TOP

รูดม่านปิดฉากตำนาน อันยืนยาวมากว่าครึ่งศตวรรษ ของ “ราชาโรงหนังแห่งสยาม…สกาลา”

เรื่องราวของสกาลา โรงภาพยนตร์อันโอ่อ่า ที่เคยเป็น “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” จากสถานที่ที่เคยเปรียบเสมือนสโมสรอันหรูหรา ให้ผู้คนได้นัดกันแต่งตัวสวยงามเพื่อมาดูหนัง ได้แปรสภาพเป็นดั่งวิหารทางภาพยนตร์อันเก่าแก่ ที่แทบจะคงรูปแบบดั้งเดิมนับแต่วันแรกฉาย ก่อนที่จะต้องปิดฉากบทสุดท้าย ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 

 

ท่ามกลางวิบากกรรมที่ธุรกิจภาพยนตร์ทั่วประเทศต้องเผชิญ จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หนึ่งในข่าวร้ายที่ทำให้แฟนหนังในเมืองไทย ต่างพากันใจหายมากที่สุด คือข่าวการยุติการฉายภาพยนตร์ของโรงภาพยนตร์สกาลา ที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน จนสร้างความแตกตื่นให้ผู้คนในโลกออนไลน์ ราวกับเกิดโศกนาฏกรรมย่อยๆ

โรงภาพยนตร์สกาลา เปิดทำการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 โดย คุณพิสิฐ ตันสัจจา “Showman” คนสำคัญของเมืองไทย ผู้ประสบความสำเร็จจากการบริหารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย จนได้รับการชักชวนให้มาช่วยพัฒนาที่ดินบริเวณสี่แยกปทุมวัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นี่ คุณพิสิฐได้ลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยขึ้นมา เริ่มจาก “สยาม” ในปี 2509 และ “ลิโด” ปี 2511 ก่อนจะมาถึง “สกาลา” ซึ่งเป็นโรงสุดท้าย แต่เป็นโรงที่เขาตั้งใจจะเนรมิตให้สวยงามที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ สถาปัตยกรรมอันวิจิตรบรรจง จึงกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสกาลาเสมอมา ตัวโรงนั้นประกอบขึ้นจากการออกแบบในสไตล์อาร์ตเดโค ของ พันเอก จิระ ศิลป์กนก สถาปนิกชื่อดัง มองไปด้านในจะเห็นบันไดขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อ “Scala” ที่แปลว่า “บันได” ในภาษาอิตาลี ยืนสง่าต้อนรับคู่กับโคมไฟระย้าทรงหยดน้ำค้างแข็งขนาดยักษ์ และพาให้เดินขึ้นไปสู่โถงหน้าโรงภาพยนตร์ ที่ผสมผสานงานศิลปะระหว่างตะวันตกกับตะวันออกไว้ด้วยกัน ทั้งเพดานประดับแฉกลายสีทอง อันกลมกลืนไปกับเสาคอนกรีตโค้งที่ตั้งอยู่เรียงราย โดยมีงานปูนปั้น ที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย รวมตัวกันอยู่บนผนัง งานตกแต่งภายในทั้งหมดของโรงภาพยนตร์นี้ เป็นผลงานของชาวฟิลิปปินส์ 2 คน คือ Mr. Ver Manipol และ Mr. Fred Pedring ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านตกแต่งและปูนปั้น

 

หลังจากที่สกาลา และโรงหนังอีกสองโรงก่อนหน้าของคุณพิสิฐ หรือบริษัทเอเพกซ์ ได้ค่อยๆ นำพาความคึกคักมาสู่พื้นที่ที่เคยเงียบเหงา จนเป็นส่วนสำคัญให้ที่แห่งนี้ เติบโตเป็นทำเลทองทางธุรกิจที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ยุคสมัยอันรุ่งเรืองของโรงหนังขนาดใหญ่แบบโรงเดี่ยว หรือสแตนด์อโลนกลับเริ่มเสื่อมลง แต่สามทหารเสือแห่งย่านสยามสแควร์ยังคงยืนหยัดอยู่รอดมาได้นานกว่าอีกหลายโรงภาพยนตร์ร่วมรุ่น ก่อนที่ในปี 2553 “สยาม” จะถูกไฟผลาญไปในระหว่างวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ทางการเมือง ส่วน “ลิโด” ที่ปรับตัวเป็นโรงหนังมัลติเพล็กซ์ มาตั้งแต่ปี 2537 ก็ได้เปิดโรงฉายรอบสุดท้าย ภายใต้การบริหารของบริษัทเอเพกซ์ ไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ทิ้งให้สกาลาได้ “สแตนด์อโลน” หรือยืนอยู่โดดเดี่ยวอย่างแท้จริง ท่ามกลางโรงหนังและรูปแบบการชมภาพยนตร์ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

 

จากยุคของโรงหนังสแตนด์อโลน สู่มัลติเพล็กซ์ ฟิล์ม สู่ดิจิทัล วิดีโอ สู่สตรีมมิง “สกาลา” ได้ตั้งตระหง่านผ่านมรสุมความเปลี่ยนแปลงหลายลูกในหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งตัวโรงได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเสียเอง ปัจจุบันสถานที่ที่เคยเปรียบเสมือนสโมสรอันหรูหรา ให้ผู้คนได้นัดกันแต่งตัวสวยงามเพื่อมาดูหนัง ได้แปรสภาพเป็นดั่งวิหารทางภาพยนตร์อันเก่าแก่ ที่แทบจะคงรูปแบบดั้งเดิมนับแต่วันแรกฉาย ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ชุดสูทสีเหลืองโดดเด่นของพนักงาน ตั๋วกระดาษแบบเก่า และระบบขายตั๋วที่ไม่ใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงการเปลี่ยนชื่อหนัง ที่ป้ายมาร์คีหน้าโรง

“ความปรกติเก่า” ที่กลายเป็นของแปลกตาสำหรับคนดูหนังรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้ขับให้สกาลา มีสถานะแตกต่างไปจากโรงหนังอื่นๆ ในเมืองไทย นอกจากการเป็นสถานที่จัดเทศกาล หรือฉายภาพยนตร์รอบพิเศษอยู่เสมอ สกาลายังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 หอภาพยนตร์ร่วมกับหน่วยงาน จัดกิจกรรมวันมรดกโสตทัศน์โลก ครั้งที่ 14 ได้นำป้ายจารึกในฐานะสถานที่สำคัญทางมรดกโสตทัศน์ ไปประดับไว้ที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงเปิดทำการ

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความโอ่อ่าที่เคยทำให้สกาลา มีฐานะเป็น “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” กลับเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่นำบริษัทเอเพกซ์ ไปสู่ความสุ่มเสี่ยงทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเลิกกิจการโรงภาพยนตร์ลิโด พวกเขาเหลือเพียงโรงหนังแห่งสุดท้าย ซึ่งมีขนาดกว่า 900 ที่นั่ง ให้จัดโปรแกรมได้เพียง 5-6 รอบต่อวัน สวนทางกับโรงหนังมัลติเพล็กซ์ขนาดเล็กมากมาย ที่สามารถจัดสรรพื้นที่ฉายได้หลายรอบ ในขณะเดียวกัน ยังมีระบบสตรีมมิงที่นับวันยิ่งดึงผู้คนให้ดูหนังอยู่บ้านอย่างสะดวกง่ายดาย และเมื่อโรคระบาดโควิด-19 ย่างกรายเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี ยอดผู้ชมก็ยิ่งลดน้อยลง ซ้ำยังต้องปิดทำการไปกว่า 2 เดือน ทั้งหมดนี้กลายเป็นตัวเร่งให้สกาลา ที่ผ่านร้อนหนาวมายาวนาน ต้องถึงคราวเกษียณตัวเองออกจากการเป็นโรงภาพยนตร์ถาวร

ภายหลังจากรัฐอนุญาตให้โรงภาพยนตร์ต่างๆ กลับมาเปิดทำการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พร้อมด้วยมาตรการหลักคือ ห้ามมีจำนวนผู้ชมเกิน 200 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนที่นั่งในสกาลา หอภาพยนตร์ในฐานะหน่วยงานที่เช่าพื้นที่จัดกิจกรรมฉายหนังคลาสสิก ทึ่ง! หนังโลก ยาวต่อเนื่องไปจนสิ้นปี ก็ได้รับแจ้งจากผู้บริหารของโรงภาพยนตร์ว่า จำต้องตัดสินใจยุติบทบาทลง เพราะไม่สามารถแบกภาวะขาดทุน ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ท่ามกลาง “ความปรกติใหม่” ที่เกิดจากพิษภัยของโรคระบาดครั้งนี้ได้ เดิมทีนั้น สกาลามีสัญญาเช่าพื้นที่จนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งโรงภาพยนตร์ต้องไปเจรจาหาทางออกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่หอภาพยนตร์ก็ต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรม ทึ่ง! หนังโลก ที่วางแผนฉายที่นี่ ไปจนถึงเดือนธันวาคม กลายเป็นโปรแกรม “La Scala ลา สกาลา” โปรแกรมอำลาสถานะความเป็นโรงภาพยนตร์ของสกาลาแทน

 

ภาพยนตร์ในโปรแกรมที่จัดขึ้น อย่างที่ผู้จัดและผู้ชมแทบไม่ทันตั้งตัวนี้ ประกอบไปด้วย Blow-Up ผลงานชนะเลิศเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2510 ของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี ที่เคยจัดอยู่ในโปรแกรมทึ่ง! หนังโลกเดือนพฤษภาคม ก่อนจะถูกงดฉายไป และ Cinema Paradiso หนังแห่งการเฉลิมฉลองความเป็นโรงภาพยนตร์เรื่องดังจากอิตาลี ซึ่งเดิมวางแผนเป็นโปรแกรมปิดท้าย ทึ่ง! หนังโลก ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับโรงหนังสแตนด์อโลนในเมืองไทย 2 เรื่อง คือ นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination สารคดีเชิงทดลองปี 2560 ของผู้กำกับ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ที่ถ่ายทอดชีวิตของพนักงานฉายประจำธนบุรีรามา หลังจากโรงหนังแห่งนี้ต้องปิดตัวลง และ The Scala สารคดีบอกเล่าเบื้องหลังคนทำงานในโรงภาพยนตร์สกาลา กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอเชีย โดยเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เมื่อปี 2559

“La Scala ลา สกาลา” จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 4 และอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2563 โปรแกรมพิเศษนี้ ถือเป็นภารกิจการฉายหนังครั้งสุดท้ายของโรงภาพยนตร์สกาลา ในนามของบริษัทเอเพกซ์ ผู้ก่อตั้ง เพื่อรูดม่านปิดฉากตำนานอันยืนยาวมากว่าครึ่งศตวรรษ เหลือไว้แต่เพียงภาพความสวยสง่า และบรรยากาศที่แสนมีเสน่ห์ ขะยังคงสว่างไสวอยู่ในความทรงจำร่วมของผู้คนหลายต่อหลายรุ่น แม้แสงแห่งเครื่องฉายกำลังจะดับลงไปแล้วก็ตาม

 

โดยหอภาพยนตร์ได้คัดสรรภาพยนตร์ 4 เรื่อง มาฉายในโปรแกรมอำลา 

 

Blow-Up

ปี 1966 / ความยาว 111 นาที / กำกับโดย Michelangelo Antonioni

นำแสดงโดย Vanessa Redgrave, Sarah Miles, David Hemmings

สร้างโดย MGM, Premier Productions, Carlo Ponti Productions, Bridge Films

หนังระทึกขวัญคลาสสิก ผลงานพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรก ของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี (Michelangelo Antonioni) และเป็นหนังชนะเลิศรางวัลกรังปรีซ์ ปี 1967 จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส รางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2510 เล่าเรื่องของโทมัส ช่างภาพแฟชั่น ที่เชื่อว่าตัวเองได้ถ่ายภาพเหตุฆาตกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ จากการพบหลักฐานบนรูปถ่าย ที่เขาถ่ายไว้ในสวนสาธารณะ Blow-Up เป็นหนังที่ว่าด้วยพลังของภาพถ่าย และมิติของการมองเห็น บนฉากหลังของสีสัน และวัฒนธรรมใต้ดินของลอนดอนในช่วงทศวรรษที่ 1960

-||-

 

The Scala

ปี 2015 / ความยาว 52 นาที / กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์

สร้างโดย KBS Busan Headquarters, Busan International Film Festival, Pop Pictures

สารคดีว่าด้วยความรุ่งเรืองและร่วงโรย ของการอุทิศตัวของคนทำงานในโรงหนังสกาลา ที่เปิดโรง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 มีความจุหนึ่งพันที่นั่ง และทุกคืนจะมีผู้ชมเต็มโรง ในสมัยนั้น การออกไปชมภาพยนตร์เป็นสิ่งวิเศษ โรงภาพยนตร์เป็นสถานที่ที่ผู้คนจะแต่งตัวดี นัดเที่ยวกับแฟนและตกหลุมรัก แต่ปัจจุบันทุกอย่างได้เปลี่ยนไป โรงภาพยนตร์แบบซีเนเพล็กซ์ มีอยู่ในแทบทุกห้างสรรพสินค้า คนรุ่นใหม่ดูภาพยนตร์ผ่านจอโทรศัพท์มือถือ แต่ที่โรงภาพยนตร์สกาลา ยังคงดำเนินงานด้วยพนักงานคนเดิม ที่เริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่เริ่มกิจการ ปัจจุบันสกาลาเป็นโรงภาพยนตร์แบบแสตนด์อะโลน โรงเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ และในไม่ช้า โรงภาพยนตร์แห่งนี้กำลังเลิกกิจการเช่นกัน

 

สารคดีเรื่อง THE SCALA เป็นส่วนหนึ่งในชุดสารคดี ที่อำนวยการสร้างโดย สถานีโทรทัศน์ KBS สาขาใหญ่ปูซาน และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ภายใต้ชื่อ “Power of Asian Cinema” ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษ ที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ที่เฟื่องฟู ของภาพยนตร์เอเชีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เมื่อปี 2559 ผลงานของผู้กำกับ อาทิตย์ อัสสรัตน์

-||-

 

นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination

ปี 2017 / ความยาว 68 นาที / กำกับโดย วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

สร้างโดย Eyedropper Fill

ต่อด้วย นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination สารคดีเชิงทดลองปี 2560 ความยาว 68 นาที ของผู้กำกับ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย สร้างโดย Eyedropper Fill และได้รับรางวัลชมเชยพิเศษ จากการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (CPH:DOX) สาย Next:Wave รวมทั้งยังเดินสายฉายตามเทศกาลต่างๆ มาแล้วทั่วเอเชีย ถ่ายทอดชีวิตของพนักงานฉายหนังของโรงหนังที่ต้องปิดตัว และถูกทุบทำลายลง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรามีโรงหนังแบบแสตนด์อะโลน จำนวน 140 กว่าแห่งทั่วกรุงเทพฯ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเข้ามาของระบบฉายแบบดิจิทัล ทำให้โรงหนังแสตนด์อะโลนถึงยุคสิ้นสุด และสูญหายไปตามกาลเวลา

 

ฤทธิ์ คือ คนฉายหนังคนสุดท้าย หลังจากโรงหนังปิดตัวลง ทักษะอาชีพตลอด 25 ปี ก็กลายเป็นทักษะที่ไร้ค่า ฤทธิ์ไม่สามารถเริ่มต้นอาชีพใหม่ได้ เนื่องจากไม่มีความสามารถอื่นนอกจากการฉายหนัง ทำให้เขาจำเป็นต้องอาศัยต่อในโรงหนังร้าง ทำหน้าที่เฝ้าดูแลอาคารและรักษาสถานที่ ในแต่ละวัน ฤทธิ์ไม่มีหน้าที่ใดต้องทำ เขาเลยมักหลีกหนีความทุกข์ด้วยการดื่มเหล้า และอ่านหนังสือธรรมะ จนบางครั้งสิ่งที่เขาพูด เป็นการผสมกันระหว่างความจริงกับการตีความของเขาเอง เวลาดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และฤทธิ์รู้สึกหมดหวังที่จะใช้ชีวิตต่อ เขาจึงตัดสินใจกลับไปอยู่กับลูกเมียที่ทำอาชีพกรีดยาง และเพื่อหาอาชีพใหม่ แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าไม่มีอาชีพใด ที่สามารถให้ความหวังในการดำรงชีวิตต่อได้

-||-

 

Cinema Paradiso

ปี 1989 / ความยาว 123 นาที / กำกับโดย Giuseppe Tornatore

นำแสดงโดย Salvatore Cascio, Philippe Noiret, Jacques Perrin

สร้างโดย Cristaldifilm, Les Films Ariane, Rai 3, TF1 Films Production, Forum Picture

ปิดฉากด้วยภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย Cinema Paradiso ภาพยนตร์อิตาลี ที่ครองใจผู้ชมมาแล้วทั่วโลก เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ผลงานของ จูเซปเป ทอร์นาทอเร ว่าด้วยเรื่องราวของโตโต้ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด เพื่อร่วมงานศพของ อัลเฟรโด คนฉายหนังประจำโรงภาพยนตร์ท้องถิ่น ผู้ซึ่งเปรียบเป็นดั่งครูผู้สอนให้เขารู้จักการใช้ชีวิต และทำให้เขาหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก หนังอิตาเลียนเรื่องดังนี้ เฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ และเสน่ห์ตรึงตาของโรงภาพยนตร์ ที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมมาแล้วทั่วโลก เป็นดั่งบทส่งท้ายให้แก่สกาลา ในฐานะสรวงสวรรค์ของคนรักหนัง

 

***************************
เรื่องโดย : พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 58 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563
ภาพ : หอภาพยนตร์ และ เพจเฟซบุ๊ก Apex Scala
ที่มา : หอภาพยนตร์

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด