TOP

รำลึก 98 ปี รัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์”

“ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ คงไม่มีชาติบ้านเมือง”

– พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ –

เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของบุคคลระดับประเทศ วีรบุรุษของแผ่นดินไทย รัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน ผู้มีความจงรักภักดีอย่างที่สุดของชีวิต ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ “พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในวัย 98 ปี เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562 ยังความเสียใจมาสู่คนไทยทั้งประเทศ หลังมีอาการป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ

 

เมื่อ วันที่ 5 เมษายน 2562 ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของ พ.ท.หญิงนุสรา วรภัทราทร รองโฆษกกองทัพบก ได้โพสต์ภาพ สาส์นจาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ รัฐบุรุษ ด้วยลามมือ ส่งถึง “หลานรักทุกคน”

ใจความว่า

“หลานรักทุกคน… เสียดาย และ เสียใจจริงๆ ที่ไม่ได้พบกัน  เมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น เราจะได้พบกันอีก หลานรักทุกคน ต้องไม่ลืม “ความเป็นไทย” และ “ความเป็นธรรม” สองวลี นี้ก่อให้เกิดความรัก ในประเทศของเรา ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ” 

“เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรี และ รัฐบุรุษ

 

เมื่อย้อนรำลึกถึงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลานั้นได้มีประกาศแต่งตั้งประธานองคมนตรี โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ประธานองคมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี และทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และ มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระราชโองการ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

สำหรับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษนั้น อย่างที่ทราบกันดีว่ามีโอกาสถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ท่านเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติเป็นที่สุด

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พศ. 2531 เวลาขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี โดย พลเอก เปรม ถือว่าการได้รับโปรดเกล้าฯ ถือเป็นเกียรติยศอันสูงส่งของชีวิตแล้ว

 

ในอารัมภบท ของ หนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” บรรยายความรู้สึกที่มีต่อ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ “ตลอดระยะเวลาที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานใกล้ชิดกับท่าน ทั้งด้านการทหาร และการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ตระหนักดีถึงคุณลักษณะของตัวท่าน ว่าเป็นผู้ที่มีความเสียสละอันยิ่งใหญ่ อุทิศชีวิตเพื่อส่วนรวม และประเทศชาติอย่างแท้จริง มีความซื่อสัตย์สุจริตยึดมั่นในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความจงรักภักดีและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์อย่างสูง ยิ่งครั้งที่ พลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามแก่ผู้สื่อข่าวมากมายหลายเรื่อง แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่ท่านได้พูดถึงความรู้สึกของท่าน ต่อสถาบันหลักของชาติว่า “เราต้องยอมรับว่าราชวงศ์จักรี รักษาบ้านเมืองมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ท่านได้เสียสละทุกอย่าง เหน็ดเหนื่อย เพื่อจะทำให้เกิดความคิดของพระองค์ท่าน คิดแต่เรื่องของคนอื่น เรื่องของพระองค์เอง ผมไม่เคยคิดว่าจะคิด เท่าที่ผมเฝ้าสังเกตดูพระองค์ท่าน นึกแต่เรื่องคนอื่นตลอดเวลา”

เมื่อตัวแทนทหาร ตำรวจ เข้ากล่าวอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ ปี พ.ศ.2530 ท่านกล่าวตอบตัวแทนเหล่านั้น ด้วยความตอนหนึ่ง ถึงสิ่งที่ยึดมั่นสูงสุดว่า “ทุกคนได้ปฏิญาณกันทุกปี จะต้องทำอะไรบ้าง จะต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาติ บ้านเมือง ทุกคนรู้ดีว่า บ้านเมืองนั้นถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ คงไม่มีชาติบ้านเมือง ใครเขาจะเข้าใจอย่างไรก็ตามเป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องของเราเป็นเรื่องที่ต้องยึดมั่นในเรื่องนี้”

 

เราจะพบการแสดงความจงรักภักดีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ได้มากมาย แม้แต่ในนโยบายที่ใช้บริหารประเทศ “นโยบายที่เราแถลงต่อสภาไปแล้วนั้น ถ้ามองกันให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า สาระสำคัญของนโยบายทุกข้อทุกประการ เน้นถึงเรื่องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ เน้นเรื่องการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ราชบัลลังก์ สิ่งเหล่านี้ที่พวกเรายึดถือมาเป็นหลักในการบริหารตลอดมา ผมมั่นใจว่า คนไทยทุกคนเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัย ว่าชาติของเราจะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาติบ้านเมืองของเรา มีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกัน มีความรัก ความสามัคคีกัน และมีความจงรักภักดีเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด และจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป”

ในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สนองพระราชปณิธาน” ของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวในวาระครบรอบ 7 ปี มูลนิธิรัฐบุรุษ และพิธีมอบรางวัลประกวดบทความ “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” เมื่อวันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2543 มีบทความว่า “หากพวกเรายอมรับคำตอบนี้ ก็หมายความว่า เราเป็นคนดีของแผ่นดิน คนดีของแผ่นดินย่อมจะทำแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน คนดีของแผ่นดินย่อมจะซาบซึ้งในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริ ศรัทธา เทิดทูน ด้วยความสมัครใจ เต็มใจ พร้อมเพรียงกัน ยั่งยืน ตลอดไป”

 

อีกตอนหนึ่งความว่า “ผู้มีเกียรติครับ ผมมั่นใจว่าถ้าคนไทยทั้งมวล ไม่ว่ามั่งมีหรือยากจน ไม่ว่าจะยึดมั่นในศาสนาใด รับพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริ ทั้งหมดทั้งสิ้นของพระองค์ท่านใส่เกล้าฯ ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จริงใจ โดยเชื่อมั่นในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ท่านคิดเพื่อพระราชทานให้แก่พวกเรา เชื่อมั่นในกิจการต่างๆ ที่ทรงประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ไม่ต้องทั้งหมดแม้เพียงครึ่งเดียว ชาติบ้านเมืองของเราก็จะสงบสุขร่มเย็น” และตอนสุดท้ายของบทปาฐกถา มีว่า “เพราะฉะนั้น จึงใคร่ขอเชิญคนไทยทั้งมวล โปรดซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และจงรักภักดีต่อแผ่นดิน พึงตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ด้วยการน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปประพฤติปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์และตลอดไป จะได้ชื่อว่าเราได้สนองพระราชปณิธาน ของพระผู้ทรงมีพระคุณล้นเหลือเพื่อแผ่นดิน จะได้ชื่อว่า เราเป็นคนไทยที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่สุด ที่จะรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานเราจริง”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 เวลา 18.49 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำคณะองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จำนวน 10 คน ประกอบด้วย พล. อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายเกษม วัฒนชัย, นายพลากร สุวรรณรัฐ, นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ, นายศุภชัย ภู่งาม, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ, พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.ธีรชัย นาควานิช, พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และในการนี้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณว่า “ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสกับคณะองคมนตรีที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า “ขอบใจและแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาสหรือหน้าที่ที่จะแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงของสถาบันของประเทศชาติ แบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใครทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบัน และประเทศชาติเป็นเรื่องของแผ่นดิน มีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ”

 

-เกี่ยวกับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์-

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อปี พ.ศ.2484 โรงเรียนทหารม้า และอีกหลายสถาบันรวมทั้งวิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9 สมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนเท็ฆนิค (เทคนิค) ทหารบก เมื่อปี พ.ศ.2481  คนเราอาจไม่สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาเสมอไป แม้จะมีความตั้งใจและความเพียรพยายามสูงสักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเราไม่ท้อถอยและยังคงสืบเท้าก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ และบนเส้นทางเดินสายใหม่ที่เลือกนั้น อาจดีกว่าเส้นทางที่วาดหวังไว้เดิมก็เป็นได้ ดังเช่นในกรณีของเด็กหนุ่มจากตระกูล “ติณสูลานนท์” ที่ชื่อ “เปรม”

แม้จะรู้สึกผิดหวังจากการที่จะเข้าเรียนแพทย์ เพราะฐานะด้านการเงินไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ไม่เคยย่อท้อต่อการเรียน จึงได้เบนเข็มชีวิตมาสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย หลักสูตร “โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก” ตามคำแนะนำและชักชวนของเพื่อนๆ ในสมัยนั้น อาชีพทหารดูจะเป็นที่สนใจของเด็กหนุ่มทั้งหลาย ด้วยสำนึกในความเป็นลูกผู้ชาย ประการหนึ่ง และด้วยความสง่างามของเครื่องแบบอีกประการหนึ่ง แต่สำหรับเด็กหนุ่ม “เปรม” จากตระกูล “ติณสูลานนท์” กลับรักอาชีพแพทย์ ด้วยมีความหวังว่าจะนำความรู้ที่เรียนมากลับไปช่วยผู้เจ็บป่วยต่อไป

 

“จากการที่ผมได้เห็นนักโทษมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย (บิดาเป็น พัศดีเรือนจำ) และจากการที่ผมหรือพี่น้องล้มเจ็บ หาหมอรักษาได้ยาก นักโทษที่ได้รับการอบรมในทางรักษาพยาบาลก็มาช่วยดูให้ จะเป็นเพราะอะไรก็ไม่รู้ ผมจึงใฝ่ฝันอยากเป็นหมอมาตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก เพื่อจะได้ช่วยรักษาคนที่ป่วยไข้ ได้รับความทุกข์ทรมาน เมื่อมีใครมาถามผมสมัยเด็กว่า โตขึ้นผมจะเป็นอะไร ผมจะตอบว่า จะเป็นหมอรักษาคนไข้ ผมจึงตั้งใจจะเรียนแพทย์” และอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ต้องการเรียนแพทย์คือ อารมณ์สะเทือนใจที่เกาะกินใจ อันเกิดจากการสูญเสียคุณแม่ออด หลังจากเจ็บหนัก เมื่อแม่เจ็บหนักและจากไป ความใฝ่ฝันที่จะเป็นหมอในสมัยเด็กได้ผุดขึ้นในสมองอีก แต่ผมทำไม่ได้เสียแล้ว สติปัญญาผมอาจจะเรียนได้ แต่ไม่มีเงินที่จะเรียน สมันนั้นการเรียนหมอแพงเหลือเกิน ฐานะเรายากจนลงไม่มีเงิน ก็เลยไปเข้า “โรงเรียนนายร้อย” ตามคำแนะนำของเพื่อน”

 

ในที่สุดก็สามารถผ่านการสอบคัดเลือกเข้ารับการศึกษาได้ใน “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” หลักสูตร “โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก” โดยเริ่มเข้ารับการศึกษา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2481 บิดาของพลเอกเปรม ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะเห็นแก่ความก้าวหน้าในชีวิต ต้องยอมขายทรัพย์สินเพื่อแลกกับโอกาสที่ดีในชีวิตของลูกชาย พลเอกเปรมจึงต้องจากสงขลา ขึ้นรถไฟจากสถานีหาดใหญ่ไปพร้อมพี่ชุบ (พี่ชายคนโต) ท่านสามารถเข้าเรียน ม.7 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่การใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ไม่ได้สวยหรูนัก ชีวิตที่กรุงเทพฯ ของท่านค่อนข้างลำบาก พ่อส่งเงินมาให้ใช้เดือนละ 10 บาทเท่านั้น

นักเรียนนายร้อยเปรม ติณสูลานนท์ ความใฝ่ฝันของท่านคืออยากเป็นหมอ แต่การเรียนแพทย์ต้องใช้เงินเยอะ เพื่อนจึงแนะนำให้เข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (สมัยนั้นเรียกว่าโรงเรียนเท็กนิคทหารบก) ขณะที่ท่านอายุเพียง 21 ปี เกิดสงครามอินโดจีน (พ.ศ.2484) ท่านได้รับคำสั่งให้เดินทางเข้าปอยเปต ถือเป็นแนวหน้าด้านการรบ ได้รับการติดดาวและรับกระบี่กลางสนามรบ  ชีวิตนายทหาร หลังจากนั้นท่านได้รับการติดยศเป็น ร้อยตรีเปรม ติณสูลนนท์ รบอยู่นาน 4 ปี หลังจากนั้นท่านได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จจนท่านก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในเหล่าทหารม้าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ด้วยวัย 48 ปี

 

หลังพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เริ่มรับราชการทหาร จนถึงตำแหน่งสูงสุดคือผู้บัญชาการทหารบก ก้าวสู่ชีวิตทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน ได้ฝ่าฟันมรสุมทางการเมืองและต่อสู้กับความยากจนในชนบท ท่านกลายเป็นบุคคลของแผ่นดิน วันที่ 23 สิงหาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ประกาศยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษของคนทั่วประเทศ

 

แหล่งอ้างอิง : www.welovemyking.com และ www.reportdays.com

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด