TOP

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขับเคลื่อนพระราชปณิธาน ในหลวง ร.9 ด้วยโครงการ “จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขับเคลื่อนพระราชปณิธาน ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโครงการ #จิตอาสา “ศูนย์รวมแห่งรัก” ทรงมีพระราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด มีพระราชประสงค์ที่จะเห็น 3 สิ่ง ที่พระองค์รัก อยู่ด้วยกันในประชาชนจิตอาสา และเชื่อในพระราชหฤทัยเสมอมาว่า คนไทยมีความเป็นจิตอาสาอยู่ในใจทุกคน

โครงการจิตอาสา 904

พ.อ.วันชนะ สวัสดี จิตอาสา 904 เล่าถึงโครงการจิตอาสา 904 ว่า พึ่งผ่านการฝึกหลักสูตรจิตอาสา 904 หลักสูตรหลักประจำรุ่นที่ 2/61 โดยใช้เวลาฝึก 50 วัน ร่วมกับเพื่อนทหาร และข้าราชการพลเรือนใน 8 กระทรวง โดยการฝึกนั้นต้องการให้จิตอาสา 904 ไปเป็นแกนนำจิตอาสาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ และเป็นแกนนำในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และให้เป็นแกนนำในการให้ความรู้ที่่ถูกต้อง เกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ นั่นคือ ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ กับการพัฒนาประเทศ และการนำประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ และให้ได้รับรู้ถึงพระราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “การสืบสาน รักษา ต่อยอด” นำทฤษฎีของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่การปฏิบัติให้เห็นผล โดยรายละเอียดการฝึกมี 3 เรื่องหลัก คือ

1. การทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามข้อมูลความเป็นจริงของสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประเทศไทย ผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และสังคมโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ามีการเกิดขึ้น และเป็นอยู่อย่างไร

2. เรื่องของการพัฒนา ถือเป็นความรู้ที่จิตอาสาจะต้องศึกษาให้เข้าใจ และลองปฏิบัติจริงให้เห็นผล และนำไปขยายผลสู่ประชาชน โดยการนำศาสตร์พระราชามาเป็นหลักในการศึกษา เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน รวมถึงการฝึกวิชาชีพ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ทำอาหาร ช่างไม้ แม้กระทั่งการอนุรักษ์ซึ่งวัฒนธรรมแบบไทย คือการร้อยมาลัย เป็นต้น

3. เรื่องภัยพิบัติ ต้องเรียนรู้หลักสูตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การช่วยเหลือ ฟื้นคืนชีพ การปฐมพยาบาล โดยเรียนแบบจริงจัง ปฏิบัติจริง ทำซ้ำ ให้จิตอาสา 904 มีขีดความสามารถ ในการช่วยเหลือคนได้จริง หรือมีความเข้าใจจนสามารถรู้ขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นต้น และขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่มีขีดความสามารถต่อไป และเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ต้องสามารถปฏิบัติและบริหารจัดการศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติ ได้อย่างถูกต้องตามหลักสากล

 

ความหมายของเครื่องหมายจิตอาสาพระราชทาน

พ.อ.วันชนะ เล่าอย่างภูมิใจว่า “จิตอาสา 904 จะได้รับเครื่องหมายจิตอาสา โดยมีความหมายและองค์ประกอบ ดังนี้ พระมหาพิชัยมงกุฎ คือ พระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันแผ่ไพศาล, พระปรมาภิไธย ว.ป.ร. หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ดาวเบื้องซ้าย คือ ข้าราชการ, ดาวเบื้องขวา คือ ประชาชน และ ดาวเป็นสีเดียวกัน คือ ไม่แบ่งแยก รวมความหมายแล้วหมายความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการ และประชาชน ไม่เคยแยกออกจากกัน, ปีก หมายถึง พระบารมีที่ทรงโอบอุ้ม และนำมาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งประเทศชาติ ขณะที่ ผ้าแพร ประดับด้วยคำขวัญพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” หมายถึง พระราชทานพระราชปณิธาน และความมุ่งมั่นที่จะทำความดีของทุกคน”

 

หน้าที่ของจิตอาสา

ส่วนการทำหน้าที่ จิตอาสา 904 ต่อจากนี้ พ.อ.วันชนะ บอกต่อว่า ต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกบิดเบือน ให้กับประชาชนได้รับทราบข้อมูลความจริงในรูปแบบต่างๆ เช่น การบรรยาย ละคร และสื่ออื่นๆ ความเข้าใจที่ผิดที่เคยได้ยินมา เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีข่าวลือว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นไม่ได้ทำแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานพระราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเริ่มทำแล้วอย่างต่อเนื่องจริงจัง เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เกี่ยวข้องกับชาวเขา ซึ่งก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต้องการให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น และหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ ผลไม้ เพื่อให้มีรายได้ มีอาชีพ แต่ในระยะหลังเริ่มเปลี่ยนเป็นการเที่ยวชมโครงการมากกว่า ทำให้นายทุนเข้ามาสร้างโรงแรม บอกให้ชาวเขาทำโฮมสเตย์ ซึ่งชาวเขาก็ทำเนื่องจากอยากได้เงิน เมื่อทำแล้วก็เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า และทำให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเสื่อมโทรมลง ในที่สุดก็ไปได้ไม่ดี เมื่อทางราชการให้หยุดการรุกป่าเพื่อทำเป็นที่พัก จึงเกิดข่าวลือดังกล่าวขึ้น

 

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์เล็งเห็นว่า ผิดพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ต้องการให้ชาวเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืนแบบพอเพียง และการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ไม่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม บุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม พระองค์ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ให้ชาวเขากลับมาใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียง เพื่อให้เกิดความความสุขอย่างยั่งยืน จึงให้เจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบธุรกิจ และก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย ข่าวลือเรื่องโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไม่ทำแล้วจึงหายไป

พระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความชัดเจน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ซึ่งเราได้เห็นภาพในอดีตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะทรงงาน หากพิเคราะห์ดูให้ดีจะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามเสด็จทุกครั้ง ซึ่งในขณะนั้นพระองค์อยู่ในฐานะราชองครักษ์ นี่คือข้อยืนยันว่า พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างเต็มระบบ และรู้ทุกอย่างที่ผ่านมา ว่าควรจะทำอย่างไร และอาจกล่าวได้ว่า ทุกย่างก้าวของพระองค์ ในขณะดำรงตำแหน่งสยามมงกุฎราชกุมาร เป็นย่างก้าวของการเรียนรู้อย่างแท้จริง ดังนั้นพระราโชบายของพระองค์ เรื่องการสืบสานนั้น พระองค์ทรงสืบสานได้ชัดเจนที่สุด รวมถึงการรักษา และ ต่อยอด ซึ่งพระองค์กำลังจะนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผล โดยใช้จิตอาสาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน

 

พ.อ.วันชนะ ยังกล่าวอีกว่า “ประชาชนจิตอาสา จะมีสัญลักษณ์ คือ ผ้าพันคอสีเหลือง คือ สีวันพระราชสมภพ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่วน หมวกสีฟ้า คือ สีวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สลักข้อความ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” คำว่า ‘ดี’ เป็นสีแดง หมายถึง เลือดของคนไทยที่มีความเป็นจิตอาสา ส่วนผ้าพันคอนั้นมี พระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. ของพระองค์ท่าน อยู่ด้านหลังด้วย เมื่อประชาชนใส่หมวกสีฟ้า ผ้าพันคอสีเหลือง พระองค์ได้ทอดพระเนตร เห็น 3 สิ่งที่พระองค์รัก อยู่ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และประชาชน ทุกขั้นตอนผ่านพระราชวินิจฉัยของพระองค์ทั้งหมดโดยละเอียดว่า หมวกและผ้าพันคอ ทำอย่างไรให้ยับยาก ซักแล้วแห้งเร็ว สกรีนไม่หลุดง่าย ต้องมีความทนทาน”

พ.อ.วันชนะ ยังได้เปิดเผยต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนจิตอาสาตั้งอยู่ที่ กองพันฝึกส่วนหลัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เขตพระราชฐานในพระองค์ “วิภาวดี” และได้มีการจัดระบบของจิตอาสา แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. จิตอาสาพัฒนา เป็นจิตอาสาที่พัฒนาพื้นที่ของตัวเอง ให้เกิดความเรียบร้อย สวยงาม เช่น ขุดลอกคูคลอง หรือโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา โดยมีข้าราชการในพื้นที่เป็นแกนนำ ร่วมกับประชาชนร่วมกันพัฒนา ให้เกิดประโยชน์สาธารณะกับชุมชน หน่วยงาน องค์กร

2. จิตอาสาภัยพิบัติ เป็นจิตอาสาที่มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติ และในกรณีที่เกิดภัยพิบัติแล้ว จะบริหารจัดการอย่างไร เมื่อภัยพิบัติผ่านพ้นไปแล้ว จะฟื้นฟูอย่างไร เพราะฉะนั้นจิตอาสาภัยพิบัติ ก็จะต้องทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกัน

3. จิตอาสาเฉพาะกิจ มีหน้าที่ลักษณะเฉพาะงาน อาจจะเป็นงานที่ถูกกำหนดมาโดยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสา เช่น งานอุ่นไอรักคลายความหนาว คือมีระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดอย่างชัดเจน เป็นต้น โดย 1 คนที่เป็นจิตอาสานั้นก็สามารถทำได้ทั้ง 3 ประเภทในคนเดียวกัน

 

พ.อ.วันชนะ กล่าวว่า “ปัจจุบันมีจิตอาสาทั่วประเทศ 5 ล้านคน และการสมัครเป็นจิตอาสานั้นก็เป็นไปตามความสมัครใจไม่มีการบังคับ เพียงแต่จิตอาสาต้องทำความดีด้วยหัวใจ ให้เห็นผลสัมฤทธิ์ และเมื่อเห็นผลแล้ว ผู้รับจะรู้สึกได้ว่าจิตอาสาเป็นประโยชน์จริง เมื่อผู้รับมีความสุขก็อยากส่งต่อความสุขนี้ต่อไป ก็จะสมัครเป็นจิตอาสาเอง เมื่อมีจิตอาสาเกิดขึ้นมากๆ ก็จะมีการส่งต่อการให้ และเกิดความสุขอยู่ทั่วไป พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นถึงความรัก และความผูกพันธ์ของคนไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 หมูป่าที่ติดถ้ำ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเป็นจิตอาสาอยู่ในตัวทุกคน ซึ่งในอนาคต พระองค์อยากให้คนไทยทุกคนมีจิตอาสาคอยช่วยเหลือกัน ซึ่งจะนำประโยชน์ให้เกิดกับส่วนรวม ดังข้อความเตือนใจที่พระราชทานในโอกาสวันพระราชสมภพ 28 กรกฎาคม 2552 ความว่า

สะเจ สะรูปะภาโว สุทัสสะนี โสภะโณ สุธัมโม ปะฏิรูโป สัพเพ ชะนา จิรัฎฐิติกะกาเล ถาวะระโต กายะสุขี โหนติ มะโนรัมมา

แปลว่า ถ้าหากภาพรวม สวยงาม ถูกต้อง เหมาะควร ทุกคนทุกหมู่เหล่า จะได้รับความสุขกาย สบายใจอย่างถาวร ในระยะยาว

“นี่คือสิ่งที่พระองค์พระราชทานลงมาเตือนใจทุกคน เมื่อเราได้พิจารณาความหมาย เราสามารถรู้ได้ในทันที ว่าพระองค์มีพระราชประสงค์อย่างยิ่งที่อยากเห็นคนไทยมีความสุขอย่างถาวร โดยเริ่มจากการมีจิตอาสา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เริ่มจากการให้และความมีระเบียบวินัยของคนไทย ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเราและจบที่ตัวเรา ซึ่งจิตอาสามีส่วนคล้ายคลึงกับกองเสือป่าของสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ได้เอาข้าราชการและประชาชนมาฝึกวิชาการทหาร เพื่อให้ทุกคนมีระเบียบวินัยกล้าตัดสินใจในการช่วยเหลือคนอื่น”

ท้ายที่สุดกล่าวได้เลยว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจไม่ต่างจากพระมหากษัตริย์ในอดีตที่ผ่านมา กล่าวคือ ในสมัยโบราณเราต้องรักษาเอกราชจากการรุกรานแย่งชิงดินแดน พระมหากษัตริย์ในอดีตจึงรวบรวมไพร่พลเพื่อการรบ มาในสมัยปัจจุบันเราต้องรบกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต พระองค์จึงรวบรวมประชาชนจิตอาสา ไปทำการรบกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เพื่อรักษาเอกราชในรูปแบบต่างๆ ของชาติไว้ ดังนั้นประชาชนจิตอาสาก็คือ “ทหารของพระราชา” ด้วยเช่นกัน

 

 

 

ในหลวงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อจิตอาสาและภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาใหม่ พร้อมลงพระปรมาภิไธย

ทางสำนักพระราชวัง ได้ออกประกาศ เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อของจิตอาสา และภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาใหม่ ใจความว่า

เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศ ให้ทราบโดยทั่วกันว่า ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดโครงการหน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อของจิตอาสา และภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาพระราชทาน เพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ประชาชนทุกคน ที่มีจิตอันเป็นกุศลในการทำความดีเพื่อส่วนรวม และประเทศชาตินั้น

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อของจิตอาสา และภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาใหม่ เพื่อทดแทนชื่อของจิตอาสา และภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสา ที่ได้พระราชทานไว้แต่เดิม เพื่อเชิญไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับจิตอาสาพระราชทาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. พระราชทานชื่อจิตอาสา ว่า “จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.”
  2. ให้ใช้ชื่อและภาพการ์ตูนจิตอาสาใหม่ ในกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับจิตอาสาพระราชทาน และในการจัดทำสิ่งของพระราชทานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตามรูปแบบ และรายละเอียดที่แนบมาพร้อมนี้

ทั้งนี้ สิ่งของพระราชทานที่มีภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาเดิม ยังคงใช้ได้ควบคู่กันไปไม่ได้ยกเลิก จนกว่าสิ่งของพระราชทานฯ เดิม จะชำรุดหรือเสื่อมสภาพ ใช้ปฏิบัติภารกิจไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
Photos Credit : สำนักพระราชวัง  |  77 ข่าวเด็ด | Smart Man Smart Soldier FB Page

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด