TOP

Retail CBDC PromptPay และ Cryptocurrency แตกต่างกันอย่างไร

ในช่วงที่ผ่านมา กระแสของสกุลเงินดิจิทัลมาแรงมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าว cryptocurrency สกุลต่าง ๆ หรือข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีแผนทดลองออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง เพื่อทดสอบการใช้ในระดับประชาชน หรือที่เรียกว่า retail CBDC ซึ่งย่อมาจาก retail Central Bank Digital Currency ทำให้บางท่านอาจมีข้อสงสัยว่า แล้ว retail CBDC ของแบงก์ชาติ มีความเหมือนหรือต่างจาก cryptocurrency อย่างไร และแตกต่างจาก PromptPay ที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบันอย่างไร 

 

Q1 : Retail CBDC คืออะไร ทำไม ธปท. ถึงต้องศึกษาและให้ความสนใจ

A : retail CBDC คือ เงินบาทที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตรมาเป็นรูปแบบดิจิทัล ซึ่งออกโดยธนาคารกลาง โดย ธปท. นั้นให้ความสนใจศึกษาในมิติที่ว่า retail CBDC จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. และนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง และสามารถรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นระบบการชำระเงินรายย่อยที่เอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึง เชื่อมต่อ และต่อยอดพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ ได้ในอนาคต ปัจจุบันมีบางประเทศที่ออกใช้แล้วคือ ประเทศในแถบหมู่เกาะแคริบเบียน บาฮามาส และไนจีเรีย

 

Q2 : Retail CBDC แตกต่างอย่างไรกับ PromptPay ในปัจจุบัน

A : ปัจจุบันเรามี PromptPay เป็น “ระบบ” โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน ใช้โอนเงินที่ประชาชนมีในบัญชีธนาคารผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนแทนเลขบัญชี โอนได้สะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ให้บริการโดยธนาคารที่ประชาชนนำเงินไปฝากไว้ ขณะที่ retail CBDC เป็นทั้ง “เงินสดในรูปดิจิทัล” และ “ระบบ” ช่องทางการชำระเงินสำหรับประชาชน ซึ่งออกและกำกับดูแลโดย ธปท. retail CBDC ยังมีความแตกต่างจาก PromptPay ในเรื่องความสามารถในการเขียนเงื่อนไขลงบนเงิน (programmable money) ที่ retail CBDC สามารถเขียนเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เช่น กำหนดเงื่อนไขผู้รับเงิน ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการชำระเงินในยุคดิจิทัล ดังนั้น ในอนาคตหาก retail CBDC มีการออกใช้จริง จะเป็นเสมือนอีกทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนได้เลือกใช้ควบคู่ไปกับ PromptPay ในปัจจุบัน  

 

Q3 : สามารถนำ Retail CBDC มาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรเหมือนกับ Cryptocurrency เช่น Bitcoin ได้หรือไม่

A : ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า cryptocurrency คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยจะใช้เทคนิคการเข้ารหัส (cryptography) ในการป้องกันและยืนยันธุรกรรมผ่านระบบที่เรียกว่า blockchain แต่เนื่องจาก cryptocurrency เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ มาหนุนหลัง จึงทำให้มูลค่ามีความผันผวนสูงตามความต้องการซื้อขายของนักลงทุน cryptocurrency แตกต่างอย่างมากจาก retail CBDC ซึ่งเป็นเงินบาทในรูปดิจิทัล ที่มีมูลค่าคงที่คือ 1 CBDC = 1 บาท และไม่สามารถนำมาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรได้ โดย retail CBDC มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อไว้รองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อการลงทุน และขอย้ำว่า CBDC ไม่ใช่ cryptocurrency

 

Q4 : Retail CBDC PromptPay และ Cryptocurrency ใช้เทคโนโลยีเดียวกันหรือไม่

A : retail CBDC อาจจะใช้หรือไม่ใช้ DLT ในการสร้างและประมวลผลก็ได้ (retail CBDC ของจีนไม่ได้ใช้ DLT ในการสร้างและประมวลผลรองรับการทำธุรกรรม) ส่วน PromptPay ไม่ได้ใช้ DLT ขณะที่ cryptocurrency ใช้ DLT ทั้งนี้ retail CBDC และ PromptPay จะต้องมีการทำกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) เพื่อป้องกันการใช้งานที่ไม่พึงประสงค์หรือการฟอกเงิน ขณะที่ cryptocurrency ทั่วไปอาจไม่ต้องทำ KYC

 

Q5 : จากข่าวที่ Cryptocurrency จะถูกเรียกเก็บภาษีบนกำไรที่ได้จากการเทรดนั้น Retail CBDC จะถูกเก็บภาษีด้วยหรือไม่

A : retail CBDC เป็นเงินบาทที่เปลี่ยนรูปแบบจากธนบัตรมาเป็นรูปแบบดิจิทัล ที่มีวัตถุประสงค์ออกมาเพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ จะไม่ถูกเก็บภาษีกำไรเหมือนกับ cryptocurrency ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน 

 

Q6 : การที่ ธปท. เป็นผู้ออก Retail CBDC จะทำให้ ธปท. ทราบข้อมูลการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนได้หรือไม่

A : ธปท. คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเป็นหลัก จึงได้ออกแบบระบบไม่ให้เห็นข้อมูลส่วนบุคคลและไม่สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการทั่วไปได้ อย่างไรก็ตาม ธปท. จะเห็นข้อมูลการทำธุรกรรมในภาพรวม และมีกลไกบางอย่างเพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมที่ต้องสงสัยหรือธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้

 

Q7 : แผนการทดลอง Retail CBDC เป็นอย่างไร และบุคคลทั่วไปจะได้ใช้เมื่อไหร่

A : ธปท. มีแผนจะเริ่มทดสอบการใช้งาน retail CBDC ภายในวงจำกัดสำหรับพนักงาน ธปท. ในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะเริ่มขยายการทดสอบไปสู่บุคคลภายนอกบางกลุ่มในสิ้นปี 2565 เพื่อประเมินผลการทดสอบการใช้งานในเบื้องต้น ส่วนการทดลองใช้งาน retail CBDC สำหรับพนักงาน ธปท. จะมี 2 รูปแบบ คือ ใช้งานผ่านบัตรและแอปพลิเคชัน ขณะที่การทดลองใช้งานกับบุคคลภายนอก จะทดลองในรูปแบบแอปพลิเคชันเท่านั้น ขณะนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการออกใช้ retail CBDC ในวงกว้าง เนื่องจากจำเป็นต้องประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จากการทดสอบอย่างรอบคอบว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม 

 

สรุปความแตกต่าง

ระหว่าง Retail CBDC vs PromptPay vs Cryptocurrency 

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE

ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – มีนาคม 2565

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด