TOP

กรุงเทพฯ ติดอันดับ 71 เมืองอัจฉริยะของโลก และอันดับที่ 13 ของเอเชีย

เพราะประเทศไทยกกำลังเดินหน้าก้าวสู่การเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ ‘Smart City’ ซึ่งเป็นเทรนด์ของการพัฒนาเมืองยุคใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาปรับใช้ให้เมืองน่าอยู่ และเชื่อมโยงให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะที่เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ขณะเดียวกันต้องช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ กรุงเทพฯ กลายเป็น 1 ใน 7 เมืองสำคัญ ที่รัฐบาลวางเป้าหมายสู่ Smart City ในระยะแรก กระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ‘กรุงเทพฯ ติดท็อป 71 เมืองอัจฉริยะโลก’ 

ผลการจัดอันดับ 500 เมืองนวัตกรรมโลกประจำปี 2019 (2562) โดย 2thinknow บริษัทสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลของออสเตรเลีย เผยผลสำรวจดัชนี ‘เมืองนวัตกรรมโลก’ หรือ ‘Innovation Cities Index 2019’ พบว่าแชมป์ในปีนี้คือ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วย กรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น และ กรุงลอนดอน ของอังกฤษ ตามลำดับ โดย กรุงเทพฯ ติดอยู่ในอันดับ 71 ของโลก และเป็นอันดับที่ 13 ในเอเชีย ขยับขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 35 อันดับ ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รั้งตำแหน่งเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น (ข้อมูลจาก Line Today)

 

สำหรับ ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ Smart City (สมาร์ทซิตี้) เป็นเทรนด์ของการพัฒนาเมืองยุคใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาปรับใช้ให้เมืองน่าอยู่ เชื่อมโยงให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะที่เข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย ขณะเดียวกันต้องช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานของเมือง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่กันไป ซึ่งดูเหมือน กรุงเทพฯ ขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดย นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวไว้ว่า “แนวคิดเรื่อง Smart City เป็นประเด็นที่ทั้ง กทม. และ รัฐบาล เห็นตรงกัน และจะดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความเป็นเมืองที่สะดวกสบาย ด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนในการพัฒนา ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงมาตรการด้านอื่นๆ ประกอบกันด้วย และสอดรับกับที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายจะพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะต้นแบบ 8 แห่ง อาทิ เกาะรัตนโกสินทร์, ย่านโยธี, ย่านคลองสาน ที่จะแล้วเสร็จใน 2-3 ปีนี้อีกด้วย”

ทั้งนี้ ลักษณะเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ต้องดำเนินการในเมืองตามลักษณะ 7 ด้าน คือ Smart Economy (เศรษฐกิจอัจฉริยะ), Smart Mobility (ขนส่งอัจฉริยะ), Smart Energy (พลังงานอัจฉริยะ), Smart Environment (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ), Smart Living (การดำรงชีวิตอัจฉริยะ), Smart People (พลเมืองอัจฉริยะ) และ Smart Governance (การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ)

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด