TOP

กทม. จัดให้ชาวกรุงเทพฯ รับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฟรี!

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนของทุกปี ประชาชนคนไทยรวมถึงชาวกรุงเทพฯ ต่างมีข้อกังวลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และโรคไข้เลือดออก ที่มักมีการระบาดในช่วงหน้าฝนอยู่เสมอ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มีวิธีการแพร่เชื้อเหมือนกับโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อีกด้วยนั้น ทำให้ข้อกังวลมาพร้อมคำถามจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไว้อย่างไรบ้าง ในเรื่องดังกล่าว นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการปฏิบัติงานและการเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

 

คนไทยหลายคนยังเข้าใจว่า ‘ไข้หวัดใหญ่หายเองได้’

ข้อเท็จจริงของโรคนี้เป็นอย่างไร?

“ในความเป็นจริงต้องสร้างความรู้ และความเข้าใจในการรักษาที่ถูกต้อง โดยช่วงหน้าฝนจะเป็นช่วงที่มีการแพร่กระจายเชื้อโรคจำนวนมาก ซึ่งอาการของไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่มีความรุนแรงนำไปสู่การเสียชีวิต หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไข้สูงให้รีบพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้รักษาได้อย่างถูกต้องและลดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยในประเทศไทยพบว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์บี มากกว่าสายพันธุ์เอ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มีความชื้นมากนั่นเอง”

 

กทม. เตรียมความพร้อมทั้งระบบเฝ้าระวัง!!

และควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออกไว้อย่างไร

“สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ทางสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการฉีดวัคซีน (ได้รับการจัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่นี้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.) เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนจนถึง 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมไปถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร) “ส่วนโรคไข้เลือดออก ทางสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการจัดการพาหะนำโรคไข้เลือดออกแบบผสมผสาน (IVM) เพื่อให้ทุกชุมชนมีการใช้ศักยภาพต่างๆ ของชุมชนในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน ได้วางมาตรการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานประกอบการ และสถานที่ราชการ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างยั่งยืน”

 

ชาวกรุงเทพฯ สามารถไปรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฟรี! ได้ที่ไหน

“สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงข้างต้นหรือประชาชนทั่วไป รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่

  • ศูนยบริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 68 แห่ง / คลิกดูรายชื่อโรงพยาบาล http://phn.bangkok.go.th/
  • รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัด กทม. / คลิกดูรายชื่อโรงพยาบาล http://www.bangkok.go.th/
  • และโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ / คลิกดูรายชื่อโรงพยาบาล http://dashboard.anamai.moph.go.th/
  • หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ สายด่วน สปสช. พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ที่ เบอร์ 1330

 

สำนักอนามัยผนึกกำลังสำนักการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพแผนการเฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก

สำนักการแพทย์ กทม. ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อจัดแยกประเภทกลุ่มโรคตามอาการ เตรียมความพร้อมระบบในการเฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ ด้วยการตรวจค้นพบโรค และวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ตามแนวทางการวินิจฉัย และรักษาโรคของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เพื่อลดความรุนแรงในการเจ็บป่วยของโรคที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ขณะเดียวกัน สำนักอนามัย กทม. ก็ได้เร่งให้ความรู้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่มารับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาล เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกต้อง เป็นการป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก รวมถึงโรคที่มากับฤดูฝน อาทิ การหลีกเลี่ยงไม่ไปในสถานที่แออัด ดูแลสุขอนามัย ความสะอาดภายในบ้านเรือน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนของยุง จัดการเก็บขยะ สำรวจภาชนะต่างๆ ไม่ให้มีน้ำขัง รวมไปถึงชุมชนรอบพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ “นอกจากนี้ อยากแนะนำให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการดูแลตัวเองในเบื้องต้น ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่มีวิธีการแพร่เชื้อเหมือนกับโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างเห็นผลชัดเจน”

 

เช็คเลย! อาการป่วย ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และ COVID-19

(มีไข้เหมือนกันแต่อาการต่างกัน)

 

*************

เรื่องโดย : อโนชา ทองชัย

เครดิตภาพ : BANGKOK NEWS (กทม.สาร) issue 270

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด