชือกรักษ์นา มุมฮอตที่ใครมาแล้วต้องหยุดเซลฟี่ สู่ทางเดินไม้ยาวลึกเข้าไปในชายทุ่งหันหน้าสู่ทิศตะวันตก ยามพระอาทิตย์อัศดงตรงสถาปัตยกรรมซุ้มไม้ไผ่คล้ายรังนก เป็นจุดชมวิวและจุดถ่ายรูปสุดคูล หุ่นไล่กาและสองควาย “บุญมา บุญเลิศ” เป็นดั่งฉากหน้า ที่นี่มีมุมให้นั่งนอนเล่นเอกเขนกรับลมชมวิวผืนนาหลายจุด ที่หยุดเราให้ต้องแชะภาพเช็คอิน ฟินไปกับภาพสวยคู่สถาปัตยกรรมไม้ไผ่ ยังให้บริการอาหาร และเครื่องดื่มหลากเมนูได้อิ่มท้องกันอีกด้วย

 

สักการะพระพุทธนิมิต และพระทวารวดีอายุ 1800 ปี ณ “วัดหน้าพระเมรุ”

อาณาจักรอยุธยา อดีตราชธานีเก่าแห่งสยามประเทศ ยาวนานถึง 417 ปี ก่อนเสียกรุงให้กับพม่า ยุคที่รุ่งเรืองรุ่งโรจน์อย่างที่สุดนั้น เต็มไปด้วยวัดวาอารามและปราสาทราชวัง กษัตริย์แต่ละพระองค์ขึ้นปกครองอยุธยา นิยมสร้างวัดคู่บ้านคู่เมืองคู่บารมี แสดงถึงบุญญาธิการ อันแสดงตนเป็นผู้สืบทอดเผยแผ่พุทธศาสนา รวมถึงราษฎรที่มีฐานะอันเปี่ยมศรัทธาก็นิยมสร้างวัดด้วยเช่นกัน เหตุนี้เองทำให้อยุธยาเต็มไปด้วยวัดมากถึง 515 วัด ทั้งที่เป็นวัดหลวงและวัดราษฏร์ หากคิดจะจัดทริปไหว้พระ 9 วัดเสริมสิริมงคลภายใน 1 วัน อยุธยาเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจังหวัดหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากจะใกล้กรุงเทพฯ แล้ว วัดสำคัญมากมายยังเรียงรายอยู่ไม่ไกลกันนัก “วัดหน้าพระเมรุ” เป็นหนึ่งในเก้าที่ถูกบรรจุลงในโปรแกรมด้วยเสมอ และเป็นวัดเดียวที่พาให้เราย้อนกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์ของอยุธยาได้เห็นภาพชัดที่สุด จากความสมบูรณ์ของวัดและองค์พระพุทธนิมิตฯ พระประธาน สันนิษฐานสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ปี พ.ศ. 2046 ยังคงให้เราคนรุ่นหลังได้กราบสักการะ สัมผัสด้วยตา เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างภาคภูมิใจ จินตนาการถึงความงดงามของอดีตราชธานีกรุงเก่า ที่ยังคงบอกเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน และเป็นวัดสำคัญหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้ถูกเผาทำลายในครั้งเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ก่อนอาณาจักรอยุธยาจะล่มสลาย วันนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ยังคงอดสะเทือนใจกับความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงไม่ได้ คงหลงเหลือไว้เพียงความทรงจำกับซากปรักหักพัง ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ประติดประต่อจิ๊กซอร์แห่งประวัติศาสตร์

ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์ “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ” พระประธานวัดหน้าพระเมรุ เป็นที่กล่าวขวัญทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากข้าศึก ตามบันทึกชาวกรุงเก่าในพระราชพงศาวดารกรุงศรีฯ กล่าวไว้ เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าอลองพญาของพม่า ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2303 พม่าได้ยกเอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดพระเมรุราชิการาม (ชื่อเต็มวัดหน้าพระเมรุ) กับวัดหัสดาวาส (วัดช้าง) พระเจ้าอลองพญาทรงจุดปืนใหญ่ หมายจะทำลายกรุงศรีอยุธยาราชธานีด้วยพระองค์เอง บังเกิดความอัศจรรย์ เมื่อพระองค์จุดชนวนปืนใหญ่กลับระเบิดจนปากกระบอกปืนแตก สะเก็ดระเบิดลุกเป็นไฟต้องพระวรกายให้บาดเจ็บสาหัสประชวรอย่างหนัก วันรุ่งขึ้นพม่าเห็นท่าไม่ดีจึงเลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่ยังไม่ทันพ้นเมืองตาก พระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง และนี่จึงเป็นเหตุให้วัดหน้าพระเมรุ จึงเป็นวัดเดียวที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในศึกเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 นั่นเอง ความงดงามขององค์พระพุทธนิมิตฯ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริด ภายนอกฉาบด้วยปูนลงรักปิดทองอร่าม รูปแบบพุทธศิลป์เป็นการผสมผสานคติความเชื่อแบบ “เทวราชา” ของขอม กับแบบ “ธรรมราชา” ของกรุงศรีอยุธยา โดยออกแบบทรงเครื่องมหาจักรพรรดิ์ลวดลายละเอียดอ่อนช้อยสลักเสลา พระพักตร์ค่อนข้างขลึมขลังเป็นเอกลักษณ์ ประดิษฐานในพระอุโบสถเก่าแก่ที่สร้างขึ้นพร้อมกันกับวัด หันหน้าสู่ทิศใต้ และหลังพระอุโบสถหันสู่ทิศเหนือ

สถาปัตยกรรมภายในพระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เดิมมีจิตรกรรมฝาผนังภาพเขียนสีโบราณ ก่อนถูกฉาบทาด้วยปูนเลียบขาวดังปรากฏเช่นปัจจุบัน เสาในพระอุโบสถทรงเหลี่ยม 2 แถว แถวละ 8 ต้นเขียนลาย ด้านหลังพระอุโบสถ ประดิษฐาน “พระศรีอริยเมตไตรย์” และอีกไฮไลท์ถัดจากพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของ พระวิหารสรรเพชญ์ หรือเรียก “วิหารน้อย” เป็นที่ประทับของ “พระคันธารราฐ” พระพุทธรูปศิลาเขียวองค์ใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะสมัยทวารวดี สร้างระหว่างปี พ.ศ. 1000 – 1200 ถ้านับถึงวันนี้อายุความเก่าแก่กว่า 1,500 ปี สันนิษฐานว่าก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดหน้าพระเมรุในปัจจุบัน เดิมน่าจะอยู่ที่วัดพระเมรุราชิการาม จังหวัดนครปฐมมาก่อน ด้วยจากการขุดพบหลักฐานบางอย่าง ก่อนนำมาประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ อยุธยาตามลำดับ

 

“เจดีย์ภูเขาทอง” สถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-มอญ

เจดีย์สูงตระหง่านสีขาวด้วยความสูงถึง 90 เมตร ยิ่งเมื่อเดินเข้าไปในระยะใกล้ที่สุด ตัวเราเหมือนจุดเล็กๆ บนภาพถ่ายเลยทีเดียว “เจดีย์ภูเขาทอง” เจดีย์สำคัญตั้งอยู่นอกเกาะกรุงศรีอยุธยา ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากพระราชวังหลวงประมาณ 2 กิโลเมตรนี้ ตามพระราชพงศาวดารชาวกรุงเก่าบันทึกไว้ สร้างขึ้นเมื่อปีราวปี พ.ศ. 1930 สมัยสมเด็จพระราเมศวร ครั้นคราวศึกเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่ามีชัยเหนืออยุธยา ทรงให้สร้างเจดีย์แบบมอญพม่าก่อทับองค์เจดีย์เดิมของวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการมีชัยครั้งนั้น กาลเวลาล่วงผ่าน สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ช่วงอยุธยาตอนปลาย ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ตอนบน จากฝีมือช่างแบบมอญพม่าให้เป็นเจดีย์แบบย่อมุมสิบสองฝีมือช่างไทยสมัยนั้น ศิลปะแบบมอญเดิมจึงปรากฏหลงเหลือเพียงฐานทักษิณส่วนล่าง เจดีย์ภูเขาทองทุกวันนี้ที่เราเห็นกัน จึงมีสถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-มอญ ฐานทักษิณ 4 ชั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไล่ระดับ ทั้ง 4 ด้านมีบันไดสูงขึ้นไปจนถึงฐานทักษิณชั้นบนสุด บนชั้นนี้มีฐานสี่เหลี่ยมขององค์เจดีย์ที่มีอุโมงค์เล็กๆ ลึกเข้าไปข้างใน เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป สูงขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม องค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนเหนือขึ้นไปที่เป็นปล้องไฉน ปลียอด และลูกแก้วนั้น ของเดิมพังไปตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2499 ในครั้งนั้นได้ทำลูกแก้วด้วยทองคำหนักถึง 2,500 กรัม ฉลองในวาระ 25 พุทธศตวรรษของไทย

เมื่อขึ้นไปยืนบนฐานทักษิณชั้นบนสุด ลมพัดเย็นวูบ มองลงมายังเบื้องล่าง เห็น “วัดภูเขาทอง” และ “อนุสาวรีย์พระนเรศวรทรงม้าศึก” บ่งบอกได้ว่าสถานที่แห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งฐานทัพข้าศึก มีการทำยุทธหัตถีในหลายครั้งหลายสมัย อาณาจักรอยุธยาอดีตราชธานีที่เคยรุ่งเรือง ในวันนี้จินตนาการย้อนรำลึกตามบันทึกประวัติศาสตร์ “นิราศภูเขาทอง” ของ “สุนทรภู่” ที่เราเด็กไทยเคยร่ำเรียนในวิชาภาษาไทยวัยมัธยม ท่านประพันธ์กลอนนิราศ ครั้งเดินทางมานมัสการ “เจดีย์ภูเขาทอง” ราวปลายปี พ.ศ. 2353 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเล่าถึงการเดินทางล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านพระบรมมหาราชวัง จนมาถึงวัดประโคนปัก ผ่านโรงเหล้า บางจาก บางพลู บางโพ บ้านญวน วัดเขมา ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ บางธรณี เกาะเกร็ด บางพูด บ้านใหม่ บางเดื่อ บางหลวง เชิงราก สามโคก บ้านงิ้ว เกาะใหญ่ราชคราม จนถึงกรุงเก่าในยามเย็น จอดเรือพักที่ท่าน้ำวัดพระเมรุ ครั้นรุ่งเช้าจึงเดินทางต่อนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง การที่เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำให้เรารู้รากเหง้าของตนเอง เกิดสำนึกเห็นคุณค่า และสำคัญคือความภาคภูมิใจที่บรรพบุรุษทำให้ลูกหลานมีที่ยืนบนแผ่นดินที่เป็นของเรา วันนี้เราสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับวันวานด้วยการส่งต่อเรื่องราวแห่งความภาคภูมิใจไปสู่เยาวชนต่างชาติ ให้พวกเขาได้เข้าถึงเรื่องราวและวัฒนธรรมอย่างไทย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ เว็บไซต์ Hello local จัดกิจกรรม Thailand Village Academy Showcase ทริปท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรมในภาคกลาง เชิญบริษัททัวร์เยาวชนต่างชาติ มหาวิทยาลัยนานาชาติ บล็อกเกอร์ และ สื่อมวลชน ร่วมเดินทางเปิดประสบการณ์ ตะลุยดินแดนมหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยสำหรับเยาวชน ณ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โชว์ศักยภาพชุมชนวัฒนธรรมในภาคกลางของไทย ที่พร้อมเปิดตลาดท่องเที่ยวเยาวชนทั่วโลก

ผอ. อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดกิจกรรม Thailand Village Academy Showcase ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปิดตลาดท่องเที่ยวชุมชน ที่ตรงกับความต้องการกลุ่มเยาวชนต่างชาติ เพราะเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจในการเดินทางท่องโลก เพื่อเรียนรู้และสัมผัสวัฒนธรรมอันแตกต่าง ชอบใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่น ดังนั้นกลุ่มเยาวชนต่างชาติ จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยเผยแพร่ ส่งต่อเรื่องราวของวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันมีเสน่ห์โดดเด่น และมีเอกลักษณ์ของไทย ให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก และในปี 2562 นี้ ชุมชนภาคกลางทั้ง 7 ชุมชน ที่ได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนต่างชาติ ในโครงการ Thailand Village Academy ที่สร้างสรรค์โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ 1.> หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โฮมสเตย์ไทรน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา 2.> ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน จ. นครนายก 3.> วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลถ้ำรงค์ จ. เพชรบุรี 4.> ชุมชนบ้านบางพลับ จ. สมุทรสงคราม 5.> ชุมชนตำบลบ้านแหลม จ. สุพรรณบุรี 6.> ชุมชนตำบลหนองโรง จ. กาญจนบุรี และ 7.> ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จ. ชัยนาท

ผอ. อภิชัย กล่าวต่อ “และเพื่อเป็นการต่อยอดในการส่งเสริมการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม ททท. ภาคกลาง ร่วมกับทางโครงการฯ ได้จัดกิจกรรม Thailand Village Academy Showcase นำร่องท่องเที่ยว โดยเชิญ บริษัททัวร์ท่องเที่ยวเยาวชน, สถาบันการศึกษานานาชาติ ตัวแทนขายท่องเที่ยวออนไลน์ สื่อมวลชน และบล็อกเกอร์ ร่วมเดินทางไปกับทริปต้นแบบท่องเที่ยววัฒนธรรมสำหรับเยาวชนต่างชาติ ณ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เยาวชนที่มาที่นี่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิต เรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งที่ถูกถ่ายทอดจาก Local Masters หรือปราชญ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาวชุมชน ได้เรียนรู้การทำอาหารคาวพื้นถิ่น เรียนรู้การทำขนมไทยมงคล เรียนรู้และสัมผัสอาชีพการปลูกข้าวโพด เราส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน และให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น สำหรับเยาวชนต่างชาติที่เราทำโปรแกรมนี้ขึ้นมา ผมเห็นความสำคัญจริงๆ ว่าพวกเขาเป็นเยาวชนที่เป็นอนาคต พวกเขาจะเป็นประชากรของแต่ละประเทศ ที่เป็นเสมือนนักประชาสัมพันธ์ตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทย เชิญชวนเพื่อนของเขา คนในประเทศของเขามาเที่ยวบ้านเรา และเขาจะนำความประทับใจติดตัวไปด้วย และกลับมาเมืองไทยอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถือเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวของประเทศอย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ และขอเชิญชวนให้ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยนานาชาติ หรือองค์กร Corporate ในหน่วยงานต่างๆ ที่ได้มาสัมผัสด้วยประสบการณ์ตรง ช่วยต่อยอดด้วยการจัดทริปพาเยาวชนมาเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรม ยังชุมชนภาคกลางทั้ง 7 ชุมชน ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรม สำหรับเยาวชนต่างชาติ ในโครงการ Thailand Village Academy ผมรับรองได้ว่า จะเป็นกิจกรรมที่เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สนุกและประทับใจที่สุดครับ”

อาจารย์ ดร. อรุณศรี อื้อศรีวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวขอบคุณ “อาจารย์รู้สึกดีใจมาก ที่เห็นการทำงานอย่างมืออาชีพจนเกิดเป็นโครงการ Thailand Village Academy ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนลงไปว่าคือใคร ด้วยการออกแบบสร้างสรรค์โปรแกรมอันเหมาะสม แมชท์เข้ากับช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ของเยาวชนต่างชาติ และมีการเตรียมความพร้อมที่ดีด้วยการวัดผล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง ในโครงการดีๆ เช่นนี้อย่างต่อเนื่องค่ะ”

 

-||-

 

สำหรับการท่องเที่ยว ณ “หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย” จ. อยุธยา สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล

ชมโปรแกรมและติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม หรือจองแพ็กเกจท่องเที่ยว ได้ที่

https://www.thailandvillageacademy.com/th/

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด