TOP

ปรับภูมิทัศน์ใหม่คลองรอบกรุง ‘คลองโอ่งอ่าง – เยาวราช – ตลาดน้อย’ ให้เป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

จากที่เคยแออัดไปด้วยร้านค้าย่านสะพานเหล็ก จนมองเห็นแต่หลังคาและน้ำเน่าเสีย ปัจจุบันคลองรอบกรุงช่วง คลองโอ่งอ่าง และ สะพานเหล็ก ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ เป็นสถานที่โล่งกว้างสบายตาสร้างความรู้สึกผ่อนคลายเมื่อมาเยือน

 

หลังจาก กทม. ปรับภูมิทัศน์ย่านคลองโอ่งอ่างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และเดินหน้าทำตามแผนอย่างจริงจัง พร้อมตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมย่านคลองโอ่งอ่าง เยาวราช และตลาดน้อย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเมืองและย่านต่างๆ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา และร่วมรับผิดชอบ หวังให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน

จากทุนวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเดินลัดเลาะชมความงามของสองฝั่งคลองโอ่งอ่าง ที่เป็นโฉมใหม่ของย่านสะพานเหล็ก นอกจากภูมิทัศน์ที่เหมาะแก่การสัญจรแล้ว ยังเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางย่านค้าขายสำคัญอย่างเยาวราช แหล่งอาหารอันโอชะ ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักดี และยังเชื่อมโยงต่อไปยังพื้นที่วัฒนธรรมใกล้เคียงกับเยาวราช อย่างย่านตลาดน้อย ให้ได้ย้อนรอยแลนด์มาร์กความรุ่งเรืองในอดีต ชมวิถีความเป็นอยู่ และสิ่งปลูกสร้างอายุนับร้อยปี ที่ยังคงความงดงามแห่งสถาปัตยกรรม

เล็งจัดถนนคนเดิน จากริมคลองโอ่งอ่างเชื่อมไปเยาวราช

จากการประชุมคณะกรรมการฯ นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเร่งส่งเสริมการจัดงานถนนคนเดินริมคลองโอ่งอ่าง ช่วงสะพานหัน – สะพานภานุพันธ์ – สะพานดำรงสถิต ครอบคลุมพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร เชื่อมโยง 5 ย่านการค้า ระยะทางรวม 750 เมตร ให้สอดรับกับการเปิดสะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ก ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบล้อราง เรืออีกทั้งยังสอดคล้องกับการจัดถนนคนเดินในถนนหลัก

ทั้งถนนเยาวราช ถนนสีลม และถนนข้าวสาร จึงมีแผนต่อยอดการจัดถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง เชื่อมต่อถนนคนเดินเยาวราช ซึ่งจะศึกษาในรายละเอียดต่อไปนอกจากนี้ เครือข่ายขนส่งมวลชนทั้งทางล้อ ราง เรือ ที่สะดวกสบายเอื้อต่อการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ และการปรับภูมิทัศน์ให้ปลอดภัย และเป็นระเบียบเรียบร้อย เอื้อให้เกิดการเดินเท้า จากการวางผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสมกับบริบทสอดคล้อง กับความต้องการของประชาชน ที่ กทม.ให้ความสำคัญ รวมทั้งวางแผนทบทวนรูปแบบ และสร้างมาตรฐานหาบเร่แผงลอยในเขตกรุงเทพฯ เพื่อคงเอกลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งอาหารริมทาง และสร้างอาชีพให้คนกรุงเทพฯ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวรองรับการค้า การท่องเที่ยว และความอยู่ดีกินดีของคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

 

ที่มา: กรุงเทพมหานคร / BKK NEWS Issue 268

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด