TOP

Travel Bubble ยุค New Normal

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ ทำเอาการเดินทางต้องหยุดชะงักงันกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ทุกคนต้องตกอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง เกิดความเสียหายกระทบหนักกับแวดวงธุรกิจทั่วโลก ระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ และพี่น้องชาวไทย ถือว่าทำได้ดีที่ตื่นตัวเร็ว ยกระดับมาตรการณ์เข้มเพื่อควบคุมโรค และแม้แต่ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต้องตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงเกิดหนี้สินแบบไม่ทันได้ตั้งตัวเสียหายมากมาย ผู้คนได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่กันถ้วนหน้า แต่ก็ยังถือว่าให้ความร่วมมืออย่างดีที่จะปกป้องตัวเอง ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในวงกว้าง จนทำให้มียอดผู้ติดเชื้อลดลงไปเรื่อยๆ นำไปสู่การปลดล็อกผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมบางอย่าง ให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตสู่ภาวะเกือบปกติ ในช่วงเวลาที่วิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ มีคำบัญญัติใหม่เกิดขึ้น อย่าง New Normal ชีวิตวิถีใหม่ได้เข้ามาแทนที่จากนี้ไป เทคโนโลยีต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เข้ามามีบทบาทในชีวิตส่วนใหญ่ จนเราต้องปรับตัวยอมรับไปเองโดยปริยาย

Travel Bubble ยุค New Normal

และเมื่อการท่องเที่ยว คือหัวใจของรายได้หลักเข้าสู่ประเทศ การวางแผนเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอเวลา ช่วงนี้อาจได้ยินคำว่า “Travel Bubble” (ทราเวลบับเบิ้ล) ในช่วงที่ผ่านมาออกสื่อ หรือที่นิยามคำไทยว่า “ระเบียงท่องเที่ยว” หมายความถึงการจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโรคโควิด-19 เป็นการตกลงกันระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศ ในการให้สิทธิพิเศษของการเดินทางเข้าออกระหว่างกันได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้นนั่นเอง โดยต้องตรวจหาเชื้อก่อนออกนอกประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางเข้าสู่ประเทศปลายทาง

 

“นิวซีแลนด์” และ “ออสเตรเลีย” ต้นแบบจับคู่ท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble

ประเทศต้นแบบคู่แรก ที่ถือเป็นโมเดลทราเวลบับเบิ้ลเลยทีเดียว นั่นคือ “นิวซีแลนด์” และ “ออสเตรเลีย” ซึ่งทั้งคู่ใช้ชื่อว่า “Tran-Tasman Travel Bubble” โดยคู่ประเทศทั้งสองตกลงยินยอมให้มีการเดินทางระหว่างกัน โดยไม่ต้องให้มีการกักตัว แต่ยังคงมีมาตรการตรวจเข้มข้นที่สนามบินของแต่ละประเทศ และให้มีการเดินทางไปมาในบางเมืองก่อน คาดว่าจะเริ่มในช่วงประมาณ ส.ค.- ก.ย. นี้ จุดประกายให้อีกหลายๆ ประเทศ เริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้วางแผนจับคู่ประเทศ หรือจับแบบกลุ่มประเทศ เพื่อให้สามารถเดินทางระหว่างกันได้ อย่างเช่น สิงค์โปร์-จีน (บางเมือง), อิสราเอล-กรีซ/ไซปรัส, กลุ่มประเทศบอลติก-เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย, จอร์เจีย-บางประเทศ และอีกมากมาย

 

แนวทาง Travel Bubble ในประเทศไทย

แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทย ก็มีแนวคิดจับคู่ท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble เช่นกัน โดยรัฐบาลกำลังพิจารณาและศึกษาแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนี้

– เลือกเป้าหมายประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี โดยพิจารณาจากเกณฑ์ข้อกำหนด และคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

– มีมาตรการตรวจหาเชื้อและป้องกันอย่างเข้มงวด โดยต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางออกนอกประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย และจะต้องซื้อประกันสุขภาพ

– ไม่ต้องมีการกักตัว แต่ต้องยินยอมให้มีการติดตามตัว (Track & Trace) ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย

– อาจมีการกำหนดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยว สำหรับเมืองหลักและเมืองรองที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

กลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble

ศบค. พิจารณาผ่อนคลายออกเป็น 2 กลุ่มหลักก่อน นั่นคือ

กลุ่มที่ 1: ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ต้องกักตัว 14 วัน โดยมี 4 กลุ่มย่อย ได้แก่

  1. นักธุรกิจ นักลงทุน ที่มีการลงทะเบียนแล้ว
  2. กลุ่มแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ
  3. กลุ่มคนต่างด้าวที่มีครอบครัวเป็นคนไทย และกลุ่มต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย
  4. กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ หรือ เมดิคัลทัวร์ลิสต์

โดย 3 กลุ่มย่อยแรกนี้อยู่เมืองไทยนาน จึงสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ต้องมาอยู่ใน State Quarantine 14 วัน ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวด้านการแพทย์ เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งมีมาตรฐานพอๆ กับ State Quarantine ดังนั้น 4 กลุ่มย่อยนี้จะมีการเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้เลย เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจ

 

กลุ่มที่ 2: คือกลุ่มที่ขอผ่อนผันเข้าประเทศไทยมาแล้ว ไม่ต้องเข้ากักตัว 14 วัน มี 3 กลุ่มย่อย ได้แก่

  1. นักธุรกิจ นักลงทุน ที่เดินทางมาเจรจาธุรกิจ หรือประชุมในระยะสั้นๆ
  2. แขกของรัฐบาล หรือส่วนราชการต่างๆ
  3. กลุ่มนักท่องเที่ยวตามโครงการ Travel Bubble ซึ่งมีประเทศเป้าหมาย 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม จะมีการนำเสนอในการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ในครั้งต่อไป และ Travel Bubble คือแนวทางใหม่สำหรับการเที่ยวต่างประเทศในยุค New Normal ที่นักเดินทางต้องคอยจับตา เกาะติดสถานการณ์ข่าว และคงจะมีการเพิ่มเป้าหมายประเทศท่องเที่ยวมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

************

Thanks to Keith Zhu and Nicolas J Leclercq for sharing their work on Unsplash.

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด