TOP

กทม. เปิดแผนแก้ปัญหาระดับเส้นเลือดฝอย ผ่านแพลตฟอร์ม “ทราฟฟี่ฟองดูว์ TRAFFY FONDUE”

เพราะปัญหาใกล้ตัวของคนกรุงเทพฯ ถือเป็นปัญหาระดับเส้นเลือดฝอยที่ดูเหมือนว่าเล็ก ๆ แต่สำคัญกับคุณภาพชีวิต และเป็นปัญหาที่ประชาชนเจอบ่อย ๆ เช่น ทางเท้าไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ขยะไม่มีคนเก็บ ท่อระบายน้ำอุดตัน ฯลฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชวนชาวกรุงเทพฯ ร่วมกันเป็นหูเป็นตา รายงานปัญหารอบตัวที่พบเจอในกรุงเทพฯ เพื่อนำไปสู่การส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

“วิธีการแก้ปัญหาในระดับเส้นเลือดฝอยที่ได้ผลวิธีหนึ่ง คือการใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยแจ้งปัญหาที่พบ แล้วภาครัฐนำข้อมูลนั้นไปใช้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ผ่านแพลตฟอร์มที่ได้มีการนำไปใช้หลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งได้ผลดีและทางกลุ่มเพื่อนชัชชาติได้นำมาใช้กว่า 2 ปีแล้ว คือ แพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)” 

ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำและพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ และมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมืองอย่างครบวงจร

 

7 ขั้นตอนแจ้งปัญหาผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ 

เปิดแอปพลิเคชันไลน์ เพิ่มเพื่อน @chadchartofficial (เพื่อนชัชชาติ) กดเมนู => รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย ระบบจะให้เพิ่มเพื่อน @traffyfondue (TraffyFondue ฟองดูว์) *หรือคลิก https://landing.traffy.in.th?key=teamchadchart จากนั้นดำเนินการ 7 ขั้นตอน…

  1. พิมพ์รายละเอียดของปัญหา หรือเรื่องที่ต้องการแจ้ง
  2. ส่งภาพประกอบ โดยต้องเป็นภาพที่ถ่ายเองและเป็นภาพปัจจุบัน
  3. เลือกประเภทของเรื่องที่แจ้ง อาทิ ทางเท้า ถนน ความสะอาด ไฟฟ้า ประปา น้ำท่วม เสียง กลิ่น ต้นไม้ เผาในที่โล่ง เสนอแนะ และอื่น ๆ
  4. ส่งตำแหน่งจุดที่เกิดเหตุ โดยเลือกตำแหน่งที่ตั้งในแผนที่ 
  5. กดแจ้งเรื่องไปที่ เพื่อนชัชชาติ
  6. รับการแจ้งเตือนเมื่อมีความก้าวหน้า โดยเมื่อแจ้งเรื่องเรียบร้อยแล้ว เรื่องจะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หน้าจอโทรศัพท์จะขึ้นว่าอยู่ในขั้นตอน “รอรับเรื่อง” เมื่อรับเรื่องแล้วสถานะจะอยู่ในขั้นตอน “กำลังดำเนินการ” และเมื่อหน่วยงานดำเนินการเรียบร้อยแล้ว สถานะจะขึ้นว่า “เสร็จสิ้น”
  7. หากผู้แจ้งไม่เห็นด้วยกับการปิดเรื่อง สามารถใช้ปุ่มเปิดเรื่องใหม่ (re-open) ได้

 

อบรมแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์

แก่พนักงานรักษาความสะอาดและพนักงานกวาดถนนของ กทม.

กทม. ต่อยอดนโยบาย “รายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม. ผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)” จัดประชุมอบรมการใช้แพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะที่กำกับดูแลพนักงานกวาดถนนจาก 50 สำนักงานเขต เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่พนักงานกวาดและเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความสะอาดของสำนักงานเขต เพราะทำงานในพื้นที่และใกล้ชิดกับประชาชน สามารถช่วยเป็นหูเป็นตาในเรื่องต่าง ๆ ได้ ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ มีตาอีกหลายหมื่นคู่มาช่วยสอดส่องดูแลและแจ้งปัญหาเส้นเลือดฝอย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป

 

กทม. จับมือ สวทช. ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุง

กว่าสองเดือนที่ผ่านมา กทม. ได้ใช้แพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์อย่างเป็นทางการ โดยถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการให้บริการของหน่วยงาน ทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น ประชาชนมีความสุขมากขึ้น พร้อมกันนี้ กทม. ได้หารือถึงความร่วมมือต่อไปในอนาคต เพราะเชื่อว่า สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์สังคม

ในหลาย ๆ เรื่อง สวทช. ได้ทำการศึกษามานานแล้ว และกำลังต่อยอด เช่น Traffy Fondue อาจจะต่อยอดไป Traffy Garbage เพื่อจัดการขยะ และขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมไปถึงการเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ ทั้งรถโดยสารประจำทาง เรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ตารางการบินของสายการบินต่าง ๆ ถ้าสามารถเชื่อมต่อไปได้ ก็สามารถพัฒนาสู่การเดินทางในกรุงเทพฯ ได้ว่า หากเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ควรจะใช้เวลาเท่าไหร่ การบริหารจัดการเวลาดีขึ้น เพราะสามารถคำนวณเวลาล่วงหน้าได้ รวมถึงป้ายรถโดยสารประจำทางที่สามารถบอกได้ว่ารถโดยสารคันต่อไปจะมาเมื่อไหร่ และรถคันสุดท้ายไปหรือยัง ซึ่งจะดีต่อคุณภาพชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย 

“ในอนาคตทราฟฟี่ฟองดูว์จะมีการรับเรื่องร้องเรียนด้านความไม่โปร่งใสเพิ่มเข้าไป ซึ่งจะแยกออกไปต่างหาก โดยเรื่องความเดือดร้อนปกติทั่วไปประชาชนสามารถแจ้งมาได้ หากมีเรื่องการทุจริต ไม่โปร่งใส หรือมีการเรียกรับค่าใช้จ่าย ก็แจ้งมาได้เช่นกัน แต่ต้องปกปิดข้อมูลผู้แจ้ง นี่ก็จะเป็นอีกช่องทางที่ประชาชนจะสามารถแจ้งได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ใช้แพลตฟอร์มนี้อยู่ทั้งหมด 1,855 หน่วยงาน ดังนั้น แพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาของ กทม. ได้ในอนาคต

“หัวใจของเมืองคือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้และให้เทคโนโลยีตอบโจทย์คน โดยเน้นคนเป็นหลัก เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนเมืองได้ เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่แพง แต่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ขนาดใหญ่ได้”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

————————————————————-

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BKK NEWS (กทม.สาร)

ที่มา: BKK NEWS (กทม.สาร) ฉบับ 283 (5/2565)

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด