TOP

“หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK” อีกหนึ่งทางออกแก้ขาดแคลนหน้ากากอนามัย ใช้ทางการแพทย์ ป้องกันโควิด-19

ในขณะที่ “หน้ากากอนามัย” เป็นที่ต้องการอย่างมากของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ หรือ โควิด-19 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ในเวลานี้จากทั่วโลกนั้น การสวมใส่หน้ากากปิดจมูกสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือการส่งผ่านเชื้อในเบื้องต้น ที่ทุกคนต่างตื่นตัวป้องกันตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคม หาไว้ครอบครองต้องใช้ทุกวัน จนกลายเป็นความต้องการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบปริมาณประชากรกับปริมาณการผลิตแล้ว ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย ไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SCI-TU) และ คณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการผลิตหน้ากากผ้า ลดการเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ที่เรียกว่า “หน้ากากอนามัยกันน้ำ THAMMASK” โดยใช้ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์ (Cotton-Silk) ด้วยเทคโนโลยีสะท้อนน้ำ จากการเคลือบด้วยสาร NUVA – 1811 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวิจัย เตรียมทดสอบความสามารถในการสะท้อนน้ำ และความคงทนของเส้นใย คาดว่าจะแล้วเสร็จและผลิตล็อตแรก 1,000 ชิ้น ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ในภาวะขาดแคลนแก่บุคลากรทางการแพทย์

รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. เผยว่า “จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) ที่ยังไม่มีที่ท่าจะคลี่คลาย ทั้งยังได้แพร่กระจายไปกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และล่าสุดประเทศอิตาลี ที่ได้มีการสั่งปิดประเทศ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่เชื้อ COVID-19 สำหรับประเทศไทยถือว่ามีการดูแลที่ดีในเรื่องของการสื่อสารถึงแนวทางการป้องกัน ซึ่งในสถานการณ์ตอนนี้ที่มีภาวะการขาดแคลนหน้ากาก ทางมหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้ง คณะทำงานป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ขึ้น เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ จึงได้มีแนวคิดในการผลิตหน้ากากอนามัยกันน้ำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน ได้นำไปเป็นวิธีในการตัดเย็บใช้เองได้ด้วย”

ด้าน ศ.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มธ. และ ประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) กล่าวว่า “แม้สถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย จะอยู่ในเฟส 2 แต่ปัจจุบันการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย กลับขาดแคลนจำนวนมาก จากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทั่วประเทศ ที่สูงกว่า 30-40 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งสวนทางกับกำลังการผลิตของภาคโรงงานรวม 10 โรง ที่สามารถผลิตได้ประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ทางการแพทย์ใช้ คือ Surgical Mask ที่ผลิตมาจากผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ จึงทำให้สารคัดหลั่งไม่เกาะติดบนหน้ากาก ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ต่างจากหน้ากากผ้าธรรมดา ที่ซึมซับน้ำได้ดี ป้องกันได้เพียงเบื้องต้น หากหน้ากากมีความชื้น ก็ไม่ควรที่จะสัมผัสผ้าที่อยู่ทางด้านนอก แต่สามารถนำมาซักใช้ได้อีก ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการดำเนินการศึกษาวิจัย คุณสมบัติผ้าที่เหมาะสม ในการพัฒนาเป็นหน้ากากผ้ากันน้ำ ที่ผลิตจากวัสดุผ้าสะท้อนน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น และช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ รองรับการใช้งานสำหรับตรวจคนไข้ปกติ หรือผู้ป่วยที่มีอาการเป็นไข้ เป็นหวัด สำหรับหน้ากากที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 หรือในการผ่าตัด ต้องเป็นหน้ากากชนิด N95 หรือหน้ากากเฉพาะทางการแพทย์ ที่มีการป้องกันในระดับสูงขึ้น ซึ่งผ้าที่นำมาตัดเย็บในส่วนด้านนอกจะไม่ดูดซับความชื้น หรือสารคัดหลั่ง  ซึ่งมีทั้งหมด 3 ชั้น เมื่อทำการทดสอบเบื้องต้นพบว่ามีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือเทียบเท่า Surgical Mask ซึ่งจะผลิตล็อตแรกจำนวน 1,000 ชิ้น และดำเนินการแจกไปยังโรงพยาบาลต่อไป

ด้าน อาจารย์ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) ให้ข้อมูลว่า “หน้ากากผ้ากันน้ำ เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ และเหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่งเบื้องต้น เพื่อใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องพบเจอคนไข้จำนวนมากทุกวัน จึงได้มีการนำผ้า Cotton-Silk มาทำการตัดเย็บใน 2 ชั้นแรก และอีกชั้นด้านในเป็นผ้าฝ้ายเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น ผ้า Cotton-Silk นั้นมีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วย Cotton – Microfiber จำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร โดยมีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ ไฟเบอร์ เบอร์ 75 เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้าย คอมแพ็ค โคมบ์ เบอร์ 40 ซึ่งผลิตจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย ที่มีการใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำ ด้วยสาร NUVA – 1811 มีอนุภาคเป็นระดับไมครอน สามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้า เพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ ทั้งยังได้รับการรับรองจาก Oekotex Standard 100 – 2019 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่ามีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง ซึ่งทางคณะทำงานฯ กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และความคงทนของเส้นใย ว่ายังคงประสิทธิภาพเดิมหรือไม่ เมื่อนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้ามาตรฐานทั่วไป แต่แนะนำว่าหากซักได้ไม่ควรเกิน 5 ครั้ง และต้องซักด้วยแปรงขนนุ่ม เพื่อป้องกันสารเคลือบกันน้ำที่อาจจะหลุดออกได้”

ในส่วนของภาคประชาชน อาจารย์ธนิกา กล่าวว่า “เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้นซึ่งยังคงมีอัตราความเสี่ยงน้อยกว่าแพทย์ สามารถใช้หน้ากากผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้าย เพราะมีคุณสมบัติดูดซับความชื้น มีโครงสร้างลักษณะการทอที่แน่น มีความนุ่มสบายไม่ระคายเคือง หรือที่คณะทำงานฯ ได้เลือกใช้ผ้า “นิตเจอร์ซี่” ที่เป็นโครงสร้างของผ้าทักทำให้มีความแน่น ยืดหยุ่นตามใบหน้าได้ สวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี อีกทั้งมีต้นทุนการผลิต 15-20 บาทต่อชิ้น แต่ไม่แนะนำให้ใช้ผ้าสาลู แม้ว่าจะหาง่ายและมีราคาถูก เพราะผ้ามีโครงสร้างการทอค่อนข้างห่าง ซึ่งอาจจะทำให้สารคัดหลั่งซึมเข้าไปได้ง่ายกว่า ทั้งนี้การใช้หน้ากากผ้า ควรสังเกตว่ามีฝุ่นหรือละอองน้ำไหม หากพบควรถอดออก และนำไปซักทันที และพยายามอย่าเอามือสัมผัส”

 

สำหรับผู้ที่สนใจวิธีการตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อทดแทนกับหน้ากากอนามัยในช่วงที่ขาดแคลน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Science & Technology Thammasat University Official

 

ที่มา : Science & Technology Thammasat University Official

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด